svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พลิกตำนาน "ฉีกสัตยาบัน"กลเกม พันธะสัญญา ร่วมรัฐบาล ที่อยู่เหนือหน้ากระดาษ

24 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้การลงนาม "MOU" จัดตั้งรัฐบาล ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพของความชื่นมื่น แต่เมื่อส่องไปยังหลังม่าน เริ่มเห็นร่องรอยปริแยก หรือนี่จะซ้ำรอยเหตุการณ์ในอดีตที่มีการ "ฉีกสัตยาบัน"

ภาพการจับมือร่วมกันแถลงข่าวของ 8 พรรคการเมือง พร้อมกับการลงนามใน "MOU" สนับสนุน "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศ ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

นับเป็นความพยายามที่ต้องการสื่อสารออกสู่สายตาสาธารณะทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันว่า กลุ่มนักการเมืองที่ได้อำนาจจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ประสบผลสำเร็จในการฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลเตรียมบริหารประเทศ 

22 พ.ค. 66  พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและ 7 พรรคร่วม แถลงลงนามเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล

พลันที่การแถลงและร่วมกันถ่ายภาพท่ามกลางบรรยากาศชื่นมื่นยิ่งนัก แต่หลังม่านกลับปรากฎสภาพความอึดอัดคับข้องใจ ผ่านกลุ่มคนในพรรคร่วม จนอาจลุกลามบานปลาย ถึงขั้นประเมินว่า การฟอร์มรัฐบาลครั้งนี้ไปไม่ถึงฝั่งและ"เอ็มโอยู"ที่ลงนาม ถ่ายภาพสวยหรูอาจไม่มีความหมาย    

ร่องรอยความปริร้าว ปรากฎขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเป็นกรณี "ปิยบุตร แสงกนกกุล" อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่และเลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความ ไม่เห็นด้วยที่ มีการปรับแก้ไขเนื้อหาใน "MOU" ในสองประเด็นสำคัญ ไม่ว่าเป็น กรณี "การแก้ไขมาตรา 112"  หรือ "การนิรโทษกรรม" ที่หายไป ซึ่ง"ปิยบุตร"มองว่า จะเป็น"บ่วงรัดคอ"พรรคก้าวไกลในอนาคต 

23 พ.ค. 66 ศิริกัญญา  ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรค ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการคมชัดลึก

"ศิริกัญญา ตันสกุล" รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคก้าวไกล ยอมรับผ่านรายการ"คมชัดลึก" เนชั่นทีวี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ว่า การแถลงเอ็มโอยูเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ต้องล่าช้าไปกว่ากำหนดเพราะตัวแทนพรรคร่วมขอปรับแก้ไข ซึ่งถ้าการแก้ไขไม่เป็นตามที่ต้องการ อาจต้องเลื่อนการแถลงออกไป อีกทั้งยอมรับ การเพิ่มเติมข้อความ "ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข..." เป็นข้อเสนอจากพรรคร่วมให้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปด้วย    

ไม่เพียงเท่านั้น "ปิยบุตร" ยังโพสต์ข้อความอย่างตรงไปตรงมาอีกครั้งด้วยการเรียกร้องให้"พรรคก้าวไกล"ยอมไม่ได้อีกแล้ว ต้องรักษาเก้าอี้ประธานสภาฯ ห้ามให้ใครเด็ดขาด 

ปิยบุตร  แสงกนกกุล  อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความเตือนก้าวไกล ถอยไม่ได้อีกแล้ว โดยเฉพาะการยกเก้าอี้ประธานสภาให้พรรคอื่น

ถ้อยความของ "ปิยบุตร" ซึ่งถือเป็นแกนนำนอกสังเวียนเลือกตั้ง แต่ยังเป็นกรูรูคอยวางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนให้แกนนำแถวสอง ที่มี"พิธา" ว่าที่นายกฯ คุมกลไกพรรคก้าวไกลอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่อาจทำให้คนในก้าวไกลละเลยที่จะรับฟัง เพราะพรรคก้าวไกลถูกสร้างฝันกันมาตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ ด้วยการทำภารกิจสำคัญไปสู่เป้าหมายเปลี่ยนแปลงประเทศ 

การส่งสัญญาณของ "ปิยบุตร" มาถึง คนแถวสองของ"พรรคก้าวไกล" (อนาคตใหม่ ) ดูจะเป็นคำสั่งประกาศิตชนิดที่ "พรรคก้าวไกล" ถอยไม่ได้อีกแล้ว หลังจากยอมถอยปรับแก้ไขเอ็มโอยู ตามที่พรรคร่วมต้องการ

ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  แถลงจุดยืนถึงการเลือก"ประธานสภาฯ"

ขณะที่ฟากของ"พรรคเพื่อไทย" ออกมาเปิดหน้าแสดงจุดยืนกันอย่างชัดเจนว่า "เพื่อไทย"ต้องการเก้าอี้ประธานสภาฯเช่นเดียวกัน  ไม่ว่าเป็น "นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" หัวหน้าพรรค หรือ "นายอดิศร เพียงเกษ"  สมาชิกพรรค ที่ถึงขนาดระบุว่า  หาก"ก้าวไกล"ยังดึงดันต้องการเก้าอี้ประธานสภา อาจทำให้ "เพื่อไทย"กับ"ก้าวไกล" ร่วมกันทำงานลำบาก แปลกันตรงๆ ตามประสานักเลงการเมือง "ขอถอนตัว" ดีกว่า 

