svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ชูศักดิ์"ย้ำไม่มีทาง"พท.-พปชร."ร่วมจัดตั้งรัฐบาลยันหนุนก้าวไกล

23 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ชูศักดิ์" มอง MOU ร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปต่อได้ ชี้จุดยืนแต่ละพรรคไปว่ากันต่อในสภาฯ ย้ำ ส.ว. ฟังเสียงประชาชนไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ ยันเพื่อไทยหนุน "พิธา-ก้าวไกล" ลั่นไม่มีทาง พปชร.-เพื่อไทย ร่วมรบ. ชี้ยุบเท่ากับหักหลังปชช.

23 พฤษภาคม 2566 "นายชูศักดิ์ ศิรินิล" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างลงนามความเข้าใจร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมแล้วว่า เป็นหลักการบริหารแผ่นดินภาพกว้าง แต่เน้นตรงจุดที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ และถือเป็นนโยบายร่วมกัน เช่น เรื่องรัฐธรรมนูญ ฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน - เรื่องสมรสเท่าเทียม - เรื่องการใช้งบประมาณฐานศูนย์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าทุกอย่างจะดำเนินการต่อไปได้ เพราะทุกฝ่ายคิดมาอย่างรอบคอบแล้ว เพียงแต่บางเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน ก็ปล่อยให้เป็นสิทธิของพรรคการเมืองนั้นๆ ที่อาจนำเสนอผ่านกระบวนการบริหาร หรือกระบวนการสภาในขั้นตอนต่อไป

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ส่วนเรื่อง มาตรา 112 ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ แต่ไม่มีระบุลงไปในร่างบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว นั้น จากที่คุยกันคิดว่าเรื่องนี้มันจะเป็นเรื่องที่กระทบต่อความเห็นทางการเมือง ความแตกต่างทางความคิดของคน ก็ค่อนข้างระวัง เกรงว่าจะมีปัญหาบานปลายไปสู่ความขัดแย้งในสังคม 

เมื่อถามว่า เช่นเดียวกับกฎหมายนิรโทษกรรม ที่ก็ไม่มีระบุลงไปในร่างนี้ จึงทำให้หลายคนมองว่าทำเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่นั้น นายชูศักดิ์ มองว่า กรณีนี้มีปัญหามาโดยตลอดว่าคดีจากความคิดเห็นทางการเมือง มันมีความหมายอย่างไร และมักไปนำไปสู่ความเห็นแตกต่าง ความขัดแย้ง

"ชูศักดิ์"ย้ำไม่มีทาง"พท.-พปชร."ร่วมจัดตั้งรัฐบาลยันหนุนก้าวไกล

"แต่ที่พรรคเพื่อไทยไม่อยากให้เขียนไว้ ก็เพราะว่าเรามักจะตกเป็นจำเลย ว่าเราทำเรื่องนี้ เพื่ออะไรหรือเพื่อใคร ปล่อยให้ไปว่ากันในขั้นตอนอื่นจะดีกว่า เป็นเพียงการห่วงใยต่อการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีอะไรไปทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น อะไรที่หลีกได้ก็จะดีกว่า" นายชูศักดิ์ กล่าว 

ส่วนการเคลื่อนไหวกดดันสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ทำตามมติเสียงประชาชน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องมองด้วยความเป็นกลาง มองว่าอยากให้วิถีทางประชาธิปไตยได้เดินต่อไป ที่ผ่านมามีกับดักมากมาย ตัวอย่างของส.ว. การเขียนอนุญาตให้มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้นั้น มีวัตถุประสงค์อะไร หรือเพียงต้องการให้มีระบบสืบทอดอำนาจ และตอนนี้ต้องคิดว่ายังอยากให้ระบบนี้เดินต่อไปอีกหรือไม่ ผลการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ สะท้อนว่าควรหมดได้แล้ว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

"เขาไม่เอาระบบสืบทอดอำนาจแล้ว ขอร้องว่าท่านก็เป็นผู้มีวุฒิภาวะ เสียงประชาชนบ่งบอกแล้วว่าประชาชนต้องการอะไร ต้องการการเปลี่ยนแปลง หลุดพ้นความขัดแย้ง หลุดดำการเมืองที่วางไว้ ไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ คะแนนที่ออกมามันชัดเจน" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าว 

สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่าจะมีการยุบพรรคพลังประชารัฐ แล้วมารวมกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลนั้น ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่นอน เพราะปัจจุบันในกฎหมายไม่มีระบุเรื่องการยุบพรรค แต่เป็นการเลิกพรรคการเมือง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับพรรคการเมืองหนึ่งก่อนหน้านี้ ซึ่งเมื่อเลิกพรรคการเมืองแล้วสมาชิกในพรรค ก็จะสามารถย้ายไปเข้าสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้

ส่วนอีกวิธีหนึ่ง คือ การขับออกจากพรรคการเมืองซึ่งก็จะมีเวลาให้บุคคลนั้นไปสมัครเข้าสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้เช่นกัน แต่วิธีการทั้งหมดนี้ ตนมองว่า เป็นวิธีการที่ไม่เคารพเสียงประชาชนเนื่องจากประชาชนเลือกพรรคการเมืองเลือกบุคคลของพรรคนี้มาแล้วจนชนะการเลือกตั้ง 

"ชูศักดิ์"ย้ำไม่มีทาง"พท.-พปชร."ร่วมจัดตั้งรัฐบาลยันหนุนก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม หากพรรคเพื่อไทยรับข้อตกลง หรือวิธีการแบบนี้จากพรรคที่เลิกพรรคการเมือง หรือยุบพรรคมา ก็จะเป็นพรรคที่มีแนวทางดำเนินการที่พังตั้งแต่แรก และอาจจะเป็นพรรคต่ำสิบในอนาคต เช่นเดียวกับกระแสข่าวบิ๊กดีลที่ประเทศฮ่องกง ยืนยันเรื่องนี้ก็ไม่เป็นความจริง พรรคเพื่อไทยยังคงเคารพเสียงของประชาชนและยังคงยืนยันหนักแน่นว่าจะสนับสนุนพรรคก้าวไกลที่คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง และสนับสนุนให้ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นนายกรัฐมนตรีร้อยเปอร์เซนต์ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

 

logoline