svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เผยโฉมหน้า คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ แหล่งรวม "นักออกแบบประเทศ" ชิงพื้นที่การเมือง

เผยโฉมหน้า คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ แหล่งรวม "นักออกแบบประเทศ" เบื้องหลังปูพรมชิงพื้นที่การเมือง ระดมทีมบ้านใหญ่จันทร์ส่องหล้า ผสานมือดีหลากหลายวงการ ปั้นงาน ศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม ภาพยนตร์ กีฬา ส่งเสริมสนับสนุนทุกชั้นวัยผ่าน “1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์”

14 กันยายน 2566 เป็นอีกมติ ครม. ที่สร้างความ "ฮือฮา" ให้กับสังคม ในการประชุม ครม.นัดแรก ของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน วานนี้ (13 ก.ย.) ที่ มีมติแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์

โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า การดำเนินการเรื่อง ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะเราเล็งไว้ว่า 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ดังนั้น นายกฯ จึงมีบัญชาข้อสั่งการ ให้ตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศไทย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าว มี "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน , แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน , พันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษา และผู้กำกับดูแลดำเนินการคือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ  นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งบทบาทของคณะกรรมชุดนี้ เพื่อกำหนดแนวทาง รูปแบบและกติกาการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ 
"เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี
 

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วย

1.นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ

2.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการ

3.พันศักดิ์ วิญญูรัตน์ ที่ปรึกษาและกรรมการ

4.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรรมการ

5.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรรมการ

6.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรรมการ

7. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรรมการ

8.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรรมการ

9.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรรมการ

10. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรรมการ

11. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กรรมการ

12. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการ

13.กมลนาถ องค์วรรณดี กรรมการ

14.จรัญ หอมเทียนทอง กรรมการ

15.หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล กรรมการ

16.ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการ

17.ชุมพล แจ้งไพร กรรมการ

18.ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการ

19.ปรีชา สนั่นวัฒนานนท์ กรรมการ

20.พิมล ศรีวิกรม์ กรรมการ

21.มาริสา สุโกศล หนุนภักดี กรรมการ

22.วิเชียร ฤกษ์ไพศาล กรรมการ

23.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการ

24.สิทธิชัย เทพไพฑูรย์ กรรมการ

25.เสริมคุณ คุณาวงศ์ กรรมการ

26.นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการ 

27.เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

28.อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

29.ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
เอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
เอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
เอกสารแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

บรรดา 29 รายชื่อ นอกจากมี รมต. ข้าราชการประจำ ได้รับแต่งตั้งโดยตำแหน่ง หากไล่เลียงรายชื่อลงลึกไปกว่านั้น  ยังพบ  ฝ่ายการเมือง และ บุคคลที่มีชื่อเสียง มากความสามารถในแต่ละด้าน ระดับแถวหน้าของประเทศ ร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ ล้วนมีความน่าสนใจไม่น้อย   

เพราะนอกจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานคณะกรรมการ บุคคลลำดับถัดไปขาดไม่ได้  นั่นคือ “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย บุตรสาว โทนี่ วู้ดซั่ม ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเธอก็เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย 
“อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย  

ในช่วงที่ อุ๊งอิ๊งค์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศว่า จะมาทำหน้าที่งานนวัตกรรม กิจกรรมทางการเมืองของพรรค ในที่สุด พรรคแต่งตั้งเป็น ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม

การเข้ามามีบทบาทในพรรคเพื่อไทยครั้งนั้น จึงมาพร้อมบุคคลที่เปรียบเป็นมือไม้คอยให้คำปรึกษา ซึ่งคนเหล่านั้น ล้วนเป็นบุคคลที่เคยทำงาน ให้กับนายใหญ่แดนไกล ทักษิณ ชินวัตร อย่างใกล้ชิด 

ไม่ว่าเป็น หมอมิ้งค์ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการรนายกฯ “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือแม้แต่ พันธ์ศักดิ์ วิญญูรัตน์ เจ้าของไอเดีย โอท็อป หนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล โดยคนเหล่านี้ ก็มาอยู่ใน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟท์พาวเวอร์ เคียงข้าง อุ๊งอิ๊งค์ ในปัจจุบัน
“หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี  

ขณะที่ กรรมการรายอื่น ๆ อย่าง กมลนาถ องค์วรรณดี เป็นนักออกแบบแฟชั่น เธอเป็นผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution ประเทศไทย มุ่งยกระดับงานแฟชั่นของไทย ดังไกลไปในระดับโลก
หรือ “จรัญ หอมเทียนทอง” เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว และอดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย  
กมลนาถ องค์วรรณดี นักออกแบบแฟชั่น  

“หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล” ด้านความสามารถ คงไม่ต้องเอ่ยกันมากความ เพราะ ม.ร.ว.เฉลิมชาตรี ยุคล คือผู้สร้างตำนาน สร้างคนในวงการศิลปะการแสดงและภาพยนตร์แถวหน้าของประเทศ ในวงการนิยมเรียกท่านว่า คุณชายอดัม เป็นโอรสใน หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล และ หม่อมกมลา ยุคล ณ อยุธยา 
“หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล”  

“ชฎาทิพ จูตระกูล”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ และค้าปลีกชั้นนำทั้งสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และไอคอนสยาม

“ชุมพล แจ้งไพร” หรือในแวดวงสายชิมรู้จักเขาในนาม “เชฟกระทะเหล็ก” คว่ำหวอดอยู่ในการปรุงอาหาร เมนูเด็ดระดับมิชชิลิน ต้องยกนิ้วให้ และยังได้รับเลือกจาก UN (องค์การสหประชาชาติ United Nations) ให้เป็น “ทูตอาหารยั่งยืน” 

ดวงฤทธิ์ บุนนาค ชื่อเล่น “ด้วง” สถาปนิกและนักออกแบบ แกนนำ กลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย มีชื่อเสียงในการออกแบบงานต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่มาเพิ่มกระแสโด่งดังอีกครั้ง เมื่อเขารักษาสัจจะเอาไว้ว่า หากพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาล ยินดีให้คนมาปาอุจจาระได้เลย และในที่สุดพรรคเพื่อไทย ก็เปลี่ยนขั้วจริง ๆ “ด้วง”  รักษาคำพูด เปิดโอกาสให้คนมาปาอุจาระใส่หน้า เมื่อไม่นานมานี้
ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและนักออกแบบ  

“ปรีชา สนั่นวัฒนานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ นักบริหารศูนย์การแสดงอีเวนท์ใหญ่ในภูมิภาค ซึ่งจะมามีส่วนในการให้แนวความคิดสมัยใหม่ การบริหารศูนย์การประชุมจัดแสดงงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี   

“พิมล ศรีวิกรม์” เป็นที่รู้จักในวงการกีฬา ไม่เพียงเป็นนายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยหลายสมัย ผู้ปั้นนักกีฬา "เทควันโดไทย" ให้ไปถึงเหรียญทองโอลิมปิก และคว้าแชมป์โลก กอปรกับ พิมล เป็น สมาชิกพรรคเพื่อไทย

ในช่วงที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ  พิมล ยังได้เป็นตัวแทนชาวกีฬาเข้าหารือ กับนายกฯ เพื่อขอการสนับสนุนวงการกีฬา เพราะมีนักกีฬาหลากหลายประเภท ที่มีความสามารถโดดเด่น เพียงแต่ขาดการสนับสนุนที่ดีพอ หากรัฐส่งเสริมในจุดนี้ สามารถปลุกปั้นดาวดวงใหม่ในพื้นที่ต่างๆ  ของประเทศ ขึ้นมาเป็นนักกีฬาระดับโลกได้ ซึ่งเข้าคอนเซปต์ หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ 

“มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย  และเป็น รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล ซึ่งเป็นบุตรสาวคนโตของ กมลา สุโกศล  นักบริหารด้านการโรงแรมที่มีไอเดียใหม่มาปรับใช้ในธุรกิจโรงแรม เธอจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการหนุนนำนโยบาย ส่งเสริมการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าประเทศ 

“วิเชียร ฤกษ์ไพศาล” หรือ นิค อดีตดำรงตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานมิวสิค โปรดักชั่น และโปรโมชั่น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นการได้ ผู้บริหารสายศิลปินเพลง มาขับเคลื่อน ซอฟต์พาวเวอร์ ได้อย่างถูกคนถูกความสามารถ   

“ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กูรูเศรษฐศาสตร์  ก่อนหน้านี้ เขาตกเป็นข่าวเป็นแคนดิเดต รมว.คลัง ในโควตาของ “พรรคเพื่อไทย” เพราะเขาเป็น 1 ใน ทีมที่ปรึกษา คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ของพรรคในช่วงหาเสียง ตั้งแต่ต้น แต่วันนี้ เศรษฐา ทวีสิน ได้รับแต่งตั้งเป็น      นายกฯ ควบ รมว.คลัง แต่ ศุภวุฒิ ก็มาอยู่ร่วม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วย ซอฟต์พาวเวอร์ แทน

