svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พิธา"โอนหุ้นสื่อให้ทายาทหวังพ้นผิด ทว่ากลับพบข้อมูลใหม่ใน"ป.ป.ช."

11 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กูรูกฎหมาย ชำแหละปม"พิธา" โอนหุ้นสื่อไอทีวีให้ทายาท แม้ด้านหนึ่งมองว่าสามารถพ้นบ่วงกรรมคุณสมบัติการเป็นส.ส.ได้แต่ทว่ากลับตรวจพบข้อมูลใหม่ส่อปกปิดบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. หรือนี่จะเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ(มีคลิป)

แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะมีมติยกคำร้องการตรวจสอบคุณสมบัติส.ส.ของ"เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ไปแล้วก็ตาม แต่"กกต."ก็ยังทำหน้าที่เตรียมไต่สวนคุณสมบัติการเป็นส.ส. ของ" พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ " หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดต นายกฯ ได้เองต่อไป

โดยเฉพาะประเด็นการ "ถือครองหุ้นสื่อ" ที่ต้องมีคำตอบให้สังคมว่าจะทำให้"พิธา"ตกเก้าอี้นายกฯหรือไม่

ยิ่งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวจาก"พิธา" ด้วยการออกมายอมรับได้ทำการ"โอนหุ้นสื่อไอทีวี" ไปให้กับทายาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

\"พิธา\"โอนหุ้นสื่อให้ทายาทหวังพ้นผิด ทว่ากลับพบข้อมูลใหม่ใน\"ป.ป.ช.\"

ตรงนี้ยิ่งเท่ากับเป็นการเปิดประเด็นให้แวดวงนักกฎหมายถกเถียงกันอีกครั้งว่าการ "โอนหุ้นสื่อ" ให้ทายาทจะเป็นการทำให้พ้นบ่วงกรรมขัดคุณสมบัติการเป็นส.ส.ได้หรือไม่ หรือเป็นการตอกย้ำความผิดเข้าไปอีก

 

ก่อนหน้านี้ "ไพศาล พืชมงคล" อดีตกรรมการผู้ช่วยรมต.(รองนายกฯพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) มองว่า "พิธา" และที่ปรึกษากฎหมายเก่งมาก ที่หาช่องชี้แจงในเรื่องนี้ได้ แต่ประเด็นที่เป็นข้อควรระวัง จากคำชี้แจงที่ยังไม่ชัดเจนนักก็คือ สิ่งที่ดำเนินการคือการ "สละมรดก" หรือไม่ (เพราะไพศาล คาดการณ์ว่าเป็นการสละมรดก หรือสละสิทธิ์ในการรับมรดก โดยไปแจ้งต่อศาล เพื่อให้มีผลกลับไปถึงวันที่บิดาเสียชีวิต) 

ไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรมต.(รองนายกฯประวิตร วงษ์สุวรรณ)

-ถ้าเป็นการสละมรดก ทนายท่านนี้บอกว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1612 และ 1613 การสละมรดกนั้น จะกระทำเพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้  นั่นแปลว่า หากมีการสละมรดกจริง "พิธา"ต้องสละมรดกทั้งหมด จะเลือกบางส่วน บางเวลาไม่ได้ เท่ากับว่า"พิธา"ไม่มีสิทธิ์ในกองมรดกอีกเลย แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นหรือไม่ อยู่ที่การตกลงกันในครอบครัว ซึ่งคนนอกไม่อาจทราบได้

-ผลของการสละมรดก จะย้อนกลับไปตั้งแต่แรก คือวันที่บิดา "พิธา" เสียชีวิตทันที 

ตามกฎหมาย เมื่อเจ้ามรดกเสียชีวิต มรดกจะตกแก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย หรือตามพินัยกรรมทันที จนกว่าจะมีการโต้แย้ง หรือตกลงแบ่งมรดกกันในหมู่ทายาท ฉะนั้น "การสละมรดก"ของทายาท จะย้อนกลับไปมีผลตั้งแต่เริ่มต้น 

