svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เส้นทาง 17 ปี "ทักษิณ ชินวัตร" กว่าจะถึง "วันนี้...ที่รอคอย"

21 สิงหาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สิ้นสุดการรอคอย?....การเดินทางกลับแผ่นดินมาตุภูมิเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี ของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เส้นทาง 17 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงวันนี้ อดีตนายกคนไกล ผ่านและเจอกับอะไรบ้าง

 "วันนี้ ที่รอคอย” คงไม่ผิดนักหากจะใช้คำนี้สำหรับครอบครัวชินวัตร เพราะเป็นวันที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศจะเดินทางกลับมาประเทศไทย แม้ที่ผ่านมาเส้นทางชีวิตไกลบ้านของ “ทักษิณ” จะมีภาพที่ออกมาสวยหรูของการใช้ชีวิตในต่างแดน แต่เชื่อว่าไม่ได้ง่ายดายเลยแม้แต่น้อย เห็นได้จากการที่ "ทักษิณ" โหยหาที่จะกลับบ้านมากเพียงใด เคยประกาศว่าจะ “กลับบ้าน” มาแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง 

เส้นทาง 17 ปี ของอดีตนายกฯคนไกล อย่าง “ทักษิณ” และครอบครัว มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง  มาไล่เรียงไปพร้อมกัน

เส้นทาง 17 ปี “ทักษิณ”

19 ก.ย. 2549

คณะรัฐประหารนำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล “ทักษิณ” ที่ขณะนั้น “ทักษิณ” อยู่ที่นิวยอร์ก เพื่อเข้าประชุมยูเอ็น โดยมีการกล่าวหารัฐบาล “ทักษิณ” ว่าก่อให้เกิดปัญหา ความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์

30 พ.ค. 2550

ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไทยรักไทย จากความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง และตัดสิทธิการเมือง กรรมการบริหารพรรค จำนวน 111 คน

28 ก.พ. 2551

อดีตนายกฯ "ทักษิณ" เดินทางกลับไทยครั้งแรกนับจากรัฐประหารปี 2549

โดยภาพที่คนทั้งประเทศจดจำได้ดี คือ อดีตนายกฯ “ทักษิณ”  ก้มลงกราบแผ่นดิน หลังเดินทางกลับประเทศไทย ที่จากไปนานถึง 1 ปี 5 เดือน หลังถูกปฏิวัติรัฐประหาร

เส้นทาง 17 ปี \"ทักษิณ ชินวัตร\" กว่าจะถึง \"วันนี้...ที่รอคอย\"

25 พ.ค. 2551

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มชุมนุมใหญ่ขับไล่ นาย สมัคร สุนทรเวช ออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะมองว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับ "ทักษิณ"

1 ส.ค. 2551

อดีตนายกฯ “ทักษิณ” และครอบครัว หนีไปอังกฤษ หลังไม่ปรากฏตัวต่อศาลในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก

9 ก.ย. 2551

ศาล รธน. มีคำสั่งให้นายสมัคร สิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี  เนื่องจากจัดรายการทำกับข้าวทางโทรทัศน์ ต่อมา 17 ก.ย. 2551 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของ “ทักษิณ” ขึ้นเป็นนายกฯ แทน ท่ามกลางการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

1 ต.ค. 2551

ศาลสั่งจำคุกอดีตนายกฯ “ทักษิณ” 2 ปี ในข้อหาทุจริต แม้จะยังอยู่ในต่างประเทศ

2 ธ.ค. 2551

ศาล รธน. สั่งยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากการทุจริตการเลือกตั้งของ ยงยุทธ ติยะไพรัช และตัดสิทธิทางการเมือง กรรมการบริหารพรรค 37 คน ทำให้นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ

มี.ค. - พ.ค. 2553

"กลุ่มคนเสื้อแดง" ผู้สนับสนุน  "ทักษิณ" นับหมื่นคน ชุมนุมต่อเนื่องในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ นำไปสู่การสลายการชุมนุมโดยกองทัพ จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 91 คน