"ก้าวไกล" รับรู้สัจธรรมทางการเมืองที่กำลังถูกหยิบยกมากล่าวถึงในขณะนี้  "ก้าวไกลจำเป็นต้องมีเพื่อไทย แต่เพื่อไทยไม่จำเป็นต้องมีก้าวไกล"

ฉะนั้นกรณีตำแหน่ง"ประธานสภาฯ" จึงเหมือนเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ในจังหวะการเจรจาต่อรองระหว่าง"พรรคก้าวไกล"กับ"พรรคเพื่อไทย"  ที่อาจเป็นตัวชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงสมการทางการเมืองในไม่ช้า 

เมื่อเป็นประการฉะนี้ การสร้างภาพลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ"เอ็มโอยู" จัดตั้งรัฐบาล อาจไม่มีความหมาย 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง>>>

ย้อนกลับไปในอดีต เหตุการณ์ที่มีลักษณะของการลงนามจะเป็น"เอ็มโอยู" หรือ จะให้เรียกว่า "สัตยาบันทางการเมือง" เคยมีมาก่อนหน้านี้ 

"สัตยาบันที่ทำกันตั้งแต่สมัย 2534 มีนักการเมืองหลายท่านลงสัตยาบันกัน ทั้งนายมนตรี พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคกิจสังคม นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ลงสัตยาบันจะตั้งพรรคการเมืองกัน และจะตั้งรัฐมนตรีกัน ท้ายที่สุดแล้วก็ฉีกสัตยาบันทิ้ง นี่คือวาทะการเมือง เกมของการเมือง เป็นกิจกรรมเป็นของทางการเมือง ซึ่งถูกชี้นำแนะนำโดยนักการเมืองแบบเดิมๆ หรือพวกซ้ายตกขอบ"  คำกล่าวของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์  ผบ.ทบ.ขณะนั้น กล่าวไว้เมื่อปี 2562 

ย้อนกลับไปเมื่อปี  2556  ชนวนร้อนการเมืองถูกจุดขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีความพยายามเสนอเสนอ "ร่างกม.นิรโทษกรรม" สร้างความไม่พอใจทั้งภายในและนอกสภา ทำให้ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรค ขณะนั้น ประกอบด้วย "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" หัวหน้าพรรคเพื่อไทย "ธีระ วงศ์สมุทร" หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา "นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล" หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล ได้ลงนามเป็น"สัตยาบัน" 

โดยขอถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง รวมทั้ง 6 ฉบับออกจากวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจะไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ซึ่งมีหลักการทำนองนี้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นร่างฉบับใดๆ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม" เป็นชนวนเหตุทางการเมืองที่บานปลายจนทำให้เกิดการชุมนุมของ "กลุ่ม กปปส.” และนำมาสู่การรัฐประหารปี 22 พ.ค. 2557  เห็นได้ว่า"สัตยาบัน" ดังกล่าวไม่มีผลต่อการเมือง เนื่องจากมา กระทำภายหลังที่โหวตผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมไปแล้ว

ผ่านมาถึงปัจจุบัน ทีมข่าว"ผ่าสมรภูมิเลือกตั้ง เนชั่นทีวี" เคยสัมภาษณ์ "ชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรคก้าวไกล ก่อนเลือกตั้ง 2566 "ชัยธวัช" ยอมรับว่าในครั้งการเลือกตั้งปี 2562  "พรรคเพื่อไทย" เดินหน้าลงสัตยาบันพรรคอนาคตใหม่และพรรคการเมืองอื่นๆจัดตั้งรัฐบาล แต่สุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จ แต่สำหรับการเลือกตั้ง 66 เรามั่นใจว่า"พรรคก้าวไกล"ชนะเลือกตั้งได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาล  เราจะมีการทำ"เอ็มโอยู" ร่วมกับพรรคการเมืองต่างๆจัดตั้งรัฐบาลซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่เราคิดไว้เพื่อให้สาธารณชนเห็นแผนงานการทำงานให้กับพี่น้องประชาชน 

ยามนี้  "ก้าวไกล"ได้บรรลุเป้าหมายไประดับหนึ่ง ด้วยการเชื้อเชิญ 7 พรรคการเมือง มาร่วมลงนาม"MOU จัดตั้งรัฐบาล" มีการบันทึกภาพ ถ่ายทอดออกสู่สายตาชาวโลก แต่จะรักษาเอกสารฉบับนี้ไว้ได้นานขนาดไหน หรือซ้ำรอยเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต

"เซ็นแล้วก็ฉีกได้ " เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม   

พลิกตำนาน "ฉีกสัตยาบัน"กลเกม พันธะสัญญา ร่วมรัฐบาล ที่อยู่เหนือหน้ากระดาษ

logoline