svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ชัยธวัช"แจงยิบยันมีความพยายามปลุกผีไอทีวีเอาผิด"พิธา"สกัดนั่งนายกฯ

12 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชัยธวัช ตุลาธน" ร่ายยาวแจงปมหุ้นสื่อ ยันมีความพยายามแก้ไขบันทีกการประชุมเพื่อปลุกผีไอทีวี เอาผิด "พิธา" สกัดนั่งนายกรัฐมนตรี

12 มิถุนายน 2566 "นายชัยธวัช ตุลาธน" ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงถึงกรณีหุ้น ITV จากการนำเสนอข่าวของรายการ "ข่าว 3 มิติ" เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญ ดังนี้ 

(1) ความขัดแย้งระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 กับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท ในประเด็นที่ว่า ไอทีวียังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่

ทั้งนี้ ถ้าดูคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ซึ่งเกิดขึ้นหลังการรับสมัครเลือกตั้ง จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ในฐานะผู้ถือหุ้น ได้ถามในที่ประชุมว่าบริษัท ไอทีวี มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีหรือไม่ 

จากนั้น นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานในที่ประชุม ได้ตอบอย่างชัดเจนว่า "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ"

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กลับบันทึกไม่ตรงกับคลิปการประชุมอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ กลับบันทึกรายงานการประชุมว่า นายคิมห์ สิริทวีชัย ได้ตอบคำถามของนายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ว่า "ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ"

ขณะเดียวกัน หลังจากมีการจัดทำรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ออกมา "นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ก็ได้นำเอกสารนี้ไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการยื่นร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566

นายชัยธวัช กล่าวต่อว่า ก่อนที่นายเรืองไกร จะไปยื่นร้องต่อ กกต. นั้น "นายนิกม์ แสงศิรินาวิน" ผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพ พรรคภูมิใจไทย ได้โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กของตนเอง เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 ก่อนการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทไอทีวี 2 วันว่า "นักการเมืองที่กำลังถือหุ้น ITV เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต. ด้วยนะครับ หัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น"   

อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าวทำให้เป็นที่น่าสงสัยว่า มีการวางแผนจะให้ นายภานุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้นไอทีวีที่รับโอนหุ้นมาจากนายนิกม์ และยังเป็นผู้จัดการคลินิกของครอบครัวของนายนิกม์ด้วยนั้น ตั้งคำถามในที่ประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เพื่อต้องการให้ผู้บริหารของไอทีวีตอบว่า ไอทีวียังดำเนินกิจการสื่อมวลชนอยู่ ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ แต่เมื่อนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ตอบคำถามในที่ประชุมว่า ตอนนี้ไอทีวียังไม่มีการดำเนินกิจการสื่อ ภายหลังกลับมีการบันทึกการประชุมให้เข้าใจได้ว่า ปัจจุบันไอทีวียังดำเนินกิจการสื่ออยู่ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้ เข้าข่ายการทำรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเท็จหรือไม่ และถือเป็นการทำผิดกฎหมายอีกหลายฉบับ ใช่หรือไม่ 

"เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้มีอำนาจในบริษัทไอทีวี รวมทั้งนายจิตชาย มุสิกบุตร กรรมการผู้สอบทานและแก้ไขรายงานการประชุม ต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ชัดเจน อีกทั้ง เป็นที่น่าสังเกตว่า นายจิตชาย กรรมการผู้สอบทานและแก้ไขรายงานการประชุมนั้น ยังเป็นผู้บริหารสายงานกฎหมาย และเลขานุการบริษัทของ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไอทีวีอีกด้วย ทำให้มีคำถามว่า บริษัท อินทัช รับรู้หรือเกี่ยวข้องกับแก้ไขรายงานให้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในการประชุมด้วยหรือไม่" นายชัยธวัช กล่าว 

เลขาธิการพรรคก้าวไกล ย้ำว่า ประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นหนึ่งในข้อพิรุธที่นายพิธา ได้เคยตั้งคำถามไว้ว่า นี่คือความพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวีให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน เพื่อสกัดกั้นการจัดตั้งรัฐบาลตามฉันทานุมัติของประชาชนผ่านการเลือกตั้งใช่หรือไม่ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้อาจเข้าข่ายกระทำการอันเป็นเท็จ เพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัคร ส.ส. ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งมีความผิดตาม ม.143 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 