1 ก.ค. 2554

การเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยชนะอย่างถล่มทลาย ทำให้นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ

22 พ.ค. 2557

คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ทำการรัฐประหาร หลังเกิดการชุมนุมใหญ่โดย กปปส. ซึ่งมีจุดเริ่มต้นแรกเพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ก่อนพัฒนาสู่ประเด็นขับไล่รัฐบาล

6 ก.พ. 2558

“ทักษิณ” ถูกถอดยศ "พ.ต.ท." ด้วยเหตุผล "เป็นกรณีกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และมีความจำเป็นต้องดำเนินการเป็นการด่วน"

24 มี.ค. 2562

พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ด้วยจำนวน 137 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร แต่รวบรวมเสียงจาก สส.จัดตั้งรัฐบาลไม่เพียงพอ  ทำให้ต้องเป็นฝ่ายค้าน 

23 เม.ย. 2562

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก 3 ปี “ทักษิณ” คดีสั่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยปล่อยกู้เมียนมาในโครงการพัฒนาระบบคมนาคม วงเงิน 4,000 ล้านบาท

6 มิ.ย. 2562

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 2 ปี “ทักษิณ”  โดยไม่รอลงอาญา จากคดี "หวยบนดิน" เมื่อปี 2546 - 2549

30 ก.ค. 2563

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ธุรกิจของ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จนทำให้รัฐเกิดความเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

8 ส.ค. 2565

ศาลภาษีอากรกลาง พิพากษาให้ "ทักษิณ" ชนะคดี กรณีเป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมสรรพากร และจำเลยบุคคล รวม  4 ราย เรียกเก็บภาษีจากจากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 17,000 ล้านบาท ชี้คำสั่งกรมสรรพากร มิชอบด้วยกฎหมาย

19 ธ.ค. 2565

ป.ป.ช. มีมติยกคำร้อง "คดีทุจริตจำนำข้าวแบบจีทูจี" ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ

1 พ.ค. 2566

“ทักษิณ” ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์  ขออนุญาตกลับบ้านก่อนการเลือกตั้ง

"ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎานี้แล้ว พบกันเร็ว ๆ นี้ครับ ขออนุญาตนะครับ"

26 ก.ค. 2566

"อุ๊งอิ๊งค์" แพทองธาร โพสต์ข้อความในอินสตาแกรม  ยืนยันการเดินทางกลับของอดีตนายกรัฐมนตรี   

"26 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของลูกเสมอ แต่ปีนี้ลูกยังไม่อยากเชื่อตัวเอง ในสิ่งที่ลูกกำลังจะพิมพ์ พ่อจะกลับมาแล้ว วันที่ 10 สิงหาคม นี้ ที่สนามบินดอนเมือง"

5 ส.ค. 2566

“ทักษิณ” ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์  เลื่อนเดินทางกลับประเทศไทย จากเดิมในวันที่ 10 ส.ค. ขอเลื่อนไปอีก ไม่เกิน 2 สัปดาห์ 

21 ส.ค. 2566

 “ทักษิณ” ทวีตข้อความเป็นการตอกย้ำและยืนยันว่า ในวันที่ 22 สิงหาคม ตัวเขาจะเดินทางกลับประเทศไทยตามที่ที่ได้ประกาศไว้อย่างแน่นอน 

“พรุ่งนี้ 9 โมงเช้า ผมขออนุญาตกลับไปอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และร่วมอากาศหายใจกับพี่น้องคนไทยด้วยคนนะครับ”  

แม้อาจดูเหมือนว่าวันนี้ เป็นวันที่การรอคอยที่ยาวนาน จะได้สิ้นสุดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งและเป็นสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่เดินทางกลับมาถึงประเทศไทย ที่ “ทักษิณ” จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ด้วยการรับโทษจำคุกในคดีต่างๆ ที่ศาลได้มีคำตัดสินไปแล้ว

logoline