svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เมียนมา" เตรียมปล่อย 41 คนไทย พรุ่งนี้! กต. ชี้ ไม่ได้รับผลกระทบแผ่นดินไหว

"เมียนมา" เตรียมปล่อย 41 คนไทย เร็วสุดพรุ่งนี้! ด้าน โฆษกกระทรวงต่างประเทศ เผย รอทางการเมียนมาคัดกรองปล่อยตัว พร้อมประสานเดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มอื่นๆ แจงไม่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ขณะที่ญาติ จี้นายกฯ เร่งช่วยเหลือหวั่นความปลอดภัย

17 พฤศจิกายน 2566 กรณีการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกกักตัวที่เมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา จากสถานการณ์สู้รบ กว่า 254 คน ล่าสุดยังเจอสถานการณ์แผ่นดินไหว เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (17 พ.ย.) ล่าสุด นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษก กระทรวงการต่างประเทศ(กต.) แถลงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยในเมืองเล่าก์ก่าย รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ในส่วนของคนไทย 41 คน ที่ได้หนีลงไปในพื้นที่เชียงตุงว่า

เนื่องจาก ยังต้องรอกระบวนการคัดกรองของทางการเมียนมา เพราะอยู่ระหว่างการปราบปรามกลุ่มนายทุนผิดกฎหมาย รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงต้องรอกระบวนการดังกล่าวก่อน แต่ยืนยันได้ว่า คนไทยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้ว พร้อมยืนยันว่า คนไทยทั้ง 41 คนในเชียงตุง ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เหตุแผ่นดินไหวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา แต่เงื่อนไขการเดินทางออกจากเชียงตุงนั้น จะต้องรอทางการเมียนมาอนุญาต แต่ทางการได้ร้องขอ และให้เร่งรัดกระบวนการแล้ว

กาญจนา ภัทรโชค โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)

นางกาญจนา กล่าวต่อ กลุ่มคนไทยที่ยังคงอยู่ในเล้าก์ก่ายอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยอยู่ในค่ายทหาร และได้ย้ายไปพำนักในโรงพยาบาลใกล้ ๆ อยู่ในสถานที่ปลอดภัยแล้ว 165 คน, กลุ่มที่นายจ้างปล่อยตัวออกมาแล้ว และพำนักอยู่ในสถานที่ปลอดภัยรอทางการส่งไปรวมกับคนไทยกลุ่มใหญ่ 89 คน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว รวม 254 คน สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ได้ตรวจสอบพิสูจน์สัญชาติ และออกเอกสารเดินทางฉุกเฉินให้เรียบร้อยแล้ว โดยพร้อมเดินทางกลับประเทศ เพียงแต่รอการประสานจัดเตรียมยานพาหนะ

ส่วนอีกกลุ่มที่ยังอาจอยู่ในพื้นที่ทำงาน และนายจ้างยังไม่ปล่อยตัวนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า เป็นกลุ่มที่ยังน่าเป็นห่วง มีจำนวนประมาณ 40-50 คน โดยสถานทูตฯ จะได้ติดตามให้ความช่วยเหลือต่อไป แต่การบังคับใช้กฎหมายกับนายจ้างนั้น จะต้องเป็นไปตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ซึ่งที่ผ่านมาทางการจีน และเมียนมา ก็ได้มีการปราบปรามอย่างเคร่งครัด แต่หลังจากนี้ จะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อนำตัวหัวหน้าขบวนการอาชญากรรมมารับโทษตามกฎหมายต่อไป

“เข้าใจความร้อนใจของคนในพื้นที่ แต่หวังว่า จะเข้าใจในสถานการณ์การสู้รบ และสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่ยืนยันว่า ทางการไทยได้พยายามทุกวิถีทาง และขอให้รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม จึงขอให้วางใจได้ว่า ทางการได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ ” โฆษก กต. กล่าวว่า

พ.อ.ณฑี ทิมเสน พบ พ.อ.ตู๋ล่า ส่อวินโซ

ในขณะที่ พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ในฐานะประธานคณะกรรมการ TBC (Township Border Committee-Thai land–Myanmar) ฝ่ายไทย เดินทางไปพบกับ พ.อ.ตู๋ล่า ส่อวินโซ ผู้บังคับกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก เพื่อติดตามและรับทราบสถานการณ์การรับตัวคนไทยกลับประเทศไทย ณ ห้องรับรองด่านศุลกากร สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 จังหวัดท่าขี้เหล็ก

โดยฝ่ายเมียนมา ยืนยันการส่งตัวคนไทย ไม่ได้มีปัญหาข้อขัดข้องใดๆ ขั้นตอนกรรมวิธีซักถามต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ต้องรอคำสั่งอนุมัติให้เคลื่อนย้ายจากหน่วยเหนือเพียงอย่างเดียว อาจจะได้รับอนุมัติภายใน 1 - 2 วันนี้ เมื่อได้รับอนุมัติจะรีบดำเนินการเคลื่อนย้ายคนไทยทั้ง 41 คน มายังกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก ให้เร็วที่สุด และจะส่งมอบให้ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ทันที