(2) ความขัดแย้งกันระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 กับแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 และเอกสารงบไตรมาสแรกปี 2566 ของไอทีวี

ถือข้อพิรุธอีกประการหนึ่ง เพราะหากพิจารณาใจความสำคัญของข้อความที่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นของไอทีวี กล่าวคือ แก้ไขคำตอบของ นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานในที่ประชุม ต่อนายภาณุวัฒน์ ขวัญยืน จาก "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ" กลายเป็น "ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ" นั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ส.บช.3 ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 ก่อนวันเลือกตั้ง 4 วัน และเป็นวันเดียวกับที่นายเรืองไกร ไปยื่นร้องต่อ กกต. หรือไม่

ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณา ส.บช.3 ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 จะพบว่ามีการระบุประเภทธุรกิจว่า "สื่อโทรทัศน์" และระบุสินค้า/บริการว่า "สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน" จากเดิมที่เอกสารงบการเงิน ส.บช.3 ของไอทีวีในปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า "กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก" แล้วในปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า "สื่อโทรทัศน์" โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า "ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ"

"การเปลี่ยนแปลงข้อความในแบบนำส่งงบการเงินครั้งหลังสุดของไอทีวีดังกล่าว ขัดแย้งกับการตอบของนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 ต่อข้อซักถามอีกข้อหนึ่งที่ว่า หากคดีความต่างๆ จบสิ้นเรียบร้อย บริษัทจะมีปันผลไหม บริษัทจะมีแผนการดำเนินงานธุรกิจต่อไป หรือจะเข้าตลาดหลักทรัพย์อีกหรือเปล่า บริษัทจะมีแผนชำระบัญชี หรือกิจการคืนเงินแก่ผู้ถือหุ้นหรือไม่" 

ที่บอกว่าขัดแย้งกัน เพราะนายคิมห์ได้ตอบข้อซักถามดังกล่าวว่า "ผลของคดีเป็นจุดสำคัญที่สุดของบริษัท ถ้าผลคดียังไม่ได้ออกมา มันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะดำเนินการใด ๆ กับไอทีวี ณ ขณะนี้นะครับ อย่างในอดีตที่ผ่านมา เราก็ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาดู option ต่างๆ ทางเลือกต่าง ๆ ก็ยังไม่มีทางเลือกใด ๆ ที่เหมาะสม ณ ขณะนี้ ฉะนั้น ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องรอผลของคดี ถ้าผลคดีสิ้นสุดลงแล้วทางบริษัทก็จะพิจารณาทางเลือกที่เหมาะสม ให้กับทางผู้ถือหุ้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิจารณา จะจ่ายเงินปันผลอย่างไร จะดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือจะชำระบัญชี อะไรยังไง ทางเราจะพิจารณาทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมด และเลือกทางเลือกที่เหมาะสมให้กับผู้ถือหุ้นต่อไปนะครับ"

สำหรับคำตอบของนายคิมห์ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น แสดงให้เห็นว่า ณ วันที่ 26 เม.ย. 2566 นายคิมห์ ในฐานะประธานที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น และประธานกรรมการบริษัท มิได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่ว่าไอทีวีประกอบกิจการ "สื่อโทรทัศน์" และมีรายได้จาก "สื่อโฆษณา" แต่อย่างใด แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรว่า แบบ ส.บช.3 ที่ไอทีวีนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2565 ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 จะระบุว่า รายได้ของไอทีวีในรอบปี 2565 มาจากสื่อโทรทัศน์ โดยมีสินค้า/บริการ คือ "สื่อโฆษณา" มิพักต้องกล่าวถึงกรณีที่นายคิมห์ได้ตอบผู้ถือหุ้นถึงแนวโน้มที่จะมีการชำระบัญชี ปิดบริษัทหลังจากทราบผลของคดีด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ ข้อพิรุธดังกล่าว ยังทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับรายงานงบแสดงฐานะการเงินไตรมาส 1/2566 ของไอทีวี (สามารถดูได้ในเว็บไซต์ https://www.intouchcompany.com/Download/itv/1Q66%20Draft%20ITV.pdf)  เพราะในหมายเหตุประกอบงบการเงินงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2566 หน้าสุดท้ายมีการระบุว่า "เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566"  

