svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชำแหละ 7 ประเด็นชวนฉงน "ใครกันแน่" ถือครองหุ้นสื่อไอทีวี? 

18 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปมการถือครอง"หุ้นสื่อไอทีวี"ของ"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ที่อาจเข้าข่ายขัดคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ แม้ฝ่ายกฎหมาย"พรรคก้าวไกล"พยายามงัดเอกสารหลักฐานมาหักล้าง แต่ก็ยังมีข้อเคลือบแคลงชวนให้สงสัยถึง 7 ประเด็น

แม้ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีมติตีตกคำร้องของ"นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐที่ขอให้ตรวจสอบ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ ถือครองหุ้นสื่อไอทีวีเข้าข่ายขัดคุณสมบัติรับเลือกตั้งส.ส.หรือไม่ ไปแล้วก็ตาม

แต่กระนั้น การทำหน้าที่ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงก็ยังไม่จบ โดย "กกต."ยังคงเดินหน้าไต่สวนได้เอง เช่นเดียวกับ"ทีมข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี" ได้ตรวจสอบกับ "เรืองไกร  ลีกิจวัฒนะ" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นผู้ที่ยื่นคำร้องและพยานหลักฐานต่อ"กกต."ให้ไต่สวนการถือหุ้นไอทีวีของ"พิธา" รวมทั้งผู้รู้อีกหลายๆ คน ยังคงมีประเด็นข้อสงสัยที่มองว่า หลักฐานในเรื่องนี้ยังไม่เคลียร์อย่างน้อย 4 ประเด็น กล่าวคือ 

ชำแหละ 7 ประเด็นชวนฉงน \"ใครกันแน่\" ถือครองหุ้นสื่อไอทีวี? 

1.เอกสารรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ บมจ.006 ของบริษัทไอทีวี ระบุชื่อ"พิธา" ถือหุ้นนี้ จำนวน 42,000 หุ้น มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปี 2565 และ 2566 โดยไม่ได้มีวงเล็บ หรือข้อความต่อท้ายว่า ถือแทนในฐานะผู้จัดการมรดก  ในขณะนี้กรณีอื่นๆ ในบริษัทอื่นๆ หากเป็นการถือแทนในฐานะผู้จัดการมรดก จะมีวงเล็บเอาไว้ 

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ "ผู้รู้" บอกว่า หากไม่ได้มีวงเล็บเอาไว้ว่าถือแทนทายาทในฐานะผู้จัดการมรดก สมมติ"พิธา"เป็นอะไรไป หุ้นจะตกเป็นของ “ทายาทโดยธรรม” ของ"พิธา" ไม่ย้อนกลับไปกองมรดกอีก 

แต่มีข้อสังเกตอีกด้านหนึ่งว่า หากมีการนำคำสั่งศาลตั้ง"พิธา"เป็นผู้จัดการมรดกมายืนยัน อาจตีความได้ว่าเรื่องการไม่ใส่ข้อความเป็นวงเล็บเอาไว้ เป็นเพียง "เอกสารตกหล่น" ก็เป็นไปได้ ซึ่งในทางกฎหมายก็มีช่องทางนี้อยู่ 

 

ชำแหละ 7 ประเด็นชวนฉงน \"ใครกันแน่\" ถือครองหุ้นสื่อไอทีวี?  ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างการตรวจสอบประเด็นดังกล่าว  มีนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ช่วยให้ข้อมูลมาเพิ่ม(ตามเอกสารข้างต้น) ว่า "พิธาฝากหุ้นในลักษณะ scibeless ไม่ได้ฝากเป็นใบหุ้น จึงไม่มีตรงไหนสามารถระบุได้ ว่า เป็นผู้จัดการมรดก  ฉะนั้นจึงไม่มีระบุในวงเล็บในเอกสารรายชื่อผู้ถือหุ้นไอทีวี ว่าถือในฐานะผู้จัดการมรดก

2.ตลอดการถือครองหุ้นไอทีวี 16 ปีของ"พิธา" ในชื่อ "พิธา" ได้มีการเปลี่ยนที่อยู่อย่างน้อย 3 ครั้ง ซึ่งน่าจะต้องมีการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ แต่เหตุใดจึงไม่แจ้งบริษัทว่าตนถือหุ้นแทนทายาทในฐานะผู้จัดการมรดก โดยเฉพาะการแจ้งเปลี่ยนที่อยู่ครั้งหลังๆ เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ช่วงที่"พิธา"เป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่แล้ว ควรมีความระมัดระวังมากกว่านี้หรือไม่ เพราะ"ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคของ"พิธา" ก็หลุดจากตำแหน่งเพราะคดีหุ้นสื่อ 

