svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ประวัติศาสตร์ “พรรคทหาร” กับอวสาน “พรรคเฉพาะกิจ”

23 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรื่องราวของ “พรรคทหาร” หรือ “พรรคเฉพาะกิจ” ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มักล่มสลายลง เมื่อ “ผู้ก่อตั้ง” สิ้นอำนาจ

“พรรคทหาร” เป็นศัพท์ในวงการรัฐศาสตร์ หมายถึง พรรคการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ในการสืบทอดอำนาจหลังการรัฐประหาร ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พรรคเหล่านี้มักมีอายุสั้น เมื่อ “ผู้ก่อตั้ง” หมดอำนาจ พรรคก็จะล่มสลายตามไปด้วย จึงไม่ต่างอะไรกับ “พรรคเฉพาะกิจ” ที่การดำรงอยู่ ขึ้นกับช่วงเวลาแห่งอำนาจของ “ผู้ก่อตั้ง” เป็นสำคัญ

พรรคในปัจจุบัน ที่เข้าข่าย “พรรคทหาร”

ในปัจจุบัน พรรคที่เข้าข่าย “พรรคทหาร” ก็คือ “พรรคพลังประชารัฐ” ที่ก่อตั้งหลังการรัฐประหารปี 2557 โดยมีการจดทะเบียนในเดือนมีนาคม ปี 2561 แม้จะมีการดำเนินงานต่างๆ ในรูปแบบพรรคการเมืองทั่วไป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีเงาทะมึนของ “กลุ่ม 3 ป.” ปกคลุมอยู่

“พรรคพลังประชารัฐ” เข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562 แม้จะไม่ชนะเลือกตั้ง ได้จำนวน ส.ส. เป็นอันดับที่ 2 แต่ก็ถือว่าประสบสำเร็จ เนื่องจากได้เป็นแกนนำรัฐบาล โดยสามารถผลักดันให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2

ประวัติศาสตร์ “พรรคทหาร” กับอวสาน “พรรคเฉพาะกิจ”

และในปี 2563 “พล.อ.ประวิตร” ก็เข้ามาบริหาร “พรรคพลังประชารัฐ” อย่างเต็มตัวในตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่ด้วยปัญหาความขัดแย้งภายในที่เรื้อรังข้ามปี ในที่สุด “บิ๊กตู่” ก็ได้ตัดสินใจแยกตัวออกมา ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เพราะหมายถึงการปิดฉากของ “กลุ่ม 3 ป.” ที่ร่วมกันครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ปี 2557

ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด “พรรคประชารัฐ” ที่ไม่มี “บิ๊กตู่” แต่มี “บิ๊กป้อม” เป็นหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ก็ลดขนาดจากพรรคขนาดใหญ่ กลายเป็นพรรคขนาดกลาง ได้ ส.ส. 41 คน

ส่วนอีกพรรคหนึ่ง หากพิจารณาจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการสืบทอดอำนาจให้กับ “บิ๊กตู่” ได้เป็นนายกฯ ในสมัยที่ 3 “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ก็ถือว่าเข้าข่าย “พรรคทหาร” เช่นกัน แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาว่าได้ ส.ส. 36 คน ในระดับแทบหมดลุ้นได้เป็น “พรรคร่วมรัฐบาล” ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า “พรรครวมไทยสร้างชาติ” รวมถึง “พรรคพลังประชารัฐ” จะกลายเป็น “พรรคเฉพาะกิจ” ที่ต้องปิดตัวลงในระยะเวลาอันสั้น ดังเช่นพรรคทหารอื่นๆ ในอดีตหรือไม่ ?

ประวัติศาสตร์ “พรรคทหาร” กับอวสาน “พรรคเฉพาะกิจ”

พรรคทหารในอดีต ยุคจอมพล ป. - จอมพลสฤษดิ์

พรรคการเมืองในอดีตที่ถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นของ “พรรคทหาร” คือ “พรรคเสรีมนังคศิลา” ของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” โดยวัตถุประสงค์การก่อตั้งพรรค ก็เพื่อสืบทอดอำนาจให้กับ “จอมพล ป.” นั่นเอง

โดย “พรรคเสรีมนังคศิลา” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2498 ชนะเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2500 ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวได้รับการบันทึกว่า เป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ กระทั่งในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน ก็เกิดการรัฐประหารโดย “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” อดีตลูกน้องคนสนิทของ “จอมพล ป.” และหลังจากนั้นไม่นาน “พรรคเสรีมนังคศิลา” ก็ต้องล่มสลายลงตามไปด้วย

