svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ผู้ประกอบการรถบรรทุก โวย สมาพันธ์การขนส่งทางบกฯ เห็นแก่ตัว

06 มิถุนายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้ประกอบการขนส่งและบรรทุก ซัด สมาพันธ์การขนส่งทางบกฯ ปมปราบส่วยสติ๊กเกอร์ ระบุ เห็นแก่ตัว ไม่คิดถึงผลกระทบผู้ประกอบการรายย่อย ชี้ ปัญหากม.หมายล้าหลัง-คุณภาพชีวิตข้าราชการระดับล่างแย่ แนะ เร่งแก้ก่อนธุรกิจเจ๊ง

6 มิถุนายน 2566 จากกรณี นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ออกมาเปิดโปง ส่วยทางหลวงหรือส่วยสติ๊กเกอร์ และได้มีการพบปะหารือกับ สมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดมีสมาชิกสมาพันธ์การขนส่งทางบกฯบางส่วน ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงพรรคก้าวไกล เพื่อให้ตรวจสอบผู้บริหารสมาพันธ์ฯตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้ว

ผู้ประกอบการขนส่งและรถบรรทุกรายหนึ่ง เปิดเผยกับ “เนชั่นทีวี” ว่า คนที่น่าเห็นใจที่สุดในตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้น "ผู้ประกอบการรายย่อย" ที่กู้หนี้ยืมสินเข้ามาทำธุรกิจรถบรรทุก หวังเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี บ้างก็ต้องหาเงินส่งลูกเรียนมหาลัย บ้างก็เลี้ยงดูครอบครัวที่ต่างจังหวัด บ้างก็ต้องหาเงินค่ารักษาของพ่อแม่ที่แก่ชรา ซึ่งคนเหล่านี้เข้าทำธุรกิจ "ตามกติกาของธุรกิจ" แต่กติกานั้นมันไม่ถูกกฎหมาย

ถามว่าทำไมไม่ทำให้ถูกกฎหมาย

คำตอบ : ถ้าถูกกฎหมายแต่ไม่เข้ากติกาของธุรกิจ มันก็เริ่มไม่ได้ตั้งแต่แรก กติกาที่บิดเบี้ยวนี้ มันมีมานานเกิน 30 ปีจนทุกคนต้องฝืนใจยอมรับมันและที่เป็นตลกร้ายกว่านั้น

"กลุ่มคนที่เรียกร้องให้ทำตามกฎหมายในวันนี้คือ คนกลุ่มเดียวกันที่มีส่วนสร้างกติกาที่บิดเบี้ยวขึ้นมา"

รายเล็กรอวันล่มสลาย

ดังนั้นไม่ต้องห่วงรายใหญ่ อย่างไรก็เอาตัวรอดได้ แต่ควรเห็นใจรายย่อย ที่ไม่มีโอกาสทางสังคม เพราะหลังจากที่สมาพันธ์ฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องกับพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนส่งและรถบรรทุก รายย่อยที่มีรถ 3-5 คัน ต้องจอดรถ ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้กว่า 500,000 คัน เหมือนลูกจ้างรายวัน ถ้าหยุดก็ไม่มีเงินใช้จ่ายในครัวเรือน ไม่มีเงินผ่อนรถ ซึ่งไม่เคยมีใครดูแลหรือพูดถึงกลุ่มคนเหล่านี้มาก่อน

การแก้ปัญหาส่วยสติ๊กเกอร์ ต้องแก้ที่กฎหมายที่ล้าสมัย ไม่ทันต่อรูปแบบขนาดบรรทุกและราคาของรถ ซึ่งกฎหมายน้ำหนักบรรทุก ใช้มากว่า 30 ปี กำหนดกำลังแรงม้ารถที่ 180 และราคาขณะนั้นประมาณ 1.3 ล้านบาท ในขณะที่ปัจจุบันกำลังแรงม้ารถ 300 แรงม้า ราคา 3.5 ล้านบาท อีกทั้งโทษแบกน้ำหนักเกินเป็นคดีอาญา รุนแรงมาก

วิธีแก้ปัญหาส่วย

ดังนั้นการแก้ปัญหา คือ ระยะยาว

      1.แก้กฎหมายเพื่อจูงใจไม่ต้องจ่าย ส่วย โดยขยับการบรรทุกเพิ่มขึ้น แต่ไม่ให้กระทบกับโครงสร้างของถนนและสะพาน

      2.ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้รับส่วย หรือเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะในระดับล่าง ซึ่งปัจจุบันมีคุณภาพชีวิตที่แย่มาก มีใครเคยลงไปดูหรือไม่ เพราะทุกคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด

ผ่อนผันการบรรทุกน้ำหนัก

ส่วนการแก้ปัญหาระยะสั้น ควรจะมีการอนุโลมให้รถบรรทุกในทุกขนาด บรรทุกน้ำหนักได้เต็มพิกัด แต่ไม่กระทบต่อระบบโครงสร้างของถนนและสะพาน ซึ่งเคยทำมาแล้วในช่วงปี 2555 ที่กรมทางหลวงได้เคยผ่อนผันและยกเลิกประกาศในปี 2556

“เพราะถ้ารถบรรทุกสามารถแบกน้ำหนักได้ตามพิกัดของรถ ก็ไม่มีใครอยากจ่ายส่วย การที่สมาพันธ์ฯ ยื่นเรื่องให้กับพรรคการเมืองปราบส่วย เพราะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยไม่คิดถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย ขณะนี้รถจอดมา 5 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.และภายใน 2-3 เดือน หากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อาจจะต้องขายรถ ถ้าพิจารณาให้ดี เหมือนเป็นการกีดกันทางการค้ารายย่อย”

เจรจาสถาบันการเงินพักชำระหนี้

นอกจากนี้ รัฐควรคุยกับสถาบันการเงิน ในการพักชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการรถขนส่งและรถบรรทุกรายย่อยได้หรือไม่ เช่นเดียวกับช่วงโควิด

"อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหา เรื่องการรับส่วย จากการบรรทุกน้ำหนักเกินมีมานานแล้ว และทำไม่สำเร็จสักครั้ง แต่ระบบเศรษฐกิจของผู้ประกอบรายย่อยพังไปแล้ว เสียไปแล้ว ถ้าครั้งนี้ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ก็จะกลับเข้าไปสู่ระบบเดิมอีก เพราะทุกคนต้องดิ้นรนเอาตัวรอด"

logoline