 3.จำนวนหุ้นที่ถือครองในฐานะ "ผู้จัดการมรดก" มีเท่าไหร่กันแน่ เพราะในปี 2549 ที่บิดาของคุณพิธา เสียชีวิต หุ้นไอทีวีในความครอบครองมีอยู่ 12,000 หุ้น แต่ในปี 2550 หุ้นไอทีวีเพิ่มเป็น 42,000 หุ้น แม้จะยังอยู่ในชื่อบิดาของพิธาก็ตาม แต่ขณะนั้นบิดาเสียชีวิตแล้ว ทำให้เกิดคำถามว่า หุ้นเพิ่มขึ้นได้อย่างไร มีการซื้อเพิ่มตอนไหน และใครซื้อ 

แฟ้มภาพ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.เมื่อปี 62

4."พิธา" ยื่นบัญชีทรัพย์สิน หลังเข้าดำรงตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 62 ถึง 3 ครั้ง 

ยื่นตามรอบปกติ 1 ครั้ง เมื่อ 25 ส.ค.2562 

ยื่นเพิ่มอีก 2 ครั้ง ยื่นเพิ่มครั้งที่ 1 เมื่อ 6 ก.ย.2562 ซึ่งครั้งนี้มีการยื่นเพิ่มการถือครองหุ้นไอทีวี พร้อมๆ กับหุ้นตัวอื่นอีก 2 ตัว แต่มูลค่าไม่สูงนัก 

ยื่นเพิ่มครั้งที่ 2 เมื่อ 4 ต.ค.2562 เป็นการยื่นคำสั่งศาลที่ตั้งให้"พิธา"เป็นผู้จัดการมรดก

เป็นที่น่าสังเกตว่า การยื่นคำสั่งศาล ไม่ได้ยื่นพร้อมกับตอนยื่นเพิ่มหุ้นไอทีวี / และช่วงนั้นมีคดีหุ้นสื่อของคุณธนาธรแล้ว / จึงอาจมีคำถามเรื่องเจตนาการยื่นเอกสารเพิ่ม ในส่วนของผู้จัดการมรดก ว่าเป็นการยื่นมาเพิ่ม เพื่อไม่ให้หุ้นที่ยื่นเพิ่มเข้ามาก่อนหน้า มีปัญหาการถือครองหุ้นสื่อหรือไม่ 

5."พิธา"อ้างในคำชี้แจงต่อ ป.ป.ช. กรณียื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มว่า รับหุ้นมาเมื่อปี 2556 ทั้งๆ ที่เป็นผู้จัดการมรดกตั้งแต่ปี 2550 เหตุใดจึงเพิ่งได้รับหุ้นมา และหลังจากนั้นหุ้นเป็นของใคร เพราะมีชื่อคุณพิธาถือในนามส่วนตัว ตั้งแต่ปี 2550 ตามเอกสาร บมจ.006 

6.หาก"พิธา"มั่นใจว่าตนเองถือหุ้นแทนทายาท ในนามผู้จัดการมรดกมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ก็ไม่มีความจำเป็นต้องโอนหุ้นออก เมื่อ 25 พ.ค.2566 

การโอนหุ้นให้น้องชาย ทำให้เกิดคำถามว่า ในอดีต 16 ปีที่ผ่านมา เหตุใดจึงไม่โอน หรือแบ่งทรัพย์สินในส่วนนี้ (แม้จะเป็นเรื่องภายในครอบครัวของ"พิธา" แต่เมื่อมาเป็นบุคคลสาธารณะ สังคมย่อมตั้งคำถามได้) ยิ่งไปกว่านั้น ทรัพย์สินหลักๆของบิดานายพิธา ได้ถูกแบ่งไปหมดแล้ว โดยเฉพาะที่ดิน เหตุใดหุ้นจึงยังไม่ถูกแบ่ง ประเด็นนี้ศาลจะมองเป็นพิรุธหรือไม่ หากคดีหุ้นไอทีวีไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญ

7.คำสั่งศาลที่แต่งตั้งให้"พิธา" เป็นผู้จัดการมรดก ส่งผลดีต่อคดีหุ้นไอทีวีจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้พิสูจน์อะไรเลยว่า หุ้นถูกแบ่งไปเรียบร้อยแล้วหรือยัง โดยหุ้นอาจถูกแบ่งไปแล้ว และอยู่ในครอบครองของคุณพิธาเอง จึงมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นตลอดมา แต่เมื่อภายหลังเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง และได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่ม จึงต้องยื่นคำสั่งศาลมาประกอบ เพื่อป้องกันปัญหาการถือครองหุ้นสื่อเหมือนคุณธนาธรหรือไม่ (เพราะจะโอนออกก็ไม่ทันแล้ว) 

นี่คือ 7 ประเด็นที่ยังเป็นคำถาม หลายคนฟังแล้วอาจจะมองว่าไม่เป็นประเด็นสำคัญ แต่ในทางการเมือง ยังไม่มีใครทราบว่าหากคดีไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจะมองประเด็นเหล่านี้อย่างไร

ชำแหละ 7 ประเด็นชวนฉงน \"ใครกันแน่\" ถือครองหุ้นสื่อไอทีวี? 

logoline