ปัจจุบัน 41 คนไทย ยังอยู่ที่ท่าสามเหลี่ยม จ.เชียงตุง ประเทศเมียนมา ได้รับการดูแลจากกองทัพเมียนมาอย่างดี ทุกคนมีความสุขสบายในระดับหนึ่ง และคิดถึงบ้าน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวน การติดตามให้ข้อมูล ซึ่งทางการเมียนมาอยากทราบว่าคนไทยทั้ง 41 คน เดินทางเข้ามาถึงเล่าก์ก่ายได้อย่างไร ทำกันเป็นขบวนการอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรายงานล่าสุดถึงความคืบหน้าการปล่อยตัว 41 คนไทย ว่า ทางเมียนมาจะปล่อยตัวเร็วสุดในวันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) ซึ่งเกิดจากการประสานงานใน ระดับรัฐบาล โดยเมื่อได้รับอนุมัติจากทางการเมียนมาแล้ว จะรีบเคลื่อนย้าย 41 คนไทย มายัง กองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก ให้เร็วที่สุด โดยจะส่งมอบให้ พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ในฐานะประธานTBC ฝ่ายไทย ทันที

เจรจาปล่อยตัว 41 คนไทย จ.ท่าขี้เหล็ก

ด้าน พ.อ.ปรัษฐา ครามะคำ หัวหน้ากองกิจการพลเรือน มณฑลทหารบกที่ 37 เปิดเผยถึงขั้นตอนหลัง 41 คนไทยที่หนีภัยการสู้รบจากเมืองเล่าก์ก่าย เดินทางมาถึงประเทศไทย ว่า เจ้าหน้าที่จากฝ่ายความมั่นคงจะทำการสอบถามประวัติ ข้อมูลและตรวจสุขภาพ จากแพทย์ พยาบาลของ รพ.ค่ายเม็งรายมหาราช รวมทั้งตรวจสอบเอกสาร ที่อาคารสโมสรมณฑลทหารบกที่ 37  โดยหน่วยได้เตรียมพร้อมในเรื่องสถานที่ อาหาร รวมถึงที่พัก ในกรณีที่เดินทางมาถึงในช่วงเวลากลางคืน ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งภายในอาคารแห่งนี้ สามารถรองรับผู้ที่ประสบภัยได้ถึง 200 คน 

สำหรับระยะเวลาในการผ่านขั้นตอนต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ เพราะการที่คนไทยเดินทางไปอยู่ในฝั่งเมียนมา อาจจะเสี่ยงในเรื่องของเชื้อต่างๆ ถ้าตรวจพบก็จะต้องมีการพักเพื่อดูอาการ ส่วนใครที่ไม่มีปัญหาก็สามารถเดินทางกลับได้เลย โดยญาติสามารถมารอรับตัวได้

เตรียมรับ 41 คนไทยกลับจากเมียนมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนญาติผู้เสียหายจากการถูกหลอกไปทำงานในเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา นำโดย นางภาวิณี ไผทฉันท์ ตัวแทนญาติผู้เสียหาย ยื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่อง ขอความเมตตาเร่งรัดการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์และผู้ลี้ภัยชาวไทยในเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา เข้าสู่ประเทศจีนเพื่อเดินทางกลับอย่างปลอดภัย โดยมี นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้เชี่ยวชาญ ด้านมวลชนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) เป็นผู้รับหนังสือ

โดยญาติผู้เสียหาย กล่าวว่า เนื่องด้วย บุตร หลาน และญาติของข้าพเจ้าทุกคน ได้ถูกหลอกเข้าไปทำงานในเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างโหดเหี้ยม ทั้งทรมานด้วยการกักขัง ข่มขู่ การทุบตี บางคนเครียดจนเกือบจบชีวิตด้วยการผูกคอตาย ภายหลังได้มีการประสานงานจากหน่วยงานองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ทำให้พวกบริษัททุนเทาที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้งหลอกลวงสารพัดรูปแบบเริ่มถูกจับกุมและมีบางส่วนเริ่มหนีความผิด

ญาติคนไทยในเมืองเล่าก์ก่า จี้นายกฯเร่งช่วยเหลือกลับไทย

ประกอบกับปฏิบัติการกวาดล้างทุนเทาและธุรกิจผิดกฎหมายโดยกองกำลังพันธมิตร ทำให้เกิดภาวะสงครามและมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ในเวลานี้สถานการณ์ในเมืองเล่าก์ก่ายจึงปั่นป่วนและเสี่ยงสูงที่จะเข้าสู่ภาวะสงครามอีกครั้ง ประชาชนต่างอพยพลี้ภัยไปยังเขตว้าและเข้าสู่ชายแดนจีน แต่เหยื่อผู้เสียหายจำนวนหนึ่งยังคงติดค้างรอการช่วยเหลือ และผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือมาแล้วทั้งหมดราว 200 กว่าคน

รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในเล่าก์ก่ายและผู้ที่ขอลี้ภัย ยังไม่ได้รับการผลักดันส่งออกจากเมือง ซึ่งเป็นเป้าหมายของการโจมตีและการปะทะดังกล่าว ขณะนี้เป็นเวลาร่วม 1 เดือนแล้ว และหากไม่เร่งดำเนินการให้ทันภายในวันนี้(17 พ.ย.) หรือ พรุ่งนี้ ความปลอดภัยของชีวิตของผู้เสียหายทั้งหมดก็ไม่มีผู้ใดสามารถรับรองได้

จึงขอให้เร่งรัดการประสานและเปิดช่องทางให้ผู้เสียหายเหยื่อค้ามนุษย์ และผู้ขอลี้ภัยชาวไทยได้เข้าไปลี้ภัยจากสงครามในประเทศจีนโดยเร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสียและช่วยให้ได้มีโอกาสเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย