svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จะได้เริ่มไหม! ประชามติแก้"รธน."หลัง"รัฐบาล-ฝ่ายค้าน"สวนปมตั้งคำถาม

26 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จะได้ถามไหม! ประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังฝ่ายการเมืองเห็นต่าง "ภูมิธรรม" ยันไม่ใช่มัดมือชก ขณะที่ "สมชัย" ยก 4 เหตุผลไม่ควรตั้งคำถาม ด้าน "พริษฐ์" มองยัดเงื่อนไขบางประการเสี่ยงทำประชาชนลังเลจนล่ม วอนครม.ทบทวนใหม่

26 ธันวาคม 2566 "นายภูมิธรรม เวชยชัย" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ "นายสมชัย ศรีสุทธิยากร" โพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การออกคำถามประชามติของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่า เป็นคำถามที่มัดมือชก ว่า มัดมือชกตรงไหน ถ้าพูดแบบนี้ ไม่ว่าคำถามเป็นแบบไหนก็จะบอกว่ามัดมือชก

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ รับฟังความเห็นทั้งส่วนที่สนับสนุน และไม่สนับสนุน อย่างทั่วถึงมากที่สุด พยายามกระจายภาค กลุ่มชาติพันธุ์ มุสลิม ชาวนา แรงงาน และมีการเชิญมาทำเนียบฯ โดยมีตัวแทนกลุ่มนักศึกษา และคนพิการ ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่ารับฟังทุกส่วน แต่ถามว่าเป็นเอกฉันท์หรือไม่ ไม่เป็นอยู่แล้ว แต่ก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ และเป็นไปตามที่เคยแถลงนโยบายรัฐบาล

"แต่สิ่งที่สำคัญกว่านี้ คือ การที่เราจัดให้มีประชามติข้อเดียว และให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรก เพราะเราอิงตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่หากจะแก้ทั้งฉบับ ก็ให้ไปถามผู้มีอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญจึงเป็นออกมาเป็นคำถามเดียว" นายภูมิธรรม กล่าว 

อย่างไรก็ตาม สส. สว. ประชาชน และกลุ่มทางสังคมต่างๆ เสียงส่วนใหญ่ คือ ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112 แต่ก็มีบ้างที่เห็นด้วย แต่เอาเสียงส่วนใหญ่ โดยที่เอาข้อความเห็นต่างนำเสนอสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย จึงไม่เห็นว่ามัดมือชกตรงไหน แม้แต่พรรคก้าวไกลที่ไม่ร่วมในคณะกรรมการฯ ก็รับฟังความเห็น โดย"นายนิกร จำนง" ได้ไปคุย และทำแบบสอบถามร่วมกัน ดังนั้น เมื่อผลออกมาแบบนี้เอาเสียงส่วนใหญ่ และไม่ทอดทิ้งเสียงที่เห็นต่าง เพราะต้องการทำให้เป็นประชาธิปไตย ทำให้ผ่าน และทำให้เสร็จ ขณะนี้เสียงที่ดังในโซเชียล คือ นักเคลื่อนไหว แต่เสียงส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกแบบนั้น ต้องถามนายสมชัยว่ามัดมือชก หรือขัดหลักการประชาธิปไตยตรงไหน ซึ่งทำตามกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด

นายภูมิธรรม กล่าวว่า วันนี้ (26ธ.ค.) ไม่อยากเห็นความขัดแย้งใหม่อีกแล้ว ถ้าอยากเห็นความขัดแย้งใหม่ต้องการอะไร ตนคิดว่าทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด รอให้สุกงอม ดำเนินการให้ชัดเจนดีกว่า ถ้าล้มไปแล้วต้องใช้แบบเดิม ถามว่านายสมชัยจะเอาแบบนั้นหรือ ค่อยๆแก้ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามลำดับดีกว่า และคิดว่าอย่าใช้อารมณ์ อย่าเอาความถือข้าง เอาความต้องการตัวเองเป็นหลัก เพราะประชาธิปไตยตนจะเกิดขึ้นยาก และอาจนำไปสู้ความขัดแย้ง ความรุนแรงได้

"เราอยากเห็นอะไรที่ตอบสนองทุกฝ่าย มันจะไปไม่ได้ถ้าเกิดความขัดแย้ง และเป็นไปตามที่เราพูดตลอดเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คงไม่ถึงขั้นยูโธเปียที่ต้องสมบูรณ์ แต่เรารับผิดชอบตัดสินใจบนฐานที่ได้ศึกษามา เวลานี้อยู่ในขั้นตอนสรุปให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอนายกฯ ผมคิดว่าอำนาจอยู่ที่ ครม. เพราะต้องรับผิดชอบในฐานะที่ให้คณะกรรมการชุดนี้ไปศึกษา ซึ่งเราคิดว่าเรามีความรับผิดชอบ กรรมการทุกท่านทำงานครบถ้วนและเห็นว่าเป็นทางออกดีที่สุด" รองนายกฯ ระบุ

