svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"คำนูณ" ชี้ กู้มาแจก ส่อขัดกฎหมายการเงินฯ "วิษณุ" บอกกู้ได้ แต่ต้องผ่าน 2 ด่าน

12 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"คำนูณ" ชี้ กู้มาแจก 5 แสนล้าน ส่อขัด มาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เหตุไม่ใช่ทำได้ทุกกรณี เฉพาะกรณีเร่งด่วน แนะรอฟังความเห็นกฤษฎีกา ด้าน "วิษณุ" ปัดไม่รู้เรื่องอยู่คณะกกฤฎีกา ระบุ กู้ได้ แต่ต้องผ่าน 2 ด่าน สภาฯ-ศาลรธน.

12 พฤศจิกายน 2566 นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(สว.) โพสต์ลงเฟซบุ๊ก กรณีรัฐบาลมีแนวคิดออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทว่า กู้มาแจก ขัดกม.หรือไม่ ?

การตราพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้าน มาแจกคนละหมื่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ผมเห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 140 หากพระราชบัญญัตินั้น เป็นไปตามเงื่อนไขพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 53 ประเด็นคือ การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 ของกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่ทำได้ทุกกรณี แต่มีเงื่อนไขกำกับไว้ให้ทำได้เฉพาะกรณีเท่านั้น เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน

ขอแตกออกเป็น 4 ประการ “เร่งด่วน” “ต่อเนื่อง” “แก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ” “ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทัน” ต้องบอกด้วยความเคารพว่า แทบจะไม่เข้าสักประการ

     หนึ่ง ถ้ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริงทำไมไม่ตราเป็นพระราชกำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันที การตราเป็นพระราชบัญญัติต้องผ่าน 2 สภา สภาฯละ 3 วาระ และอาจมีขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญอีก

คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา

     สอง โครงการนี้ไม่ได้ต้องการใช้เงินต่อเนื่อง แต่ใช้ครั้งเดียวทั้ง 5 แสนล้านบาท แจกเข้าบัญชีประชาชน 50 ล้านคน

     สาม  วันนี้ประเทศไม่ได้ประสบปัญหาวิกฤต อย่างน้อยหากเปรียบเทียบกับยุคโควิด 19

     สี่  ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเลย โดยเงื่อนเวลาสามารถปรับยอดการใช้จ่ายโครงการนี้เข้าไปได้ ซึ่งก็จะตรงกับที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ในโครงการนี้ไว้กับกกต. เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566

ทั้ง 4 ประการนี้มีเพียงประการที่ 3 ว่าด้วย “วิกฤต” เท่านั้นที่พอเถียงกันได้ โดยรัฐบาลอาจมองได้ว่าการที่ GDP ของประเทศโตในระดับต่ำถือเป็นวิกฤตที่จะต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน

ถามว่าใน 4 ประการนี้มีประการไหนสำคัญสุดหรือไม่ น่าจะเป็นประการที่ 4 เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้ มีขึ้นเพื่อป้องกันการออกกฎหมายพิเศษกู้เงินและใช้เงินกู้นั้น ไปนอกงบประมาณแผ่นดินทันที โดยปราศจากเงื่อนไข จึงเพิ่มเงื่อนไขไว้ 4 ประการด้วยกัน โดยประการสุดท้ายที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่นี้กำหนดว่า ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่อาจตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินอยู่ภายใต้กรอบของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังคาอยู่ ปรับแก้ได้ทัน จะมาออกพระราชบัญญัติกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท ดูอย่างเอาใจช่วยอย่างไรก็ไม่น่าชอบด้วยมาตรา 53 ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นโดยสุจริตของคนๆ หนึ่งที่อยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติมาหลายปี ผ่านการถกเถียงประเด็นการออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินนอกงบประมาณมาพอสมควร ทั้งในช่วงปี 2552 และ 2554 - 2556 และเคยเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐเมื่อปี 2560 ในฐานะผู้แทนของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย โดยเป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็นในมาตรา 53 ไว้ ถูกผิดประการใดโปรดพิจารณา จากนี้ไปก็รอความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

วิษณุ เครืองาม กล่าวถึงเงินดิจิทัล

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม ในฐานะคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ตนไม่รู้เรื่องนี้ ที่โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท อยู่ระหว่างส่งคณะกรรมกฤษฎีตรวจสอบข้อกฎหมาย และให้ความเห็นไม่ได้ เพราะเมื่อส่งมาที่คณะกรรมกฤษฎีกา ก็ต้องส่งไปคณะอื่น ไม่ใช่คณะของตน เข้าใจว่าเป็นคณะ นายพนัส สิมะเสถียร 

ส่วนการออกพ.ร.บ.กู้เงินทำได้หรือไม่นั้น ทำได้อยู่แล้ว แต่ว่าจะผ่านสภาฯหรือไม่ หรือว่าอาจมีคนส่งศาลรัฐธรรมนูญตอนหลังก็ทำได้ เหมือนการออกกฎหมายทั่วไป ส่วนจะผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ รัฐบาลคงดูดีแล้วว่าไม่ขัดกฎหมายดังกล่าว ในมาตรา 6 และ มาตรา 9 แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าขัด เพราะมีประโยคที่ต้องแปลกัน ที่ระบุว่าต้องไม่ใช้ประโยชน์ไปในการหาเสียง หาคะแนนนิยม

ทั้งนี้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 6 ระบุว่า "รัฐต้องดําเนินนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม และต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด"

มาตรา 9 คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้ อย่างเคร่งครัด ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทํางบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและ ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ 

คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว

มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาล นอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ใน กฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วน และอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติ ของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน

กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบ การดําเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น

เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ เบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกําหนดได้โดยไม่ต้องนําส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมาย บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

สำหรับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 12  ประกอบด้วย

1. นายพนัส  สิมะเสถียร    ประธานกรรมการ
2. นายบดี  จุณณานนท์    กรรมการ
3. นายสมชัย  ฤชุพันธุ์    กรรมการ
4. นายปัญญา  ถนอมรอด    กรรมการ
5. นายธานิศ  เกศวพิทักษ์    กรรมการ
6. นายศุภรัตน์  ควัฒน์กุล    กรรมการ
7. นายเข็มชัย  ชุติวงศ์    กรรมการ
8. นายนนทิกร  กาญจนะจิตรา    กรรมการ
9. นางสาวจารุวรรณ  เฮงตระกูล    กรรมการ
10. นายศักดา  ธนิตกุล    กรรมการ

logoline