“พรรคทหาร” พรรคต่อมาได้แก่ “พรรคสหภูมิ” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” และชนะการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2500 ต่อมา “จอมพลสฤษดิ์” ก็นำ “พรรคสหภูมิ” ควบรวมกับ “พรรคเสรีมนังคศิลา” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคชาติสังคม” โดยมี “จอมพลสฤษดิ์” เป็นหัวหน้าพรรค

ส่วน “พรรคชาติสังคม” ก็มีอายุอยู่ได้ไม่นาน ต้องปิดตัวลงหลังจาก “จอมพลสฤษดิ์” รัฐประหารตัวเองในเดือนตุลาคม ปี 2501 และออกประกาศยกเลิก พ.ร.บ.พรรคการเมือง ทำให้หลังจากนั้นไม่มีการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง เป็นเวลากว่า 10 ปี

ประวัติศาสตร์ “พรรคทหาร” กับอวสาน “พรรคเฉพาะกิจ”

พรรคทหารในอดีต ยุคจอมพลถนอม

หลังจาก “จอมพลสฤษดิ์” รัฐประหารตัวเองในปี 2501 ประเทศไทยก็ว่างเว้นการเลือกตั้งมากว่า 10 ปี กระทั่งมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2511 และจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2512

โดย “จอมพลถนอม กิตติขจร” นายกฯ ในเวลานั้น ได้ก่อตั้ง “พรรคสหประชาไทย” ขึ้นมา และพรรคดังกล่าวก็ชนะเลือกตั้ง ทำให้ “จอมพลถนอม” ได้เป็นนายกฯ ต่อไป ก่อนที่จะรัฐประหารตัวเองในปี 2514 เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎร

กระทั่ง “รัฐบาลจอมถนอม” ต้องสิ้นสุดลงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่นักศึกษา – ประชาชน ลุกฮือขึ้นประท้วงขับไล่

ประวัติศาสตร์ “พรรคทหาร” กับอวสาน “พรรคเฉพาะกิจ”

พรรคทหาร กับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

หลังจากนั้นแม้จะมีการรัฐประหารขึ้นอีกในปี 2519 และปี 2520 แต่ก็ไม่ได้มีการนำโมเดล “พรรคทหาร” มาใช้ กระทั่งหลังการรัฐประหาร ปี 2534 โดย “คณะ รสช.” ก็ได้มีการก่อตั้งพรรคการเมืองในโมเดล “พรรคทหาร” ขึ้นมา โดยตั้งชื่อพรรคว่า “สามัคคีธรรม”

“พรรคสามัคคีธรรม” ได้รับการสนับสนุนจาก “คณะ รสช.” มี “ณรงค์ วงศ์วรรณ” เป็นหัวหน้าพรรค และชนะเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ปี 2535 แต่ “ณรงค์” ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ เพราะมีชื่ออยู่ในแบล็คลิสต์ของสหรัฐฯ ว่ามีความใกล้ชิดกับนักค้ายาเสพติด

พรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้น จึงเสนอชื่อ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” 1 ในแกนนำของ  "รสช." ขึ้นเป็นนายกฯ และได้กลายเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วง เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. ทำให้ “พล.อ.สุจินดา” ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และหลังจากนั้นไม่นาน “พรรคสามัคคีธรรม” ก็ต้องปิดฉากลง

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 กองทัพก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีกเลยเป็นเวลากว่า 14 ปี กระทั่งในปี 2549 ก็ได้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจ “รัฐบาลทักษิณ” ต่อมาในการรัฐประหาร ปี 2557 โมเดล “พรรคทหาร” ก็ถูกปัดฝุ่นนำมาใช้อีกครั้ง กับพรรคที่ชื่อว่า “พลังประชารัฐ” และจากการแยกทางกันเดินของพี่น้อง 2 ป. ก็ก่อให้เกิด “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ตามที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้

ประวัติศาสตร์ “พรรคทหาร” กับอวสาน “พรรคเฉพาะกิจ”

อ้างอิง

พรรคพลังประชารัฐ

พฤษภาทมิฬ

รัฐประหารในประเทศไทย

พรรคชาติสังคม

พรรคสหภูมิ

พรรคเสรีมนังคศิลา

จุดจบพรรคทหารในการเมืองไทย

logoline