svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดตำนาน “รังนกกระจอก” 44 ปี กับหน้าที่ถ่ายทอดความจริงจาก "ทำเนียบรัฐบาล"

04 กันยายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อเอ่ยชื่อ "รังนกกระจอก" สำหรับสื่อมวลชนประจำทำเนียบฯ คือสถานที่ที่ใช้ในการสื่อสารการทำงานของรัฐบาลออกไปสู่สาธารณชน แต่ที่ผ่านมาเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ มักมีกระแสข่าวว่าจะมีการรื้อ - ย้าย รังนกกระจอก เสมือนว่านักการเมือง มองที่นี่ เป็นสถานที่ไม่น่าไว้วางใจ ?

กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง  หลังมีกระแสว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ อยากใช้ห้องทำงานสื่อมวลชน ประจำทำเนียบรัฐบาล หรือ รังนกกระจอก มาเป็นห้องทำงานและเป็นที่พูดคุยของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี

แม้ล่าสุดนายเศรษฐา จะออกมายืนยันว่า ไม่ได้มีแนวคิดที่จะ “รื้อ” เพียงอยากปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อความสะดวกทำงานสื่อมวลชน  แต่ก็ทำให้ ชื่อของ “รังนกกระจอก” ถูกกลับมาเป็นที่พูดถึงขึ้นมาอีกครั้ง เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่แนวคิดการรื้อ รังนกกระจอก ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นพูดถึง เมื่อมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เข้ามาบริหารประเทศ  

ภาพปัจจุบันของ รังนกกระจอก 1 ภาพปัจจุบันของ รังนกกระจอก 1 ภาพปัจจุบันของ รังนกกระจอก 1

ภาพปัจจุบันของ รังนกกระจอก 1

ความเป็นมา "รังนกกระจอก"

ทำเนียบรัฐบาล ได้รับการขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร แม้จะไม่ใช่ทุกอาคารก็ตาม  โดย 1 ในอาคารที่อยู่ภายในพื้นที่ของทำเนียบรัฐบาล ที่แม้จะไม่ใช่สถานที่ทำงานของนายกฯ หรือรัฐมนตรี แต่ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ รังนกกระจอก เพราะการทำงานของสื่อมวลชนกับนักการเมืองหรือรัฐบาล ที่เข้ามาบริหารประเทศ เสมือนเป็นสัญลักษณ์ที่คู่กัน 

รังนกกระจอก ถือเป็นห้องปฏิบัติการสื่อมวลชนที่อยู่คู่มากับทำเนียบรัฐบาล มาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ส่วนหนึ่งของทำเนียบฯ มาหลายสิบปี เริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 15  เมื่อปี 2522 หรือประมาณ 44 ปีมาแล้ว

จุดกำเนิดมาจากการที่ "พล.อ.พร ธนะภูมิ" เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็นผู้อนุมัติจัดสร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2522  เพราะความเห็นใจในความลำบากของนักข่าว

"เจ๊ยุ" หรือ นางยุวดี ธัญญสิริ  อดีตนักข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เคยเล่าไว้เมื่อครั้งที่เธอยังมีชีวิต ถึงประวัติก่อนจะมีรังนกกระจอกว่า ตอนที่เข้ามาเป็นนักข่าวทำเนียบเมื่อปี พ.ศ.2514 หรือช่วงปลายๆ รัฐบาล "จอมพลถนอม กิตติขจร" สมัยนั้นนักข่าวอยู่ได้แค่ริมรั้วริมคลองผดุงกรุงเกษม (ปัจจุบันคือประตู 7) เข้ามาในทำเนียบก็ไม่ได้

"ถ้าจะมีแถลงข่าวประชุม ครม.ที เขาก็จะมาเรียกพวกเราให้เข้ามาที แต่ให้เข้ามาได้แค่ตึกนารีสโมสร ไม่ให้เดินไปไหน หรือเต็มที่ก็แจกจดหมายข่าว (Press) ที่ริมรั้ว จนกระทั่ง พล.อ.พร เดินมาถามนักข่าวที่นั่งตามพื้น ตามบันได ว่า "นักข่าวไม่มีที่พักเหรอ" จึงเป็นที่มาของการสร้าง "รังนกกระจอก" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา"

นางยุวดี ธัญญสิริ  อดีตนักข่าวอาวุโส ประจำทำเนียบรัฐบาล นสพ.บางกอกโพสต์ (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว))

พลเอก พร ธนะภูมิ

ย้อนตำนาน "รังนกกระจอก"

โครงสร้างเดิมของรังนกกระจอก เป็นตึกทรง 8 เหลี่ยม หลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งเป็นสมัยนิยมในขณะนั้น  จุดเด่นนอกจากสถาปัตยกรรมแล้ว ยังเป็นเรื่องของทำเลที่ตั้ง ที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี เหมาะกับการทำข่าวอย่างยิ่ง เพราะตั้งอยู่ด้านหน้าของตึกนารีสโมสร และเยื้องๆ ตึกบัญชาการ ซึ่งยุคนั้นเป็นที่นั่งทำงานของนายกฯ รองนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ  

ทำให้สามารถเห็นแหล่งข่าวเดินผ่านไปมา  หรือเข้าออกอาคารได้อย่างชัดเจน  เรียกว่าไม่พลาดตกข่าวแน่นอน  