“สิทธิชัย เทพไพฑูรย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีบัสซ์ จำกัด ผู้ผลิตเกมออนไลน์สัญชาติไทย ถือเป็นนักธุรกิจอีกคน ที่มีกลยุทธ์ในการสร้างธุรกิจที่น่าศึกษา 

“เสริมคุณ คุณาวงศ์” เป็นนักธุรกิจชาวไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์ จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านการสร้างสรรค์ และบริหารจัดการอีเวนท์ชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน

เห็นได้ว่า การระดมบุคคลที่มีชื่อเสียง มากความสามารถ และหลากหลายวัย  มาผสมผสานกันอย่างลงตัว ใน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ครั้งนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่า "รัฐบาลเศรษฐา" วาดหวังไว้มาก ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา “หนึ่งครอบครัวหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์”  

อีกประการ รัฐบาลเพื่อไทย ต้องการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ เป็นสื่อกลางในการเข้าถึงกลุ่มคนทุกชั้นวัย ด้วยหวังผลในทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย 
เผยโฉมหน้า คกก.ซอฟต์พาวเวอร์ แหล่งรวม \"นักออกแบบประเทศ\" ชิงพื้นที่การเมือง
 

ขณะที่ "อุ๊งอิ๊งค์" แพทองธาร ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความ หลังเจ้าตัวได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธาน คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ระบุว่า 

ตั้งแต่ปักหมุดนโยบายซอฟต์พาวเวอร์แล้ว ที่เพื่อไทยถูกตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงใช้คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เราเข้าใจคำนี้จริงหรือไม่ 

ขั้นแรกอยากอธิบายว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่เท่ากับ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

แต่ซอฟต์พาวเวอร์ ครอบคลุมทั้งการพัฒนาคนที่มีทักษะสูง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเมืองประชาธิปไตย และ การต่างประเทศที่เรียกว่า ‘การทูตเชิงวัฒนธรรม’ (Cultural Diplomacy) ซอฟต์พาวเวอร์จึงไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือมิติทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่จะต้องทำงานอีกหลายด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนา จนสามารถส่งออกวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือคุณค่าไปสู่นานาประเทศ และกลายเป็นผู้นำในระดับโลกต่อไป   

นั่นจึงเป็นเหตุผล ที่เราจะต้องอาศัยความร่วมมือ กับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อออกแบบนโยบายการส่งออกวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษา และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนในด้านงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ แรงงาน กระทรวงพาณิชย์ มาช่วยสนับสนุนเรื่องการค้าการตลาด และอีกหลายกระทรวง ที่ต้องเข้ามาร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมหลายท่าน มาช่วยกันชี้เป้าอุปสรรค ปัญหา เพื่อนำไปสู่การปลดล็อก และช่วยกันออกแบบนโยบาย สนับสนุนให้อุตสาหกรรมเติบโต เพื่อขยายตลาดค้าขายสินค้าทางวัฒนธรรมไปสู่ตลาดโลก

โดยหัวใจของการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ในครั้งนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน 
คือ #อุตสาหกรรม และ #ศักยภาพของคน 

สำหรับการพัฒนาศักยภาพของคน เราจะอยู่ในนโยบาย 
#ofos - one family one soft power : นโยบายพัฒนาศักยภาพคน พัฒนาคนให้มีสกิลสร้างสรรค์ ขยับทักษะแรงงานไทยให้มีทักษะแรงงานขั้นสูง

ส่วนอุตสาหกรรม เราจะตั้ง
#THACCA : องค์กรพัฒนาอุตสาหกรรม โมเดลเดียวกับ KOCCA ในเกาหลีใต้ หรือ TAICCA ไต้หวัน 

ซึ่งตลอดการทำงานช่วงก่อนเลือกตั้ง อิ๊งค์และทีมนโยบาย ได้ไปพบปะ ขอความเห็น และระดมความคิดกันว่า พัฒนาอุตสาหกรรมให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร และพบว่า ยังมีโอกาสอีกมาก ในอุตสาหกรรมสร้างซอฟต์พาวเวอร์บ้านเราค่ะ 

เพื่อไทยจะเดินหน้า ร่วมทำงานกับภาคเอกชน ขอถือโอกาสนี้ ขอขอบคุณคณะทำงานจากภาคเอกชน 
ที่จะมาร่วมกันทำงานหลังจากนี้นะคะ ขอฝากตัวกับทุกท่านด้วย เรามาร่วมกันทำงานอย่างหนัก พาประเทศพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง สู่ประเทศรายได้สูงค่ะ
โพสต์ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร