svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วันชัย" เผย เปิดซักฟอกรัฐบาล ยาก! ถ้ากลุ่ม "สว. สายทหาร" ไม่ขยับ

09 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วันชัย" เผย เปิดซักฟอกรัฐบาล ยาก! ถ้ากลุ่ม "สว. สายทหาร" ไม่ขยับ แจง ขณะนี้มี 3 กลุ่มความคิดเห็น ด้าน "นายกฯ" ไม่ขัดพร้อมชี้แจง ส่วน "วราวุธ" ชี้ เป็นเรื่องดี ระบุ ไม่สามารถตอบแทนได้ว่า ทำไมไม่อภิปราย" รัฐบาลลุงตู่"

9 มกราคม 2567 ที่อาคารรัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณี คณะกรรมาธิการฯ ได้ล่ารายชื่อ สว.1 ใน 3 เพื่อยื่นอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 มองว่า จะสามารถรวบรวม สว.ได้ครบ 84 คนหรือไม่ ว่า เท่าที่ดูบรรยากาศก็ยังไม่ตูมตาม เปรี้ยงปร้าง ยังเกิดความคิดอยู่ใน 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก โอเคพร้อมที่จะเดินเครื่องอภิปรายฯ เป็นแกนนำจาก กมธ.พัฒนาการเมืองและ นายเสรี สุวรรณภานนท์ และคณะได้มีการเชิญชวน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพลเรือน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นกลุ่มอิสระ

กลุ่มที่ 2 ป็นกลุ่มที่มีท่าทีชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่ารัฐบาลเพิ่งจะเริ่มทำงาน 3-4 เดือน งบประมาณยังไม่ได้ใช้ ไม่เห็นว่าจะต้องรีบอภิปรายฯ เรื่องที่ต้องการพูดหรือมีการกล่าวที่ต้องการให้รัฐบาลชี้แจงนั้นบางเรื่องยังไม่ได้ทำ และบางเรื่องก็เป็นของรัฐบาลที่แล้ว รวมทั้งเขาคิดว่า รัฐบาลที่แล้วสว.ไม่เปิดอภิปรายฯ ขืนเปิดอภิปรายฯจะถูกกล่าวหาหรือถูกโจมตีมันจะเสียมากกว่าหรือไม่ เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ก็มีท่าทีค่อนข้างชัดว่า ไม่เห็นด้วย

และกลุ่มที่สาม เท่าที่ดูถือว่า เป็นกลุ่มใหญ่และเป็นกลุ่มกลาง ๆ รอดูสถานการณ์ ยังเก็บตัวเงียบอยู่

“เท่าที่ผมประเมินภาพรวมในขณะนี้ 84 เสียง ณ วันนี้และวันต่อๆไปไม่ง่ายนัก ต้องยอมรับว่า กลุ่มใหญ่ที่คุมเสียง และดูจาก สว.ส่วนใหญ่มาจากทหาร ซึ่งเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ถ้าทหารไม่ขยับ แต่เท่าที่ผมดูท่าที ยังไม่มีท่าทีขยับอะไร ดังนั้นถ้ากลุ่มนี้ไม่ขับเคลื่อน ก็ยาก หากถามว่า กลุ่มสายพลเรือนที่เป็นอิสระก็แตกทางความคิดกระจัดกระจาย ไม่ได้มีพลัง ถึงขนาด 84 เสียงอยู่ในตัว

ฉะนั้นท่าทีที่ปรากฏ จึงเป็นในลักษณะอย่างนี้ และโดยพื้นที่ฐานเท่าที่ผมทำงานการเมืองมา กลุ่มใดที่มีอำนาจกระแสทางการเมืองก็จะไปทางนั้น และบางคนบอกว่า เรากำลังจะหมดหน้าที่อยู่แล้ว เราไม่น่าไปมีท่าทีในการอภิปราย ซึ่งบางคนมองว่า มาตรานี้เป็นเรื่องที่ให้รัฐบาลมาชี้แจงเท่านั้น แต่บางคนบอกว่าท่าทีอย่างนี้ เราจะไปหาเรื่องทำไม เพราะเรากำลังจะกลับบ้านกันอยู่แล้ว” นายวันชัย กล่าว

เมื่อถามว่า นายวันชัย อยู่กลุ่มไหน เจ้าตัว กล่าวว่า ตนอยู่กลางๆ ขอดูท่าที ยังไม่ถึงขนาดว่า เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และขอดูบรรยากาศสักระยะหนึ่ง รวมทั้งในมาตราดังกล่าว เมื่อวาน( 8 ม.ค.) ในระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ มีการถกกันว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ต้องให้คณะรัฐมนตรีชี้แจง แต่ถ้าถึงขนาดมีประเด็น 7-9 เรื่อง เรามองดูว่า ยังไม่มีพลังเพียงพอ เพราะจะต้องเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหาย อย่างกรณีเงินดิจิทัล วอลเล็ต ก็ยังไม่ได้ใช้ และยังไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือไม่ เป็นเรื่องที่กล่าวหากันไป ฉะนั้นเรายังมีความเห็นว่า การอภิปรายควรเป็นประเด็นที่พูดเรื่องนี้แล้วมันใช่

