svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนดู"บัตรทอง"จากยุคเริ่มต้นจนพัฒนากลายเป็น"30 บาทพลัส"

07 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรื่องสุขภาพถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ เพรานอกจากจะสร้างเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้มีคุณภาพที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อคะแนนนิยมในทางการเมืองให้กับผู้ที่ได้ก้าวเข้ามาเป็นรัฐบาล

ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่ถูกกล่าวถึงจนติดหูถึงทุกวันนี้และเป็นที่จดจำ อย่าง "30 บาทรักษาทุกโรค"

นโยบายด้านสุขภาพภายหลังประเทศไทยได้มีนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ที่ชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" ก็ได้ดำเนินนโยบายนี้เช่นเดียวกัน โดยนายกฯ มีกำหนดการเดินทางไปเยือน จ.ร้อยเอ็ด ในวันที่ 7 ม.ค. นี้

ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย แพร่ เพชรบุรี และ นราธิวาส เพื่อคิกออฟนโยบาย "30 บาทพลัส" ซึ่งถูกอัปเกรดจากเดิม คือ 30 บาทรักษาทุกโรค ให้สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาที่ไหนก็ได้

โดยนโยบายนี้นับว่าอยู่ควบคู่ประเทศไทยมายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ รวมแล้ว 6 รัฐบาล แม้จะมีการผลัดเปลี่ยนรัฐบาลมาแล้วหลายยุคหลากสมัย

เมื่อพากลับไปย้อนทบทวนความจำ นโยบายนี้ถูกหยิบขึ้นมาใช้เครื่องมือสำคัญของรัฐบาล "ไทยรักไทย" ที่มี "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ ที่ในขณะนั้นยังมียศ (พ.ต.ท.) ในการหาเสียงเมื่อปี 2544
 

เมื่อย้อนดูความเป็นมาจุดเริ่มของ "บัตรทอง" หรือ "30 บาทรักษาทุกโรค" สู่ "30 บาทพลัส"

ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับอิทธิพลแนวคิดจาก "นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์" ประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 ซึ่งได้เสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขแห่งชาติ เข้าสู่สภาในสมัยรัฐบาล "ชวน หลีกภัย" ทว่า กฎหมายดังกล่าวกลับถูกตีตก

แต่ นพ.สงวน ยังคงเดินหน้าศึกษาต่อ ก่อนจัดทำเป็นสมุดปกเหลือง แล้วเสนอให้กับพรรคการเมืองเวลานั้น คือ "ไทยรักไทย" และเมื่อมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ จึงหยิบเรื่อง 30 รักษาทุกโรค ใช้เป็นยุทธศาสตร์หาเสียงเลือกตั้ง จนกลายเป็นนโยบายที่ได้รับความชื่นชอบจากประชาชน ชนิดเรียกว่า "ถล่มทลาย" 

เมื่อไทยรักไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นรัฐบาลจากอานิสงส์นโยบายนี้ ส่งผลให้ นพ.สงวน กลายเป็นคนแรก ที่ได้รับแต่งตั้งให้นั่งเก้าอี้เลขาธิการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะนโยบายดังกล่าวครอบคลุมการรักษาประชาชนทั้งประเทศ และถูกใจชาว "รากหญ้า" จนไทยรักไทยกลายเป็นพรรคการเมืองได้รับกระแสฟีเวอร์

ทว่า ก็ได้รับเสียงค่อนขอดจากบุคลากรการแพทย์ เนื่องด้วยเป็นการเพิ่มภาระงาน จนหมอต้องลาออกเป็นจำนวนมาก ขณะที่ "ประชาธิปัตย์" ฝ่ายค้านเวลานั้น ได้ขนานนามนโยบายนี้ว่าเป็น "30 บาท ตายทุกโรค" 

ถึงกระนั้นนโยบายดังกล่าว ก็ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง และได้เสียงตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม ส่งผลให้ไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาลสมัยที่ 2 เมื่อปี 2545 และปีเดียวกันจึงเกิด พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

เมื่อภายหลังการยึดอำนาจ 19 ก.ย. 2549 และเวลาต่อมา "นพ.มงคล ณ สงขลา" ซึ่งดำรงตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ขณะนั้น ในรัฐบาล "พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" ได้ทำการยกเลิกการจ่ายค่าธรรมเนียม "30 บาท รักษาทุกโรค" และเปลี่ยนเป็น "บัตรรักษาฟรีทุกโรค"  

กระทั่งต่อมาเมื่อกลับมาสู่โหมดเลือกตั้งตามปกติ ในปี 2550

โดยในรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกฯ เมื่อปี 2553 ได้เข้ามาสานต่อในเรื่องนี้ พร้อมกับยกเลิกบัตรทอง โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ในการยื่นเพื่อขอรับการรักษา

ถัดมาสู่ยุครัฐบาล "นารีขี่ม้าขาว" นำโดย "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกฯ น้องสาวคนเล็กทักษิณ ได้กลับมาปัดฝุ่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอีกครั้งในปี 2555 แต่มาในรูปแบบการจ่ายมีเงื่อนไข โดยเก็บเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับยา และเป็นไปตามความสมัครใจ ยกเว้น 21 กลุ่มไม่ต้องจ่าย อาทิ

  • คนพิการ
  • ผู้มีรายได้น้อย
  • เด็กไม่เกินอายุ 12 ปีบริบูรณ์
  • ผู้มีอายุเกิน 60 ปี
  • ผู้นำชุมชน
  • อสม.
     

โดยเป็นการเดินเครื่องต่อหลังรัฐบาลภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ประกาศยกเลิกจัดเก็บในปี 2549 รวมระยะเวลานานกว่า 5 ปี

จนมาถึงในรัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" อดีตนายกฯ ได้ปรับให้เป็น "บัตรทองพรีเมี่ยม" โดยยกระดับและเพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาล อาทิ

  • ไม่เก็บค่ารักษาภายใน 72 ชม.หรือพ้นวิกฤต
  • ผู้ป่วยมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ หรือย้ายหน่วยได้ทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน
  • ฟอกไตฟรี
  • การเพิ่มวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก
  • ยาต้านไวรัส HIV    

กระทั้งปัจจุบันยุครัฐบาล เศรษฐา จึงกลายมาเป็น "30 บาทรักษาทุกที่" หรือ "30 บาทพลัส"

  • ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่
  • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับสตรี อายุ 11-20 ปี 
  • ใช้รักษาสุขภาพจิต (ขยายพื้นที่ให้บริการ) 
  • แพทย์ปฐมภูมิ ตรวจเลือด รักษา จ่ายยา (ขยายหน่วยบริการ)

ทั้งหมดเป็นสเต็ปของนโยบายในแต่ละยุครัฐบาล เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาฟรีอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงคนทุกกลุ่ม ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอันสมควรได้รับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


   

  

 

logoline