svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐบาล"ปลาผิดน้ำ"-สส.พาเหรดลาออกแค่จบภารกิจ

ก่อนจะใกล้ได้ยลโฉมหน้า "ครม.เศรษฐา 1" อย่างเป็นทางการ ก็พากันเห็นเหล่าบรรดา สส. ต่างตบเท้าพาเหรดกันลาออก จนมีการตั้งคำถามไปต่างๆ นานา บ้างก็ว่าผิดหวังจากเก้าอี้เสนาบดี บ้างก็แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุบ้านการเมือง หรือสรุปเป็นการทำตามบทบัญญัติในกฎหมาย

โดย "ดร.สติธร ธนานิธิโชติ" ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐธรรมนูญ แต่เกี่ยวกับการตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งหลายคนถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจ เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จึงเห็นบางคนลาออกส่งไม้ต่อให้คนพรรคขึ้นมาทำแทน เป็นการตอบแทนที่ร่วมทำงานกันมา ทั้งนี้ เช่นเดียวกับกรณีมีข่าว "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" ก็จะลาออกจาก สส. ก็ถือว่าเสร็จสิ้น โดยฝากน้องเข้าไปเป็น ครม. หรือส่งคนใกล้ชิดเข้าไปนั่งรัฐมนตรี

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

ดร.สติธร ขยายความต่อว่า แต่กรณีของ "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" ที่ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นการทำตามคำพูด แต่ก็ประวิงเวลา ด้วยการทำหน้าที่ให้เสร็จก่อน ซึ่งการรับผิดชอบนั้นต้องเริ่มตั้งแต่รู้ว่า พรรคไปร่วมงานกับ 2 ลุง เหมือนอย่าง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ที่รู้ ก็ลาออกจาก สส. และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วย

"หมอชลน่าน อาจไม่จำเป็นต้องออก สส. ก็ได้ แต่ที่ผ่านมารู้ว่าพรรคร่วม 2 ลุง ก็ควรจะแสดงอะไรบางอย่างหากผิดจากที่เคยพูดไว้ แต่กลับเป็นตัวตั้งตี ตั้งให้สำเร็จ พอมาจังหวะแบบนี้ ต่อให้ไม่เคยพูดลาออก แต่ถูกตั้งในครม. การออกก็เพื่อสะดวกต่อการทำงานในกระทรวงเท่านั้น หัวหน้าไม่ควรค้ำหัวนายกฯ ในครม. ลาออกเป็นเพียงตามแนวปฏิบัติ มารยาท ต่อให้ไม่สัญญาไว้ ก็ต้องออกอยู่แล้ว" ดร.สติธร ระบุ

 

อย่างไรก็ตาม การลาออกถ้าจะให้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญจริง ก็ต้องยกตัวอย่าง อ.วันนอร์ เพราะบัญญัติไว้ในเรื่องประธานสภา ต้องวางตัวเป็นกลาง ดังนั้น ถ้ามีตำแหน่งหัวหน้าพรรค แล้วไปทำหน้าที่นี้ด้วย ก็อาจถูกมองไม่ดี เหมือนกรณี "หมออ๋อง ปดิพัทธ์" ที่ปกติจะต้องร่วมประชุม สส. แต่ประกาศว่าไม่ร่วมประชุมพรรค ก็จบ คือ ไม่ได้มีสภาพบังคับ รัฐธรรมนูญ กำหนดไว้หลวมๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติ เป็นกลางเท่านั้น 

"ความเป็นจริงของแบบนี้บังคับไม่ได้ แต่มันเป็นวัฒนธรรมของคน ถ้าจะให้มีการรับผิดชอบทันทีอย่างต่างประเทศ เราก็คงจะเห็นได้ยาก ถ้านักการเมืองบ้านเรา ยังรู้สึกว่าทำได้ คือ ทำหน้าที่เสร็จก่อนแล้วค่อยออก และทุกอย่างเป็นทางอ้อมเป็นเรื่องจริยธรรม แต่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เป็นประมวลกว้างๆ" ดร.สติธร กล่าว

ขณะที่ "รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองปรากฎการณ์คนการเมืองทยอยลาออกหลังมีการวางตัวบุคคลใน ครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งจากตำแหน่งสส. แต่ยังเป็นหัวหน้าพรรค รวมถึงลาออกจากหัวหน้าพรรค แต่ไม่ลาออก สส. ซึ่งมาจากลักษณะโครงสร้างการเมืองที่เปลี่ยนแปลง 

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเริ่มมีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ คนรุ่นเก่าก็ต้องถอยออกไป ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเมืองทั่วโลก ก็เป็นในลักษณะเดียวกันนี้ คนต้องการการเมืองรูปแบบใหม่ ยกตัวอย่างการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีกระแส "มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา" 

"กลุ่ม สส.พลังประชารัฐ กล้าหัก พล.อ.ประวิตร ยกมือโหวตให้ เศรษฐา ทวีสิน กระบวนการคนรุ่นเก่า ได้รับการตอบสนองน้อยลง ทำให้พื้นที่การเมืองของคนรุ่นเก่าลดลง ถ้ารุ่นเก่ายังอยู่ก็จะเหมือนปลาผิดน้ำ" รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ

ส่วนอนาคตการเมืองไทยในระยะสั้น มองว่าจะยังไม่เห็นภาพของการพลิกโฉมได้ทันที แม้คนจะอยากได้การเมืองรูปแบบใหม่ๆ คนใหม่ๆ เพราะสุดท้ายแล้ว ยังมีกลไกลที่กำกับ แต่เชื่อว่ากลไกลเหล่านี้จะค่อยๆหมดไป ส่วนที่หลายคนมองว่า ครั้งนี้ ลุง 3 ป. จะถอยจริงหรือไม่ หรือแค่ถอยไปอยู่เบื้องหลัง ส่วนตัวเชื่อว่าครั้งนี้ถอยจริง เพราะถ้าไม่ถอย ก็จะอยู่ยาก