svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ย้อนไทม์ไลน์คดี"พิธา"ปม"หุ้นไอทีวี"สู่บทสรุปที่ต้องจับตา

23 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถือเป็นคดีที่สองของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเตรียมอ่านคำวินิจฉัย ต่อจากคดี "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" อดีต รมว.คมนาคม กับการซุกหุ้น คือ กรณีการถือครองหุ้นไอทีวีของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ว่าสุดท้ายแล้วจะมีบทสรุปออกมาเป

ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็น สส. ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไล ในกรณีการถือครองหุ้นไอทีวี และขอให้มีคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เหมือนแผ่นดินไหวในใจ "ด้อมส้ม" เกิดอาฟเตอร์ช็อกทันที พรรคก้าวไกล ได้ออกแถลงการณ์ซัดกกต.มีเหตุผลอะไรรีบสรุปส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ทั้งที่ไม่เคยเรียก นายพิธา ไปชี้ ด้าน นายอานนท์ อำภา แกนนำกลุ่มสามนิ้ว กวักมือพลพรรคออกมาชุมนุมวันนี้( 12 ก.ค.) 18.00 น.

เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ

ย้อนรอยนิติสงครามถล่ม "พิธา" ตั้งแต่ปี 2566 

  • 10 พ.ค. "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องให้ กกต. ตรวจสอบ "พิธา" หัวหน้าพรรคก้าวไกลขณะนั้น ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น
  • 19 พ.ค. "สนธิญา สวัสดี" อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน และ "นพรุจ วรชิตวุฒิกุล" อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นเรื่องร้องเรียนกกต.กรณีหุ้นไอทีวี เช่นเดียวกัน
  • 29 พ.ค. กกต. เชิญ 3 ผู้ร้องให้ตรวจสอบนายพิธาถือหุ้นไอทีวี มายืนยันคำร้องและให้ถ้อยคำเพิ่มเติม
  • 6 มิ.ย. "พิธา" แสดงความมั่นใจในหลักฐานของตัวเอง และมั่นใจว่า กรณีดังกล่าวจะไม่กระทบกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล แต่ต่อมาได้โอนหุ้นไอทีวีให้กับ "ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์" น้องชาย
  • 6 มิ.ย. ที่ประชุม กกต. เริ่มพิจารณาคำร้องขอให้ตรวจสอบว่านายพิธา มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และมาตรา 42 (3) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เนื่องจากถือหุ้นไอทีวีหรือไม่
  • 8 มิ.ย. คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี
  • 9 มิ.ย. ที่ประชุม กกต. มีมติไม่รับ 3 คำร้องขอให้ตรวจสอบกรณีการถือหุ้นไอทีวีของ "พิธา" ไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการยื่นเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่รับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 151 เหตุรู้อยู่แล้วว่า ไม่มีสิทธิ์สมัครแต่ยังฝืน พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนขึ้นมาดำเนินการ
  • 11 มิ.ย. มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นไอทีวี ประจำปี 2566 บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ถือหุ้นถามว่า "บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อ หรือไม่" ซึ่งประธานในที่ประชุม ให้ตอบว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน" ซึ่งถือว่าย้อนแย้งเอกสารการประชุมที่ระบุชัดทำสื่อตามวัตถุประสงค์ของบริษัท
  • 14 มิ.ย. "นิวัติไชย เกษมมงคล" เลขาธิการ ป.ป.ช. ยืนยัน "พิธา" ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมเมื่อปี 2562 พร้อมแนบคำสั่งศาลเป็นผู้จัดการมรดกหุ้นไอทีวีจริง พร้อมให้ข้อมูลดังกล่าวแก่ กกต. หาก กกต.มีการร้องขอ
  • 14 มิ.ย. "รัชพล ศิริสาคร" หรือ "ทนายรัชพล" ยื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อคัดค้านการดำเนินการสอบ "พิธา" เนื่องจากพบข้อขัดแย้งในตัวเอกสารที่ "เรืองไกร" นำมายื่นร้องตั้งแต่ต้น พร้อมขอให้ กกต.แจ้งความเอาผิด "เรืองไกร" ฐานร้องเรียนมั่ว
  • 28 มิ.ย. "เสรี สุวรรณภานนท์" ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เข้าหารือร่วมกับ กกต. พร้อมส่งข้อมูลจากการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี ให้ กกต. ใช้ประกอบการพิจารณา
  • 9 ก.ค. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กกต. สรุปผล หลักฐานและข้อกฎหมาย

    พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
  • 10 ก.ค. พรรคก้าวไกล ได้ส่งหนังสือด่วนไปถึง กกต. คัดค้านการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยกรณี "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนตามระเบียบ กกต. และมีความเร่งรัดเกินกว่าเหตุ
  • 11 ก.ค. ที่ประชุม กกต. พิจารณารายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 82 วรรคสี่หรือไม่
  • 12 ก.ค. ที่ประชุม กกต. มีมติ 4 ต่อ 1 เห็นว่าสมาชิกภาพของ "พิธา" มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สำหรับ 4 เสียงประกอบด้วย

  1. อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.
  2. ฐิติเชษฐ์ นุชนาฏ
  3. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์
  4. เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ

ส่วน 1 เสียง ที่ไม่เห็นด้วย คือ ปกรณ์ มหรรณพ

  • 17 ก.ค. เอกสารนัดประชุมศาลรัฐธรรมนูญหลุด โดยมีวาระประชุมพิจารณา เรื่อง กกต.ขอให้วินิจฉัย ตามมาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของพิธา สิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งมีการนัดหมายในวันที่ 19 ก.ค. 2566 โดยตรงกับวันโหวตนายกฯ หลังการโหวตครั้งแรกในวันที่ 13 ก.ค. 2566 ซึ่ง "พิธา" ได้เสียงสนับสนุนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา
  • 19 ก.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง พร้อมสั่ง "พิธา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ซึ่งเจ้าตัวก็ได้ประกาศอำลากลางสภาๆ จนกว่าจะพบกันใหม่
  • 15 ก.ย. "พิธา" ลาออกจากพรรคก้าวไกล 
  • 20 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญ นัดไต่สวนพยานบุคคล ซึ่งภายหลังการไต่สวน "พิธา" แสดงความพอใจเพราะกระบวนการเป็นไปตามความคาดหวัง แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะเป็นการละเมิดศาล
  • 21 ม.ค. 2567 พรรคก้าวไกล เผยแพร่คลิปวิดีโอความยาว 7 นาที เปิดข้อเท็จจริง พร้อมเชื่อมั่นว่า "พิธา" จะรอดพ้นจาก คดีหุ้นสื่อ ITV ด้วย หลักฐาน 6 ข้อ ดังนี้
  1. ไม่มีใบอนุญาตคลื่นความถี่ เนื่องจากไอทีวีถูกรัฐบาลไทยแจ้งยกเลิกสัญญาตั้งแต่ พ.ศ. 2550
  2. ภายหลังมีการออก พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ก่อให้เกิด “สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส” ส่งผลให้ไอทีวีต้องเลิกประกอบกิจการโทรทัศน์ รวมถึงยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับค่าเสียหายในศาลปกครองกับรัฐบาลไทยด้วย
  3. คิมห์ ประธานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ยืนยันต่อศาลว่าไอทีวีไม่มีพนักงาน ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ ไม่มีการทำสื่อ และยังไม่มีแผนจะทำสื่อ และถ้ายึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะศาลเคยเห็นว่าหากไม่มีรายได้จากการทำสื่อก็ไม่ถือเป็นสื่อ
  4. ไม่มีหลักฐานจดแจ้งการพิมพ์ จึงไม่อาจเป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นได้
  5. ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และสื่อโฆษณา จึงไม่อาจประกอบกิจการดังกล่าวได้
  6. ศาลปกกครองสูงสุดเคยชี้ว่าไอทีวีไม่ปรากฏหลักฐานการดำเนินการสื่อวิทยุโทรทัศน์แล้ว

"ไอทีวี" ยังเป็นสื่อมวลชน หรือไม่?

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจของไอทีวี ที่จดแจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2541 แจ้งวัตถุประสงค์ 45 ข้อ และเกี่ยวข้องกับสื่อ 5 ข้อ โดยไอทีวียังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มวัตถุประสงค์แต่อย่างใด จนถึงปัจจุบัน

ไอทีวีได้หยุดออกอากาศ หลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) มีหนังสือไปยัง บริษัท ไอทีวี จำกัด เพื่อบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ UHF (สัญญาเข้าร่วมงานฯ) พร้อมให้ระงับการออกอากาศมีผล วันที่ 7 มี.ค. 2550

ย้อนไทม์ไลน์คดี"พิธา"ปม"หุ้นไอทีวี"สู่บทสรุปที่ต้องจับตา

ไอทีวียังดำเนินกิจการอยู่

ขณะที่ "ทศพล ทังสุบุตร" อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุก่อนหน้านี้ว่า สถานะของ บมจ.ไอทีวี ปัจจุบัน "ยังดำเนินกิจการอยู่" ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสถานะอื่นใด เช่น จดทะเบียนเลิก พิทักษ์ทรัพย์ ล้มละลาย หรือถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน เป็นต้น