เมื่อถามว่า แสดงว่า การอภิปรายครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ นายวันชัย กล่าวว่า ยังไม่ถึงขนาดนั้นเพราะยังมีเวลา และเท่าที่ดูคณะทำงานเรื่องนี้ เขาก็ไม่ได้เร่งรีบอะไร ยังมีเวลาถึงเดือน มี.ค. ยังทันที่จะเดินงานประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง และไม่รู้ว่าหนึ่งเดือนครึ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ รัฐบาลจะมีสถานการณ์เป็นอย่างไร ถ้าสถานการณ์ของรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ บกพร่อง อย่างจริงจัง ก็อาจจะทำให้คนร่วมลงชื่อมากขึ้นก็ได้ แต่ในสถานการณ์ที่ยังทรงๆอยู่ขณะนี้ มองดูแล้วยังไม่ค่อยง่ายนัก

ผู้สื่อข่าวรายงาน ถึงการเตรียมเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 โดยมี นายเสรี สุวรรณภานนท์ และนายจเด็จ อินสว่าง เป็นแกนนำ

ล่าสุด มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดของญัตติดังกล่าวว่า รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อ 11 ก.ย. 66 และบริหารราชการแผ่นดิน 4 เดือน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญตามนโยบายที่แถลง รวมถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากการแถลงนโยบาย ดังนี้

     1. ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน อาทิ การสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ ที่ยั่งยืนให้ประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจนที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม , สภาพปัญหาการทำนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ชอบด้วยกฎหมายไม่สร้างภาระหนี้ให้ประชาชน , การแก้หนี้นอกระบบ ที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาต้นตอในระดับครัวเรือน , การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมประมง , การสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ

     2. ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน , การทุจริตคอร์รัปชั่นยาเสพติด , การลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ , การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน จะรับมืออย่างไร

     3. ปัญหาด้านพลังงาน อาทิ การจัดการราคา ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มและน้ำมัน ปัญหกลุ่มทุนพลังงานที่มีอิทธิพลต่อการเมืองส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน

     4. ปัญหาการศึกษาและสังคมม อาทิ กาปฏิรูปการศึกษา ผ่านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ , การแก้ปัญหาหนี้สินครู การจัดหลักสูตรการศึกษาให้ประชาชนเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัญหาการดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส

     5. ปัญหาการต่างประเทศและท่องเที่ยว อาทิ ปัญหาจีนเทาที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ , การไม่เลือกข้างความขัดแย้งของรัรฐบาลา , มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

     6. ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญ ความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวที่ต้องอธิบายการดำเนินการ โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ประชาชนและพัฒนาประเทศ

และ 7. ปัญหาการปฏิรูปประเทศ  แนวทางของรัฐบาลต่อการดำเนินการตามแผน

ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาสำคัญ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาโดยทันที เพราะส่งผลต่อการขับเคลื่อน ยกระดับกาารพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงบรรลุเป้าหมายให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้เพิ่ม ซึ่งเป็นรายละเอียดของญัตติที่เตรียมเสนอได้ระบุไว้

สำหรับการลงชื่อของ สว.เพื่อเสนอญัตติดังกล่าวต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้เสียงสนับสนุน 1 ใน 3 ของ สว.ที่มีอยู่ หรือ 84 คนนั้น ล่าสุด เมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (9 ม.ค.) มียอดผู้ลงชื่อแล้ว 55 คน โดยส่วนใหญ่เป็น สว.สายพลเรือนและสายทหาร

ด้าน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แบกความหวังของพี่น้องประชาชน 68 ล้านคน อย่างไรก็มีความหนักใจทุกเรื่อง แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไกของรัฐธรรมนูญ หากฝ่ายนิติบัญญัติ มีคำถามให้ไปชี้แจง ยืนยันรัฐบาลมีความพร้อม หาก สว. จะเปิดอภิปรายทั่วไป

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกวุฒิสภา สามารถสอบถาม และตั้งข้อสังเกตการทำงานของรัฐบาลได้ และคิดว่า เป็นสิ่งที่ดีสามารถเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ชี้แจงข้อสงสัย และเชื่อว่า หลายคำถามที่ สว.จะอภิปราย จะเป็นคำถามที่ประชาชนบางส่วน อาจมีข้อกังขาเช่นกัน ซึ่งจะได้เป็นโอกาสให้กับรัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ได้มีโอกาสได้ชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ให้คลายข้อสงสัย

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดที่ผ่านมาไม่เคยถูก สว. ยื่นอภิปรายเลยนั้น นายวราวุธ ชี้แจงว่า ไม่สามารถตอบแทนได้ แต่ สว. เห็นการทำงานของรัฐบาลแล้ว อาจมีคำถาม ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องพิเศษ และในทางตรงกันข้าม จะเป็นโอกาสที่ดีให้กับรัฐบาล ในการชี้แจงให้กับประชาชนได้รับทราบ

logoline