svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พิธา-ก้าวไกล" ถึงฝั่งหรือไม่ คำตอบสุดท้าย อยู่ในมือ "ส.ว."

15 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไปๆ มาๆ "ฝ่ายที่กำหนดเกม" กำลังทำให้สังคม หรือแม้แต่พรรคก้าวไกล กับด้อมส้ม หลงประเด็นให้วุ่นวายฝุ่นตลบกันไปทั้งบ้านทั้งเมืองหรือไม่ เพราะสุดท้ายแล้ว "พิธา" จะได้เป็นนายกฯหรือไม่ และพรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับการโหวตของ "ส.ว." อยู่ดี

สมมติ"พิธา"หักด่านกฎหมาย (นิติสงคราม) ไปได้ทุกด่าน ก็จะเจอด่าน “ส.ว.” ที่รับรู้รับทราบกันอยู่ว่า “หินที่สุด” และเป็น “ค่ายกล” ที่ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ วางกับดักเอาไว้เป็น "ไม้ตายสุดท้าย"

ตัวเลขที่ยังถอดไม่สะเด็ด

"เนชั่นทีวี"ขอวาร์ปไปที่วันเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกนายกฯกันเลย ซึ่งก็คือการประชุมร่วมรัฐสภา

“พิธา” ต้องการเสียงสนับสนุน 376 เสียง ด่านแรกคือ ในวันนั้น ส.ส. 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะเหลือกี่เสียง

  • หากนับสถานะ ณ วันนี้ กกต.รับรอง ส.ส. 329 เขต นับเฉพาะ ส.ส.เขต หายไป 71 เขต เป็นฟาก “ว่าที่รัฐบาล” 26 เขต
  • สมมติว่าปาร์ตี้ลิสต์ไม่มีปัญหา 8 พรรครัฐบาลหายไป 26 ที่นั่ง จะเหลือ 286 ที่นั่ง ต้องหา ส.ว.เติมถึง 90 เสียง
  • แต่แน่นอนว่า จำนวน ส.ส.ที่ได้รับการรับรอง ย่อมไม่น้อยกว่า 475 คน มิฉะนั้นจะเปิดประชุมสภาฯไม่ได้ ฉะนั้นไม่ว่าจะอย่างไร เสียง ส.ส.ที่หายไปของฝั่งรัฐบาล จะต้องน้อยกว่า 26 เสียงแน่นอน

**จะหายไปเท่าไหร่ ก็ต้องหา ส.ว.มาเติมมากเท่านั้น ปัจจุบัน 312 ต้องหาเติม 64 ถ้าหายไปอีก 10 ก็ต้องหาเติม 74 ฯลฯ อย่างนี้เป็นต้น

คำถามคือ ส.ว.ที่จะโหวตมีกี่คน ส่วน ส.ส.นั้นไม่ต้องไปหวัง เพราะไม่มีใครกล้าไปโหวตช่วย ยกเว้นพรรคเล็ก 1 เสียงบางพรรคเท่านั้น เนื่องจาก “ฤทธิ์ด้อมส้ม” ที่เล่นงานพรรคชาติพัฒนากล้า ทำให้ทุกพรรคเข็ดขยาด

สถานการณ์ ณ วันนี้ นอกจากเหตุผลเรื่องบ้านเมืองควรมีรัฐบาลเร็วๆ แล้ว เหตุผลอื่นที่จะทำให้ ส.ว.โหวตให้ “พิธา”ดูจะยังไม่มีเลย

อย่างน้อย 5 เหตุผลที่ ส.ว.ไม่โหวตให้ “พิธา”

แต่ถ้าถามเหตุผลที่ ส.ว.จะไม่โหวตให้ หรือเป็นข้ออ้างในการไม่โหวต หรือปิดสวิตช์ตัวเอง จะพบว่ามีมากมาย อย่างน้อยๆ 5 เรื่องด้วยกัน คือ

1.ความไม่ชัดเจนเรื่องการไม่แก้ หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และประเด็นข้างเคียง

**ประเด็นข้างเคียง หมายถึงไม่ใช่แค่มาตรา 112 ที่ ส.ว.กังวล แต่ยังรวมถึงการตรวจสอบงบประมาณของสถาบัน และการกระทำอื่นๆ ที่พรรคก้าวไกลพยายามขับเคลื่อนมาตลอดด้วย โดยเฉพาะบทบาท ท่าทีการให้ท้าย “ม็อบที่ท้าทายสถาบัน”

เรื่องนี้พรรคก้าวไกล หรือ "พิธา" จะทำให้ ส.ว.หมดข้อสงสัย หมดกังวล แล้วโหวตให้ได้อย่างไร

2.หากระหว่างที่โหวต "พิธา" ถูก กกต.ร้องเรื่องคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หรือสั่งหยุดในสถานะหน้าที่ใดก็ตาม แต่ ส.ว.ก็อ้างได้ว่า "พิธา" มีปัญหาคุณสมบัติที่ต้องพิสูจน์ก่อน หากโหวตเป็นนายกฯไป มีคนไปร้องให้ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ก็จะสร้างความเสียหายให้บ้านเมือง และกระทบกับการบริหารราชการแผ่นดิน ฉะนั้นขอไม่โหวตให้

3.หากระหว่างโหวต "พิธา" ถูก กกต.ร้องทุกข์ดำเนินคดีตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา 151 (รู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติสมัครรับเลือกตั้ง..) แม้ศาลจะยังไม่พิพากษาถึงที่สุด แต่ ส.ว.ก็อ้างได้หรือไม่ว่า "พิธา" ไม่เหมาะสม ไม่สง่างาม มีมลทินมัวหมอง และอาจต้องสาละวนกับการไปโรงพัก ไปพบอัยการ ไปขึ้นศาล ฯลฯ เพื่อต่อสู้คดี แถมเป็นคดีส่วนตัว ฉะนั้นขอไม่โหวตให้