-ถ้าการสละมรดก หมายรวมถึง"หุ้นไอทีวี" ความหมายคือ "พิธา" ไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี ตั้งแต่ต้น ตามที่"ไพศาล"บอก

 

พบข้อมูลใหม่ ส่อปกปิดบัญชีทรัพย์สิน

ขณะที่ "ประพันธ์ุ คูณมี"  มือกฎหมายแถวหน้าผู้ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องพินัยกรรมของบุคคลสำคัญและเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่เตรียมโหวตชี้ชะตานายกรัฐมนตรี  ให้ความเห็นในมุมกฎหมายว่า ตอนนี้ต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นข้อยุติก่อน กรณีหุ้น itv ตั้งแต่บิดาของ"พิธา"เสียชีวิต หุ้น itv จำนวน 42,000 หุ้นอยู่ในความครอบครองของ "พิธา" ที่ถือในนามชื่อของ"พิธา"มาโดยตลอด

กระทั่งก่อนถึงวันที่ "พิธา" จะโอนไป ซึ่ง"พิธา"เป็นคนแถลงเองว่า โอนไปเมื่อเดือนพฤษภาคม จำวันที่โอนไม่ได้ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ประเด็นจึงมีอยู่ว่า มีคนไปให้ข้อแนะนำ"พิธา"ว่าให้โอนส่วนนี้ไปให้ทายาท แต่ทีนี้โดยอ้างว่าไม่ใช่การขาย ทำไมจึงใช้คำว่าโอนไม่ใช่การขาย เพราะถ้าขายจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถึงจะขายได้ถูกไหมครับก็เลยใช้คำว่า"โอน"

คำว่า"โอน"ก็คือ ใช้อธิบายขยายความต่อไปว่า เป็นการโอนในฐานะผู้จัดการมรดก จัดการโอนไปให้ทายาท โดยตัวเอง "สละมรดก" เพราะฉะนั้นจึงโอนไปให้ทายาท ไม่ประสงค์ที่จะรับมรดกส่วนนี้ เพื่อจะอ้างว่ามีผลว่า"การสละมรดก"จะได้มีผลนับไปถึงวันตั้งแต่บิดาเสียชีวิต ซึ่งอันนี้ก็เพื่อที่จะบอกกับสังคมว่า มรดกอันนี้ตัวเองไม่เคยเป็นผู้ถือครองมาก่อน ตั้งแต่บิดาเสียชีวิต หวังจะลบล้างว่าระหว่างที่ถือครองมาตั้งแต่ปี 49 มาจนถึงปัจจุบัน ตัวเองไม่เคยถือครองหุ้นดังกล่าวนี้เลย มีคนมาอธิบายแบบนี้ แล้ว"พิธา"ก็อธิบายแบบนี้ในจดหมายของที่เขาโพสต์ในอินสตาแกรมพูดคุยกับสื่อ

"ประพันธุ์" มือกฎหมายที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พินัยกรรมแบ่งมรดกของคนตระกูลไฮโซดังขณะนี้ ยังอธิบายต่อไปว่า คราวนี้ก็มีปัญหาว่าที่จะอธิบายอย่างนี้จะทำให้ตัวเองพ้นผิดไหม 

1. ก่อนอื่น ก็คือ ผมก็บอกว่าถ้าจะบอกว่าเป็น"การสละมรดก" ไม่เข้าองค์ประกอบทางกฎหมายของ"การสละมรดก" เพราะการสละมรดกก็คือ 1. คุณจะสละมรดกเพียงบางส่วนไม่ได้ สละมรดกโดยมีเงื่อนไขไม่ได้ ถ้าสละมรดกคุณก็ต้องสละหมด 

2. ประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 1612 บอกอยู่แล้วว่า ถ้าจะสละมรดกตรงนี้ คุณต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือมอบให้กับเจ้าพนักงานหรือทำเป็นสัญญาประนีประนอม ซึ่งสัญญาประนีประนอมก็คือทำกับทายาทว่าตัวเองประสงค์สละมรดก จึงจะฟังขึ้น

