svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ศึก "2 บิ๊กสีกากี" กับ 4 ข้อถึงเวลา "ปฏิรูปตำรวจไทย"

21 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นประเด็นร้อนและต้องกลับมาสู่คำถามในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิรูปองค์กรตำรวจ หลังจากเกิดปัญหาภายในระหว่าง 2 บิ๊กสีกากี คือ "บิ๊กต่อ" กับ "บิ๊กโจ๊ก" ก่อนถูกคำสั่งให้ย้ายไปช่วยราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี

การปฏิรูปตำรวจที่ถูกแช่ช่องฟรีซ

หากยังจำกันได้ "การปฏิรูปตำรวจ" มีความพยายามเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องนี้ มาตั้งแต่ช่วงสมัยการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ก่อนจะเกิดการรัฐประหารในสมัย คสช. 

ซึ่งนับเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ส่งถึงรัฐบาลชุดต่อมา หากเข้ามาบริหารประเทศ เพื่อดำเนินการพัฒนาระบบตำรวจให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง และเพื่อปกป้องกระบวนการยุติธรรมไม่ให้เกิดความบิดเบี้ยว แทนที่จะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง 

แต่ปัญหาระหว่าง "บิ๊กต่อ" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ "บิ๊กโจ๊ก" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. แม้ทั้งคู่จะจบลงด้วยการแถลงข่าวสยบรอยร้าว และถูกโยกไปช่วยราชการ

แต่คำถามตามมา คือ ภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. ที่ถูกกัดกร่อนจากนี้จะฟื้นกลับมาอย่างไร 

เมื่อมองถึงความพยายามในการปฏิรูปองค์กรตำรวจ ซึ่งจะเห็นได้จากตั้งแต่การรัฐประหาร คสช. ระหว่างปี 2557 2560 ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแล้วถึง 5 ชุด ประกอบด้วย 

  • คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
  • คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 
  • คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ)
  • คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม
  • คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ  


โดยทุกชุดที่ถูกตั้งขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบแบบแผนพร้อมออกกฎหมายเพื่อให้การปฏิรูปตำรวจเป็นไปตามคำเรียกร้อง

ทว่า สุดท้ายจนแล้วจนรอดทุกก้าวที่ออกเดินกลับมาสู่จุดเริ่มต้นทุกครั้ง ทำให้การปฏิรูปตำรวจกลายเป็นเรื่องที่ถูกฟรีซเอาไว้

เมื่อเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งล่าสุดของ 2 นายตำรวจใหญ่ คำถามถึง "การปฏิรูปตำรวจ" จึงดังขึ้น 

ปฏิรูปได้สำเร็จต้องมี 4 ข้อ

โดย "พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ผ่าน "NationSTORY" ยิ่งเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการปฏิรูปตำรวจนั้น จะสำเร็จได้ต่อเมื่อมี 4 ข้อด้วยกันเป็นองค์ประกอบ คือ

1.คนทำต้องมีอำนาจ
2.ตระหนักถึงปัญหาว่าเป็นระบบโครงสร้างไม่ใช่บุคคล
3.มีความเข้าใจในการปฏิรูป
4.มีความจริงจัง จริงใจ

ทั้งนี้ แม้ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธาน ก.ตร. มีอำนาจจริง แต่คำถามสำคัญ คือ รู้ตระหนักว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือไม่ จะบอกว่าปฏิรูปก็ไม่ชอบ สังคายนาก็แรงไป ซึ่งนายกฯ นั่งมา 6-7 เดือน ทราบหรือยัง แต่มองว่ามีข้อจำกัดความรู้ความเข้าใจ

แก้หัวใจสำคัญถึงจะบรรลุ

อย่างไรก็ตาม หากถามเรื่องนี้กับตำรวจ ก็ยิ่งไม่ต้องการปฏิรูป โดยอ้างเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซง ทว่า หัวใจสำคัญจริงๆ ของเรื่องนี้ คือ ตำรวจต้องเลิกมียศแบบทหาร เพราะยศนั้นเป็นเรื่องของการรบ โดยต้องทำให้เป็นแบบสากลเหมือนต่างประเทศ

ทั้งนี้ โดยเฉพาะงานด้านสอบสวน คนที่ยศต่ำกว่า เมื่อไปสอบคนที่มียศสูงกว่า ก็เกิดความหวาดหวั่น แม้ทางกฎหมายจะไม่ได้บอกว่าสอบไม่ได้ แต่ทางชั้นยศเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

พ.ต.อ.วิรุตม์ มองว่า ควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถตรวจสอบตำรวจในจังหวัด และควรกระจายตำรวจเฉพาะทาง ให้ไปสังกัดในกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งให้อัยการเข้ามามีอำนาจตรวจสอบคดีสำคัญ ตั้งแต่เกิดเหตุ เพื่อไม่ให้องค์กรผิดเพี้ยน
 

 

 

logoline