โดยตอนแรก มีแค่หลังเดียว แต่ต่อมา มีการเพิ่มห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน ที่อยู่ด้านข้างประตูรั้ว อีก 1 หลัง เพื่อลดความแออัดของสื่อมวลชน ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามยุคสมัย  โดยรังนกกระจอกหลังแรก จะเรียกกันว่า รังนกกระจอก 1 หรือ “รังเก่า” ส่วนรังนกกระจอกหลังที่อยู่ด้านข้างประตูรั้ว รู้จักกันในชื่อว่า รังนกกระจอก 2  หรือ “รังใหม่”

 

ที่มาชื่อ "รังนกกระจอก"

ส่วนที่มาของการเรียกขนานนาม ว่า “รังนกกระจอก” นั้น  มาจากการใช้เปรียบเทียบนักข่าว ว่าเป็นเหมือนนกกระจอกที่ว่องไว และส่งเสียงจ๊อกแจ๊กเหมือนคนช่างพูด ช่างซักถาม เวลาทำงาน  

ภาพในอดีตของ รังนกกระจอกหลังแรก หรือที่เรียกกันว่า "รังนกกระจอก 1" หรือ “รังเก่า”

ภาพในอดีตของ รังนกกระจอกหลังแรก หรือที่เรียกกันว่า "รังนกกระจอก 1" หรือ “รังเก่า”

ภาพในอดีตของ บรรยากาศด้านข้าง รังนกกระจอก 1 หรือ “รังเก่า”

บรรยากาศภายใน  "รังนกกระจอก 1" หรือ “รังเก่า” ก่อนที่จะมีการปรับปรุง

ภาพอดีต บรรยากาศด้านข้าง "รังนกกระจอก 1" หรือ “รังเก่า”

การปรับปรุง "รังนกกระจอกเก่า "

ผ่านการปรับปรุงมาแล้วหลายครั้ง โดยเมื่อ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ต่อเติมชายคาโดยรอบเพื่อกันแดดและฝน

ต่อมา สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนของหลังคา พื้นทางเดินให้สะดวกและสวยงามขึ้น อีกทั้งยังให้เจ้าหน้าที่ ผู้ติดตาม ได้มานั่งพักคอยได้

นอกจากการปรับปรุงรังนกกระจอกแล้ว กระแสการ รื้อ-ย้าย รังนกกระจอกเก่า ก็มีมาแล้วหลายครั้งและเป็นระยะเช่นกัน

โดยเมื่อปี 2557 สมัยยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ และหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.  แม้จะมีการประกาศ ว่าจะไม่เข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน แต่ก็เคยมีข่าว ว่าจะมีการรื้อรังนกกระจอกเก่า  อ้างว่าจะนำพื้นที่ ทำเป็นสวนหย่อมสำหรับพักผ่อน  และให้สื่อมวลชนทั้งหมดไปรวมกันอยู่ที่ รังนกกระจอกหลังใหม่  เพราะตอนนั้นมีการปรับปรุงใช้ตึกนารีสโมสร (ที่อยู่ใกล้กับรังนกกระจอกเก่า) เป็นสถานที่รับรองรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  จึงไม่ต้องการให้สื่อมวลชนอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว เพื่อป้องกันข่าวสารรั่วไหล 

แต่หลังเจอกระแสคัดค้านอย่างหนัก  สุดท้ายแนวคิดดังกล่าวก็เงียบไป และเป็นการปรับปรุงตกแต่งเพิ่มเติมแทน

ตำนาน จาก "รังนกกระจอก"

นอกจากจะเป็นสถานที่ทำงานของนักข่าว เพื่อนำเสนอข่าวและสื่อสารการทำงานของรัฐบาลออกไปยังสาธารณชน "รังนกกระจอก" ยังเป็นสถานที่ในการระดมสมอง จัดอันดับรัฐมนตรี ฉายารัฐมนตรีประจำปี  จนกลายเป็นประเพณีและเป็นที่รอคอยของประชาชนทุกปี

ซึ่งรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  ถูกจัดอันดับเป็นชุดแรกของที่นี่ 

“พล.อ.เปรม” กลายเป็น “เตมีย์ใบ้” เพราะพูดน้อยนับคำได้ โดยมีวาทะยอดฮิต “กลับบ้านเถอะลูก”  , พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ได้ชื่อ “ปลาไหล” เพราะลื่นดุจปลาไหล ผสมรัฐบาลได้ทุกขั้ว  , พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็น “น้าชาติ มาดนักซิ่ง” และวาทะยอดฮิต “โนพร็อบเบลม ไม่มีปัญหา”

ว่ากันว่า การจัดอันดับและให้ฉายานี้ ถึงขนาดที่ว่า รัฐมนตรีที่จะถูกจัดอันดับ ส่งคนไปล็อบบี้นักข่าวทำเนียบ เมื่อทราบว่าตัวเองจะได้รับการโหวตแบบไม่ค่อยน่าชื่นชมนัก นอกจากนี้ในยุคต่อ ๆ มา การจัดอันดับรัฐมนตรี ยังกลายเป็นต้นแบบให้นักข่าวรัฐสภา นักข่าวกีฬา อาชญากรรม บันเทิง และสายอื่น ๆ จัดอันดับบุคคลแห่งปีในสายของตัวเองด้วยเช่นกัน

อาคารตึกบัญชาการ และตึกนารีสโมสร ที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งสามารถมองเห็นได้จาก รังนกกระจอก 1 อาคารรังนกกระจอก 2 ที่สร้างขึ้นอีกหลัง เพื่อรองรับและเป็นที่ทำงานของสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลที่มีจำนวนมากขึ้น ภายในห้องทำงานของ รังนกกระจอก 2 กว้างขวางกว่า และสามารถรองรับคนได้จำนวนมากกว่า

 

logoline