คราวนี้ปัญหาคือ 2 อย่างนี้ ไม่เข้าองค์ประกอบเลย จะเอาข้ออ้างอันนี้มาใช้เป็นข้ออ้างตัวเองว่าตัวเองได้สละมรดกมีผลไปถึงอดีตจึงฟังไม่ขึ้น

คราวนี้ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ คือเมื่อผมไปดูในบัญชีทรัพย์สินคุณพิธา บอกว่าได้รับมรดกเป็นที่ดินมา 2 แปลง ที่ดินหนึ่งรู้สึกจะเป็นที่ดินทรัพย์สิน ที่ดินหนึ่งรู้สึกจะอยู่ที่หุบกะพง "พิธา"แจ้งรายการบัญชีทรัพย์สิน กับ ป.ป.ช. ว่าอันนี้เป็นที่ดินที่ได้รับมาโดยมรดก ก็ยิ่งทำให้เป็นหลักฐานมัดตัว"พิธา"เข้าไปอีกว่าแสดงว่าคุณมีการแบ่งทรัพย์มรดกกันไปเรียบร้อยตั้งนานแล้ว"

ประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา

"ถ้าคุณไม่ได้รับแบ่งที่ดินและแบ่งทรัพย์สินมา คุณจะมา ระบุหรือว่าส่วนนี้ รับโอนมรดกมาแล้วไปแจ้งบัญชีทรัพย์สินใช่ไหม แล้วหุ้นตัวนี้ก็ถืออยู่ในนามชื่อคุณตลอดแสดงว่าหุ้นก็เป็นส่วนหนึ่งของมรดกที่คุณได้รับมานั่นแหละ เพราะถ้าจะถือในนามผู้จัดการมรดก ต้องมีวงเล็บ ถือในนามผู้จัดการมรดกหรือแทนทายาท"

ยิ่งมาพิจารณาแล้ว ระยะเวลา 17 ปี มาแล้ว จะมาถือแทนทายาท 17 ปี เฉพาะหุ้นสื่อตัวนี้เป็นไปได้อย่างไร ก็ขัดแย้งกับที่ดินตามที่คุณแจ้งในบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ก็แบ่งแล้ว ทรัพย์สินอื่นๆคุณก็ได้มาแล้ว

ตลอดเวลา 17 ปี ไม่มีคดีเรื่องมรดก ข้อพิพาทระหว่างพี่น้อง ว่าการแบ่งทรัพย์สินยังไม่เสร็จสิ้น เพราะฉะนั้นข้ออ้างที่จะนำมาอ้างว่า สละมรดกแล้ว ตัวเองไม่เคยถือครองทรัพย์มรดกนี้มาก่อนในทางกฎหมาย ประมวลแพ่งมันก็ฟังไม่ขึ้น"

ในทางหลักฐานข้อเท็จจริง ก็ปรากฏอยู่แล้ว ว่าตัวเองได้รับโอน แบ่งมรดกมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะมาสละมรดก เฉพาะหุ้น itv 42,000 หุ้น และจะมาสละเมื่อเดือนพฤษภาคม ยิ่งฟังไม่ขึ้นใหญ่"

"เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าจะหวังผลเลิศ ว่าการสละมรดกนี้จะเป็นข้อต่อสู้ที่ลบล้างให้ศาลเชื่อว่าตัวเอง ไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นสื่อเลย ในทางกฎหมายไม่น่าจะฟังขึ้นและไม่มีน้ำหนัก"

ประพันธุ์ คูณมี  มือกฎหมายและสมาชิกวุฒิสภา

"คงหวังแผนสองไม่มีหุ้นแล้วไม่ขัดคุณสมบัติโหวตนายกฯ"