"คำถามคือว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ไอทีวีจะมีรายได้จากการเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา ในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 โดยวันประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เม.ย. 2566 ซึ่งก็อยู่ในช่วงไตรมาส 2/2566 ที่เป็นช่วงเวลาที่มีการรายงานงบ แสดงฐานะการเงินไตรมาส 1/2566 นายคิมห์กลับตอบคำถามว่าบริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ  ต้องรอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน" นายชัยธวัช ระบุ

ขณะเดียวกัน เป็นไปได้อย่างไรว่า หลังจากประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 เม.ย. ซึ่งประธานในที่ประชุมได้บริษัทไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสื่อ แต่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2566 กลับไประบุว่า "ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้โฆษณาลงสื่อโฆษณา จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 2 ของปี 2566"  ซึ่งข้อความดังกล่าวขัดแย้งต่อกับสิ่งที่นายคิมห์ กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน

เพราะถ้าไอทีวีมีแผนธุรกิจดังกล่าวจริง นายคิมห์ย่อมต้องแจ้งในที่ประชุมผู้ถือหุ้นตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ถึงความเป็นไปได้ในการมีแผนธุรกิจใหม่แล้ว แต่ปรากฏว่าหลังจากการประชุมผู้ถือหุ้น เพียง 2 วัน คือ วันที่ 28 เม.ย. 2566 คณะกรรมการบริษัทมีมติรับทราบแผนธุรกิจใหม่ ในช่วงไตรมาสที่ 2/2566 และบริษัทจะรับรู้รายได้ในไตรมาสเดียวกันทันที ซึ่งผิดวิสัยเป็นอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น 2 วัน นายคิมห์ ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ยังไม่เคยรับทราบความเป็นไปได้ในการดำเนินกิจการใด ๆ และยังให้ข้อมูลตอบผู้ถือหุ้นว่า จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใด ๆ 

"เรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ในแง่พฤติการณ์ ข้อเท็จจริง และช่วงระยะเวลาการเสนอแผนธุรกิจ รวมถึงการรับรู้รายได้จากแผนธุรกิจใหม่ มีความไม่สอดคล้องกันและขัดแย้งกันเองเป็นอย่างยิ่ง การดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวให้แตกต่างจากการตอบข้อซักถามตามคลิปการประชุมจึงไม่น่าจะใช่ความผิดพลาดโดยบังเอิญ หรือเป็นการจัดทำเอกสารรายงานการประชุมตามแบบแผนปกติ หากแต่เมื่อวิญญูชนได้ทราบถึงพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว ย่อมเกิดข้อสงสัยได้ว่า เป็นการจงใจแก้ไขให้สอดรับกับบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่ตกแต่งจัดทำขึ้นในภายหลังหรือไม่" นายชัยธวัช ระบุ 

(3) พรรคก้าวไกลขอยืนยันกับประชาชนว่า จะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องรักษาเสียงของประชาชน ผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศในระบอบประชาธิปไตยให้ได้ แม้จะมีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่มที่ต้องการจะใช้ประเด็นหุ้นไอทีวี เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่

อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกลยังเชื่อมั่นว่า อำนาจของประชาชนจะได้รับชัยชนะในที่สุด และ กกต.จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างบริสุทธิ์และยุติธรรมตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและศาลฎีกาที่ผ่านมา

ส่วนกรณีที่ กกต. อาจจะดำเนินคดีกับนายพิธาในอนาคต ตามความผิดฐานรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น พรรคมั่นใจว่า ข้อกล่าวหานี้ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอ เช่นเดียวกับที่อัยการสูงสุดได้มีคำสั่งไม่ฟ้อง "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ไปแล้วเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ในคดีหุ้นวีลัคฯ

 

logoline