svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เศรษฐา" แย้มมีโอกาสควง "ทักษิณ" ลงพื้นที่ ยันไม่เคยใส่ใจข้อครหานายกฯ ซ้อน

17 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เศรษฐา" แย้มมีโอกาสควง "ทักษิณ" ลงพื้นที่ ยืนยันไม่เคยใส่ใจข้อครหานายกฯ ซ้อน ลั่น ตัวเองมีอำนาจตัดสินใจเต็มที่ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ชี้ ยังไม่จำเป็นต้องประกาศเชียงใหม่เป็นพื้นที่ฉุกเฉินจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ย้ำงบกลางสนับสนุน-จนท.เพียงพอ

17 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโอกาสการลงพื้นที่ร่วมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีประชาชนมาให้การต้อนรับ และยังเป็นบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยด้วย โดยยอมรับว่า มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ยังไม่มีการนัดหมาย พร้อมเห็นว่า นายทักษิณ เป็นผู้ก่อตั้งพรรคเพื่อไทย และยังเป็นจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย และยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความนิยมสูง หากไม่ดึงประโยชน์ ประเทศก็จะไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง
ส่วนกังวลจะเกิดภาพนายกรัฐมนตรีทับซ้อนกันหรือไม่นั้น นายเศรษฐา ยืนยันว่า ไม่เคยคิด และไม่เคยมีประเด็นดังกล่าว และรับทราบดีว่า อดีตนายกรัฐมนตรีหลาย ๆ คน มีความนิยมชมชอบสูง และตนเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองใด ก็มีความหวังดีกับประเทศชาติ แม้จะมีแนวความคิด หรือนโยบายที่แตกต่างกันไป แต่ขณะนี้ ตนเองเป็นนายรัฐมนตรี ก็จะต้องบริหารความคาดหวังของประชาชนทุกคน และอดีตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งตนก็เชื่อว่า มีความหวังดี หากมีความเป็นไปได้ในข้อแนะนำ ก็จะต้องมาบริหารจัดการราชการ และความเหมาะสม ดังนั้น จึงไม่ได้คิดใด ๆ และยินดีรับฟังเสมอ พร้อมยืนยันว่า ตนเองไม่ได้มีแนวคิดที่จะขจัดข้อวิจารณ์ดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะทับซ้อน 4 คน หรือ 5 คน ตนเองก็ไม่ได้ใส่ใจ เพราะไม่ได้เป็นการทุจริต หรือทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และตนเองก็พร้อมที่จะชี้แจงข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว และบริหารราชการแผ่นดินต่อไป ไม่ได้บั่นทอนกำลังใจใด ๆ และไม่ได้รำคาญใจที่จะชี้แจง เพราะหากมีการถามอีกตนก็จะตอบอีก เพราะคือความจริง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง
นายเศรษฐา ยังย้ำถึงอำนาจการตัดสินใจของตนเองว่า "ผมนายเศรษฐา ทวีสิน คือ นายกรัฐมนตรี และมีอำนาจตัดสินใจเต็มที่ ภายในรัฐธรรมนูญราชอาญาจักรไทย"

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงเป้าหมายการตรวจราชการ และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรนอกสถานที่ ที่จังหวัดพะเยาว่า เป็นการประชุมธรรมดา และจะไปพิจารณาถึงความต้องการของพื้นที่ และเป็นความตั้งใจของรัฐบาล ที่อยากจะไปให้ครบทุกภาค และเวียนไปตามจังหวัดต่าง ๆ

ส่วนการลงพื้นที่ของตนเองนั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า จะยังคงลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากนี้ต่อไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ตนเองไม่มีภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ แต่ก็จะลงพื้นที่ภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันเสาร์หน้า (23 มี.ค.) ก็จะลงพื้นที่จังหวัดพิจิตร และในวันอาทิตย์ (24 มี.ค.) จะลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา

นายกฯ คาดปลาย มี.ค.ฝุ่นเชียงใหม่เข้าขั้นสูงสุด ยืนยันทำฝนหลวงทุกวัน เพื่อช่วยบรรเทาฝุ่น
"เศรษฐา" แย้มมีโอกาสควง "ทักษิณ" ลงพื้นที่ ยันไม่เคยใส่ใจข้อครหานายกฯ ซ้อน
นายกฯ เศรษฐา กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่สถานการณ์อาจทวีความรุนแรงขึ้น โดยคาดว่า สถานการณ์จะเริ่มเข้าสู่ช่วงสุดสูงสุด ในช่วงปลายเดือนมีนาคมนี้ แต่รัฐบาลก็ยังคงแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งในครั้งนี้ ก็ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้กับประชาชน และการแก้ไขปัญหา ดูแลทรัพยากรของชาติร่วมกัน ซึ่งจะต้องสามารถลดจุดความร้อน หรือ Hot Spot ที่ได้บริการจัดการไป
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ส่วนกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต้องการให้รัฐบาลเปิดไทม์ไลน์การทำงานรัฐบาลในการทำงานหลังจากนี้จนถึงช่วงเดือนเมษายน รัฐบาล หน่วยงานราชการ มีกำหนดดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินการอย่างเคร่งครัด และรัฐบาลสนับสนุนงบกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งพื้นที่ใดได้รับงบกลางแล้ว จะต้องไม่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นอีก และจะมีการเพิ่มจุดเฝ้าระวังให้มากขึ้น

ส่วนที่นายพิธา ขอให้สนับสนุนบุคลากร และอุปกรณ์ช่วยการดับไฟป่าให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่กว่า 10,000 คนอยู่แล้ว และต้องพยายามบริหารจัดการบุคลากรให้ดีด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงถึงการไม่ประกาศให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ฉุกเฉินจากปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศให้เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีงบกลางให้อยู่แล้ว และงบกลางที่รัฐบาลอนุมัติให้นั้น ก็มีจำนวนมากกว่างบประมาณที่จังหวัดใช้ได้จากการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน

ส่วนมาตรการในการป้องกันปัญหาสุขภาพประชาชนเร่งด่วนจากฝุ่นนั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) ได้แจกหน้ากากป้องกันฝุ่น N95 ให้กับประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว แม้จะเป็นการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของความเข้าใจ และความห่วงใย รวมถึงยังได้มีการดำเนินการทำฝนหลวงแล้วทุกวัน และเฮลิคอปเตอร์หลายหน่วยงานได้ปฏิบัติการสูบน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาฝุ่น โดยมั่นใจว่า จะช่วยลดปัญหาฝุ่นได้ และเจ้าหน้าที่ ก็ยังคงปฏิบัติการต่อเนื่อง

นายกฯ แจงรัฐบาลต้องตัดสินใจแก้ฝุ่นด้วยวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับ ปชช.ที่ต้องทำมาหากิน
"เศรษฐา" แย้มมีโอกาสควง "ทักษิณ" ลงพื้นที่ ยันไม่เคยใส่ใจข้อครหานายกฯ ซ้อน
ส่วนกรณีที่มีคำถามมาเหตุใดจึงไม่ประกาศให้ จังหวัดชียงใหม่ เป็นพื้นที่ฉุกเฉินในขณะที่ค่าฝุ่นสูง นายกรัฐมนตรี บอกว่า ตนได้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว และเกรงว่า หากประกาศเป็นพื้นที่ฉุกเฉินจะส่งผลทางลบมากกว่า เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ จะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจากผลกระทบโควิด-19 เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกันมาจากประเทศต้นทาง หากเข้ามาท่องเที่ยวในเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่ฉุกเฉิน ประกันก็จะไม่คุ้มครองทันที ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ จะเสียนักท่องเที่ยว ที่ตั้งใจมาเที่ยวทั้งระยะสั้น และระยะยาว จึงเป็นห่วงงตรงนี้

ส่วนงบกลางที่รัฐบาลจัดสรรไปที่กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพย์ฯ นั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า พร้อมเบิกจ่ายเมื่อวานนี้ (16 มี.ค.) พร้อมย้ำว่า การจัดสรรงบกลางนี้ เป็นการจัดสรรงบตรงถึงมือพี่อาสาสมัคร ที่อาสาเข้ามาดูแลเฝ้าระวังไฟป่า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสรรงบฯงประมาณ ในลักษณะนี้ เพราะรัฐบาล ต้องการจ้างคนในพื้นที่มาดูแลรักษาพื้นที่ ตามโจทย์ของพื้นที่ และงบประมาณที่ให้ไปมี จำนวนมากกว่างบฉุกเฉินด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำด้วยว่า วิธีบริหารจัดการเรื่องฝุ่นมีหลายวิธี และรัฐบาลพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ แต่รัฐบาลต้องตัดสินใจเลือกทางที่ดี และมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับประชาชนที่ต้องทำมาหากินด้วย