"ประพันธุ์"  ยังบอกต่อไปว่า แต่ถ้าจะโอนหุ้นออกไปเพื่ออะไร เพื่อว่าถ้าเกิดมีการโหวตเลือกนายกรอบที่หนึ่ง แล้วตัวเองไม่ผ่านก็จะได้โอนในรอบต่อไป เสนอชื่อในรอบที่สองได้ว่า ผมไม่ได้มีหุ้นถือแล้ว ไม่ได้ขาดคุณสมบัติแล้ว อาจจะหวังผลอย่างนี้ก็ได้

แต่ว่ามันก็มีปัญหาอีก เพราะว่าการกระทำความผิดฐานเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกมันขัดกับกฎหมาย ตั้งแต่ตอนที่คุณมีหุ้นแล้ว ถ้าคุณเป็นผู้ถือหุ้นสื่อ มีคุณสมบัติ ที่ไม่ใช่ รัฐธรรมนูญมาตรา 98 แล้ว คุณก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะสิทธิ์เป็นผู้มีรายชื่อ เป็นผู้เสนอชื่อเป็นนายก เพราะคุณสมบัติคนที่จะเป็นนายก ก็ต้องไม่ขัดคุณสมบัติตาม มาตรา 98 วงเล็บ 3 ด้วย

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต.

ด้าน"สมชัย ศรีสุทธิยากร" อดีต กกต. โพสต์ข้อความก่อนที่"พิธา"ชี้แจงในเฟซบุ๊ก มีประเด็นน่าสนใจไม่แพ้กัน  

-การโอนหุ้นหลังการสมัคร ส.ส. ไม่ส่งผลต่อรูปคดี เพราะหากการถือหุ้นผิด ก็ยังคงผิด หากไม่ผิดก็คือไม่ผิด

-การขายหรือโอนหุ้น คล้ายยอมรับว่าน่าจะผิด จึงขายทิ้งหรือโอนก่อนเลือกนายกฯ

"เครื่องจักรของอำนาจเดิมกำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อต้านทานการเปลี่ยนแปลงของสังคม เตือน อย่าประมาทว่าเป็นเครื่องเก่า กำลังผุพัง ล้าสมัย เพราะมันยังทำงานของมัน ไม่เคยหยุดนิ่ง" สมชัย กล่าว

\"พิธา\"โอนหุ้นสื่อให้ทายาทหวังพ้นผิด ทว่ากลับพบข้อมูลใหม่ใน\"ป.ป.ช.\"

หลากมุมมองจากนักกฎหมาย ทำให้เห็นว่า ความพยายาม"พิธา"ในการโอนหุ้นสื่อให้ทายาทเหมือนกำลังต้องการปิดจุดอ่อนและยังคาดหวังผลเลิศในขั้นสองคือโหวตนายกฯโดยอ้างว่าไม่มีหุ้นแล้ว แต่อีกด้านมองได้ว่า หรือนี่เป็นการขว้างงูไม่พ้นคอกันแน่ตอกย้ำความผิดเข้าไปโดยเฉพาะปมการพบว่าไม่ได้แจ้งการถือครองหุ้นสื่อต่อป.ป.ช.เมื่อครั้งเป็นส.ส.เมื่อปี 2562  

แม้ว่า "พิธา"จะทำการโอนหุ้นสื่อไอทีวีให้ทายาท โดยประหนึ่งเชื่อได้ว่า ตนเองจะสามารถรอดพ้นความผิด แต่อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญมาตรา  98 วงเล็บ 3 เขียนแค่ว่า ไม่ได้เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อ ไม่ได้บอกจำนวนหุ้น หรือแม้แต่สิทธิในการจัดการหุ้น รวมถึงอำนาจการจัดการในกิจการสื่อนั้น  

แม้จะมองว่ากฎหมายเขียนไม่ครอบคลุม แต่เมื่อกฎหมายบัญญัติไว้แบบนี้ ยังไม่แก้ไข ก็ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นผู้ให้คำตอบ พิธา จะได้ไปต่อหรือหยุดเส้นทางสู่เก้าอี้นายกฯเพียงเท่านี้

 

ชมคลิป >>> โอนหุ้นสื่อหวังพ้นผิดหรือขว้างงูไม่พ้นคอ 

 

logoline