 

อย่างไรก็ดี หลังจากนายภูมิธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าว โดยนายสมชัย ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า

ผมไม่ได้บอกว่า คำถามประชามติมัดมือชก คนพูดเรื่องมัดมือชก คือ คุณพริษฐ์ ไอติม พรรคก้าวไกล

แล้วเรื่องแก้ 112 นั้น มันประมวล กม. อาญา ไม่เกี่ยวอะไรกับ ประชามติแก้รัฐธรรมนูญ

ยังไม่ทันชก ก็เมาหมัดแล้ว พี่อ้วน

ก่อนที่ต่อมา นายสมชัย ยังโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องทำประชามติอีกครั้ง โดยระบุว่า 

คำถามประชามติ ของรัฐบาลที่ตั้งคำถามว่า "ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์" นั้น

ไม่เข้าท่าตรงไหน

1.เป็นคำถามที่ไม่จำเป็นต้องถาม เพราะหากท่านอยากแก้โดยยกเว้นบางหมวด ไม่ใช่การจัดทำใหม่ทั้งฉบับ จึงไม่จำเป็นต้องทำประชามติ โดยยึดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

2.เป็นคำถามที่เพิ่มเงื่อนไขให้ซับซ้อน และนำไปสู่โอกาสที่ประชามติจะไม่ผ่าน ยกตัวอย่าง เช่น หากผู้ลงประชามติเห็นว่า ควรแก้ได้ทั้งฉบับโดยไม่ควรยกเว้น หมวด 1 หมวด 2 ก็อาจตอบ "ไม่เห็นชอบ"

3.เป็นคำถามที่ไม่มีความชัดเจนในคณะผู้ร่าง ไม่มีการระบุถึงกลไก สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น แม้ประชามติผ่าน รัฐบาลอาจเลือกวิธีแก้ไขเอง โดยไม่มี สสร. ก็ได้

4.เป็นคำถามที่ไม่เคารพประชาชนผู้ออกเสียงประชามติว่า ประชาชนสามารถมีวิจารณญานเขียนรัฐธรรมนูญอย่างเหมาะสมได้เอง ต้องสร้างกรอบขึ้นมากำกับ

ด้าน "นายพริษฐ์ วัชรสินธุ" สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวยอมรับว่า คำถามประชามติของรัฐบาล เป็นคำถามที่พรรคก้าวไกลมีความกังวลว่า จะเป็นความเสี่ยงในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะคำถามหลักควรเป็นคำถามที่ถามถึงทิศทางภาพรวม และเป็นคำถามที่มีลักษณะที่เปิดกว้างที่สุด เพื่อให้ประชาชนเห็นตรงกันในภาพรวมว่า ควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้มีความเห็นที่แตกต่างกันในเชิงรายละเอียด ก็สามารถเห็นร่วมกันได้ ที่จะทำให้เพิ่มโอกาสในการเห็นชอบในการทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่รอบแรก

ทั้งนี้ แต่คำถามในมติดังกล่าวเป็นการยัดเงื่อนไข หรือรายละเอียดบางประการ ที่เสี่ยงทำให้ประชาชนบางกลุ่มอาจจะเห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับรายละเอียด ทำให้คนเหล่านี้อยู่ในสภาวะที่ลำบากใจ และเห็นว่าคำถามในการกำหนดเงื่อนไขไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ควรต้องแยกออกมาเป็นคำถามรอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการผ่านประชามติ จึงอยากให้ครม.ทบทวนคำถามในครั้งนี้

 

"เพราะการแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และ 2 ไม่กระทบกับรูปแบบการปกครอง หรือรูปแบบรัฐได้อยู่แล้ว เพราะมาตรา 255 ในรัฐธรรมนูญ กำหนดชัดว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดใดก็ตาม ต้องไม่ทำ 2 อย่าง คือ ไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ และทุกครั้งที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาหมวด 1 หมวด 2  เกิดขึ้นมาโดยตลอด แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญ 60 ฉบับปัจจุบัน ก็ไม่ได้ห้ามเรื่องการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 เพียงแต่ต้องทำประชามติ" นายพริษฐ์ ระบุ

 


 

logoline