นายกฯ มอบ กต.รวบรวมข้อมูลฟินแลนด์ระงับวีซ่าเก็บเบอร์รี่จาก สอท.ฟินแลนด์ประจำไทย 

นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ตัดสินใจระงับการรับคำร้องขอตรวจลงตรา หรือ วีซ่า กับผู้สมัครที่เป็นแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าทุกคน ที่ยื่นคำร้องขอตรวจลงตราที่สถานทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะครอบคลุมถึงผู้สมัครทั้งจาก ไทย กัมพูชา และเมียนมา หรืออีกนัยหนึ่ง คือจะไม่มีการพิจารณาตรวจลงตราประเภทเชงเก้น ให้แก่คนเก็บเบอร์รี่ป่าที่มาจากไทย กัมพูชา และเมียนมาร์ ในฤดูเก็บเกี่ยวช่วงหน้าร้อนปี 2567 จากกรณีมีข้อกล่าวหาการค้ามนุษย์ว่า ปัญหาดังกล่าว ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ไปรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามตรวจสอบแล้ว เพราะรัฐบาลกำลังเจรจาการของดเว้นวีซ่าเชงเก้นแก่พลเมืองไทยด้วย จึงไม่อยากให้มีผลกระทบต่อการเจรจาผลักดันดังกล่าว ดังนั้น จึงจะต้องรอกระทรวงการต่างประเทศรวบรวมข้อมูลก่อน

อธิบดี กกจ. เผยฟินแลนด์ระงับ วีซ่า คนไทยเก็บเบอร์รี่ "ชั่วคราว" ย้ำไม่นิ่งนอนใจ

"เศรษฐา" แย้มมีโอกาสควง "ทักษิณ" ลงพื้นที่ ยันไม่เคยใส่ใจข้อครหานายกฯ ซ้อน
ด้าน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ตัดสินใจระงับการรับคำร้องขอตรวจลงตราของคนเก็บเบอร์รี่ป่าในไทย โดยใช้บังคับกับผู้สมัครที่เป็นแรงงานเก็บเบอร์รี่ป่าทุกคนที่ยื่นคำร้องขอตรวจลงตราที่สถานทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ ซึ่งครอบคลุมถึงผู้สมัครทั้งจาก ไทย กัมพูชา และเมียนมา (การตรวจลงตราประเภทเชงเก้น) ในฤดูเก็บเกี่ยวช่วงหน้าร้อนปี 2567 นั้น เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้นเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวและครอบคลุมในการเข้าประเทศของคนเก็บเบอร์รี่ป่าในฟินแลนด์ตั้งแต่ฤดูเก็บเกี่ยวปี 2568 เป็นต้นไป ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานมิได้นิ่งนอนใจ มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล และกรมยุโรป เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้

ระยะสั้น

  • ชะลอการจัดส่งแรงงานไปเก็บผลไม้ป่าในสาธารณรัฐฟินแลนด์และสวีเดน จนกว่าจะปรับระเบียบกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับแรงงานไทยที่จะเดินทางไปเก็บผลไม้ป่า รวมถึงนายจ้างต้องยอมรับเงื่อนไขที่กำหนด โดยหากเป็นการเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในรูปแบบนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงาน นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดลูกจ้างจะต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อเป็นการยืนยันเจตนารมย์มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การคุ้มครองและการรักษาสิทธิของแรงงานไทยตลอดจนความโปร่งใสและความเป็นธรรมให้แก่แรงงานไทย

ระยะยาว

  • ปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงานไทยที่ไปเก็บผลป่าที่ราชอาณาจักรสวีเดนและสาธารณรัฐฟินแลนด์ และกำหนดโทษนายจ้าง/ผู้ประสานงานให้ชัดเจน ทั้งต้องหารือระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐฟินแลนด์ เพื่อหาแนวทางในการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานไทยต่างประเทศในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างประเทศ (MOU) หรือถึงแม้ว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานก็ตาม เพื่อให้ทั้งสองประเทศร่วมกันในการแก้ไขปัญหาต่อไป


นายสมชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลฟินแลนด์ โดยคณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงาน และนักวิจัยจาก Pellervo Economic Research (PTT) จะดำเนินการประเมินผลกระทบทางเลือกด้านกฎระเบียบต่างๆ ไปพลางก่อน ในส่วนสถานทูตฟินแลนด์ในกรุงเทพฯ ยังคงรับคำร้องและพิจารณาการตรวจลงตราประเภทอื่น ๆ ตามปกติ

logoline