4.ยังมีความไม่ชัดเจนเรื่องบัญชีทรัพย์สิน และ"หุ้นไอทีวี" ซึ่งรอคำชี้ขาดขององค์กรอิสระที่รับผิดชอบ เพราะแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏชัดเจนขึ้น แต่หลายฝ่ายก็ยังตั้งข้อสงสัยในหลายประเด็น

***ล่าสุดมีการโยงประเด็นบริษัทของคุณพ่อของ"พิธา" ซึ่ง"พิธา"เคยบริหารและเป็นกรรมการจนถึงปี 2560 คือ บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ออยล์ ฟอร์ไลฟ์ จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากรำข้าว มียอดขาดทุนสะสม 424 ล้าน ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัทสัญชาติสิงคโปร์ โดยกรรมการผู้มีอำนาจรายหนึ่งในบริษัท มีสัญชาติสิงคโปร์ที่ว่านี้ กำลังถูกขุดคุ้ยประวัติ เพราะออกแนวเทาๆ

5.ประเด็นใหม่ แต่กำลังมาแรง คือ "ประชามติแยกดินแดน" ซึ่งโยงถึง 3 พรรคการเมือง "ว่าที่รัฐบาล" ทั้งก้าวไกล ประชาชาติ และเป็นธรรม

เปิดแผลใหม่สกัด"พิธา"

เมื่อวาน(14 มิ.ย.) "ข่าวข้นคนข่าว" นำเสนอข้อมูลเชิงลึกไปแล้วว่า ฝ่ายความมั่นคงเดินหน้าเอาผิด และดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องแน่นอน โดยชี้เป้าว่า มีนักการเมือง พรรคการเมืองอยู่ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง

วันนี้เราได้ข้อมูลเพิ่มมาอีกว่า คดีนี้ถูกเปิดแล้วในส่วนของอาญา และกำลังจะถูกเปิดในส่วนของคดีพรรคการเมือง

9 มิ.ย.66 "ศรีสุวรรณ จรรยา" ไปแจ้งความที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้เอาผิดคนจัดงาน และผู้ร่วมงาน "ประชามติเอกราช" ที่ ม.อ.ปัตตานี เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (กบฏ) และ 116 (ยุยงปลุกปั่น)

16 มิ.ย.66 "ศรีสุวรรณ จรรยา" เตรียมไปยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง 3 พรรค ว่าเข้าข่ายมีพฤติการณ์ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 22 และ 92 หรือไม่

มาตรา 22 คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ ฯลฯ แต่ไม่ปฏิบัติ กกต.มีสิทธิสั่งให้กรรมการบริหารพรรคพ้นจากตำแหน่งได้

มาตรา 92 มีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กกต.ชงเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคได้

***ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ งานนี้พรรคก้าวไกลอาจจะรอด เพราะตัวแทนพรรคก้าวไกลที่ได้รับเชิญไปเป็น "วิทยากรเอก" ของงานประชามติเอกราช แจ้งยกเลิกกะทันหัน แต่มีข่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงได้เก็บข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม ไม่ได้มีข้อมูลหลักฐานเฉพาะกิจกรรมของนักศึกษาวันที่ 7 มิ.ย.66 เท่านั้น

  • กิจกรรมวันสัมนา และแถลงการณ์สนับสนุนการทำประชามติ มีการถอดเทปไว้ทั้งหมดว่าใครพูดอะไรบ้าง (ซึ่งชัดเจนว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่ไม่มีคนของพรรคก้าวไกล)
  • การหาเสียง และปราศรัยต่างๆ ตลอดจนการร่วมกิจกรรมสัมนา เสวนา เวทีต่างๆ ของตัวแทนพรรคการเมือง มีการบันทึกเทปไว้หมดว่าใครพูดอะไรบ้าง (ส่วนนี้น่าจะมีคนของพรรคก้าวไกลด้วย)

***บางส่วนหมิ่นเหม่ขัดต่อกฎหมาย

***บางส่วนหมิ่นเหม่หาเสียงหลอกลวงประชาชน เพราะสิ่งที่ปราศรัยหาเสียง ไม่ได้ส่งเป็นนโยบายให้ กกต. เพราะบางนโยบายต้องแก้ไขกฎหมาย บางนโยบายต้องใช้งบประมาณ เช่น ถอนทหาร ยุบ กอ.รมน. ยุบ ศอ.บต. เป็นต้น โดยสิ่งที่หาเสียงบางส่วนก็หมิ่นเหม่ไปกระทบความมั่นคง คล้ายๆ ประชามติแยกดินแดนเหมือนกัน

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลอย่างน้อย 5 ข้อที่ ส.ว.สามารถนำมาอ้าง ไม่โหวตให้ “พิธา” เป็นนายกฯได้ ไม่ว่าจะเปิดโหวตกี่ครั้งก็ตาม (แม้ข้อ 5 จะยังไม่มีการยุบพรรค หรือเปิดคดียุบพรรค แต่ ส.ว.ก็อ้างได้)

เหมือนกับที่ "จตุพร พรหมพันธุ์" แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน พูดมาตลอดว่า ด่านสุดท้ายที่หินที่สุด คือ ส.ว. และ ส.ว.ไม่มีทางโหวตให้ "พิธา" แน่นอน

น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากนั้นการเมืองจะไปต่ออย่างไร ดีลลับที่ว่ามีหรือไม่ จะเปิดแบบไหนห้ามกระพริบ

logoline