เมื่อสถานะ "ยังดำเนินกิจการอยู่" นิติบุคคลได้ถูกจัดตั้ง ยังมีตัวตนอยู่ตามกฎหมาย แต่ไม่ได้หมายความว่า นิติบุคคลนั้นมีการทำกิจการ หรือประกอบกิจการทางการค้าใดในความเป็นจริงอยู่หรือไม่ หากมีการประกอบกิจการในลักษณะใด จะแสดงข้อมูลผลการดำเนินการและฐานะการเงินในงบการเงินนั้น หากเปรียบเทียบกับสถานะของบุคคล เปรียบเสมือนบุคคลที่เกิดและยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาจจะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี ได้รายงานไว้ในงบการเงิน เกี่ยวกับรายได้ของไอทีวีในปี 2564 จำนวน 23,683,771 บาท เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจ มาจากผลตอบแทนมาจากเงินลงทุนและดอกเบี้ย ไม่มีรายรายได้จากการดำเนินธุรกิจสื่อ หรือกิจการอื่นใดปรากฏอยู่ในงบการเงินของบริษัท

ทั้งนี้ รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 ในวาระที่ 8.3 มีรายงานผลการพิจารณาเพื่อการลงทุนและหาทางเลือกในการดำเนินกิจการของบริษัทต่อไปและมีการประชุม เพื่อวางแผนการลงทุนในฐานะสื่อมาตั้งแต่ปี 2559 โดยไอทีวีได้ดําเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างการลงทุน และได้รับข้อเสนอจากบริษัทหนึ่ง ซึ่งประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิทัล แต่เมื่อบริษัทได้วิเคราะห์ถึงสภาพตลาด การแข่งขัน และข้อดีข้อเสียของการเข้าลงทุนตามข้อเสนอของบริษัทเป้าหมาย โดยรอบคอบแล้ว บริษัทไม่สามารถตอบรับข้อเสนอทางธุรกิจของบริษัทเป้าหมายได้

นอกจากนี้ ในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัทไอทีวี ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2560 บลจ.ภัทร ได้นําเสนอบริษัท เป้าหมายจํานวน 3 ราย ให้แก่คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอย่างเป็นทางการ พร้อมรายงานวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจและแนวโน้มของผลประกอบการในอนาคต ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทเป้าหมายที่ บลจ. ภัทร นําเสนอทั้ง 3 รายนั้น ตรงกับกรอบการลงทุนที่บริษัทได้กําหนดไว้ จึงมีมติเห็นชอบให้บลจ.ภัทร ดําเนินการนัดหมายเพื่อเจรจาการ ร่วมลงทุน แต่การเจรจากับบริษัททั้ง 3 รายไม่บรรลุผล เพราะไอทีวียังมีคดีความคงค้างกับ สปน.

ทัศนะทางกฎหมายของฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายตรงข้าม

ฝ่ายสนับสนุน ระบุว่า "พิธา" มีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น และไอทีวีก็ไม่ได้ดำเนินกิจการสื่อมาตั้งแต่ปี 2550 จึงไม่เข้าข่ายการถือหุ้นสื่อ

ฝ่ายตรงข้าม เห็นว่า การอ้างว่าเป็นหุ้นมรดก เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ทำตามกรอบระยะเวลาของกฎหมาย ในการเป็นผู้จัดการมรดก เพราะ "พงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์" บิดา "พิธา" เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2549 นับระยะเวลาจนถึงปัจจุบัน 17 ปี เป็นระยะอันสมควรที่ "พิธา" ในฐานะผู้จัดการมรดก ต้องดำเนินการจัดการกองทรัพย์มรดกจนแล้วเสร็จมาหลาย 10 ปี

ด้าน ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษา เห็นว่าการที่ "พิธา" โอนหุ้นให้ "ภาษิณ" ถ้า "พิธา" โอนในฐานะผู้จัดการมรดก ต้องระบุไว้ในหลักฐานการโอนว่า "พิธา" ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล ผู้โอน "ภาษิณ" ผู้รับโอน แต่ตามหลักฐานที่ "เรืองไกร" นำมาเปิดเผยระบุเพียงว่า "พิธา" ผู้โอน/ฝาก "ภาษิณ" ผู้รับโอน/ฝาก เท่านั้น

เมื่อหลักฐานเป็นเช่นนี้จึงต้องฟังว่า หุ้นดังกล่าวเป็นของ "พิธา" ไม่ใช่เป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง ทั้งนี้ แม้จะฟังว่าหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง "พิธา" ในฐานะทายาทของผู้เสีย ก็มีสิทธิ์ได้รับทรัพย์มรดกหุ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งที่ตกมาเป็นของ "พิธา" ตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 ม.ค. เวลา 12.45 น. โดย "พิธา" จะเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคดีหุ้นไอทีวีด้วยตัวเอง เมื่อผลสุดท้ายต้องจบด้วยศาลรัฐธรรมนูญ จึงต้องมาลุ้นกันว่าคำตอบเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร 
 

logoline