svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตาโค้งสุดท้าย เก้าอี้ "ผบ.ตร.คนที่ 14" เทียบฟอร์ม ดี เด่น ดัง ใครจะเข้าวิน

การแต่งตั้ง "ผบ.ตร.คนที่ 14" ที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆนี้ถือว่าเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งสำคัญ เพราะ แต่งตั้งภายใต้กฎเกณฑ์ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ที่ให้อำนาจ ก.ตร.มีส่วนในการพิจารณาคัดเลือก  

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ภายในเดือนกันยายนนี้ "พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์" ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องลุกจากเก้าอี้ พิทักษ์ 1 เพื่อส่งไม้ต่อให้กับ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 14

เมื่อมาไล่เรียงลำดับอาวุโสระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มีสิทธิลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. มีด้วยกัน 4 คน

"พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์" รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ   ภาพจาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ลำดับ 1. "พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์" นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 40 เกษียณอายุราชการปี 2567 หน้างานรับผิดชอบศูนย์อำนวยการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ประสานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย) ปีเดียวเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล สลับเป็นผู้บัญชาการศึกษา ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

"พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล" รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ลำดับที่ 2. "พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล" นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47 เกษียณอายุราชการปี 2574 รับผิดชอบหัวหน้างานสืบสวน เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก่อนถูกมรสุม“ออกนอกรั้ว”เป็นข้าราชการพลเรือนตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และกลับคืนถิ่นในตำแหน่งที่ปรึกษา สบ. 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

"พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร" รองผํู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ลำดับที่ 3. "พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร" นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 เกษียณอายุราชการปี 2569 รับผิดชอบคุมงานบริหาร เคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย) ก่อนขึ้้นเป็น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ปีเดียวขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

"พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล" รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

และลำดับที่ 4. "พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล" รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิงห์แดงรุ่น 38 และ เคยผ่านการอบรมหลักสูตรการฝึกอบรม ผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์เกษียณอายุปี 2567รับผิดชอบงานป้องกันปราบปราม เคยดำรงตำแหน่งสำคัญผู้บังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม คุมหน่วยกำลัง“คอมมานโด”ติดอาร์มขึ้นรองผู้บังคับการปราบปรามก่อนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 วางฐานรากหน่วยกองบังคับการปฏิบัติการพิเศษในเวลาต่อมา จากนั้นเลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 

เมื่อพิจารณาจากประวัติการทำงานของแคนดิเดตทั้ง 4 คนนั้น ถือว่าไม่ธรรมดา ทุกคนมีสิทธินั่งเก้าอี้สำคัญ แต่กฎเหล็กสำคัญของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ระบุชัดเจนว่า" การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้นายกรัฐมนตรี คัดเลือกข้าราชการตำรวจในตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ ความสามารถประกอบ โดยเฉพาะประสบการณ์งานสืบสวน สอบสวน หรืองานป้องกันปราบปราม"

หลังจากนั้นตามขั้นตอนจะต้องนำรายชื่อเสนอต่อ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ แล้วนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

แฟ้มภาพ การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

โดยคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ผู้ทรงคุณวุฒิ จะต้องทำหน้าที่พิจารณาตำแหน่ง "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 14" ซึ่งนั่นหมายถึงว่า นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนปัจจุบัน จะไม่สามารถควบคุมเสียง อำนาจเต็มไม้เต็มมือ เหมือนการแต่งตั้งครั้งก่อนๆที่ผ่านมา

ล่าสุด แม้ยังไม่กำหนดนัดประชุม ก.ตร.อย่างเป็นทางการ แต่ตามหลักการจะต้องเสนอชื่อภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ คาดการณ์กันว่า จะมีการนัดประชุมก.ตร.นัดสำคัญ ในวันที่ 24 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ขณะที่"พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์" ออกมาระบุว่า ขั้นตอนอยู่ระหว่างการเสนอนำเรียนให้ทางนายกรัฐมนตรีพิจารณาว่าจะนัดประชุมเมื่อไหร่ ซึ่งเชื่อว่าทันกรอบเวลา คาดว่า ปลายเดือนนี้จะได้คำตอบที่ชัดเจน

ขณะที่ มีรายงานว่า  การเสนอชื่อ"รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ในการประชุม ก.ตร.เพื่อพิจารณานั้นในทางปฏิบัติจะเสนอครั้งละ 1 รายชื่อ กฎเกณฑ์สำคัญในการพิจารณา ต้องคำนึงถึงเรื่อง อาวุโส /ความรู้ความสามารถ /ประสบการณ์ งานด้านสืบสวน ปราบปราม และความประพฤติ รวมถึงศักยภาพในการเป็นผู้นำหน่วย

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นเสมอไปว่า อาวุโสอันดับ 1 จะได้ครองเก้าอี้ ผบ.ตร. เพราะจะต้องนำคุณสมบัติในด้านอื่นๆ มาประกอบกันทุกด้าน รวมไปถึงให้น้ำหนักระบบคุณธรรม ไม่ให้ใครใช้อำนาจปฎิบัติโดยมิชอบ

คงจะต้องลุ้นกันจนวินาทีสุดท้ายว่า ท้ายที่สุดแล้วใครจะฝ่าด่านการพิจารณา ก.ตร. ได้นั่งเก้าอี้”ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”คนที่ 14