svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ลุงป้อม" แจง ก้าวข้ามความขัดแย้ง "ไม่ได้พูดเอาเท่"

21 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ลุงป้อม" โพสต์ฉบับที่ 10 "ชัยชนะที่ไม่ก่อความ ร้าวฉาน" แจงก้าวข้ามความขัดแย้ง "ไม่ได้พูดเอาเท่" ชี้ถ้าไม่รวมกันประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ระบุเริ่มหาเสียงโจมตีกันรุนแรง แนวโน้มเช่นนี้ ย่อมถือว่าอันตรายต่อการพัฒนา

21 เมษายน 2566 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หลังจาก 2 วันที่ผ่านมา ได้โพสต์ข้อความว่าฉบับที่ 9 จะ “จัดตั้งรัฐบาล” อย่างไร ล่าสุดวันนี้(21 เม.ย.) ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพ ระบุว่า ชัยชนะที่ไม่ก่อความ “ร้าวฉาน”

ตอนนี้การหาเสียงเริ่มที่จะแสดงออกด้วยการโจมตีกันรุนแรงมากขึ้นอีกแล้ว จะเห็นว่าระดับผู้นำของพรรคการเมืองกลับมาเล่นงานคนที่มีความคิดแตกต่างกับตัวด้วยท่าทีก้าวร้าว ขนาดขับไล่ไสส่งให้ “ไปเสียให้พ้นจากแผ่นดินไทย”

ขณะที่อีกฝ่ายก็เอาแต่ประกาศกร้าว ตัดขาดที่จะร่วมมือกับฝ่ายกีดกันไว้เป็นฝ่ายตรงกันข้าม เป็นบรรยากาศที่แบบ “ชี้หน้าคนเห็นต่างว่าเป็นศัตรู” ด้วยท่าที่ของการ “ปลุกระดม” ให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ความเป็นไปที่มีแนวโน้มเช่นนี้ ย่อมถือว่าอันตรายอย่างยิ่ง ต่อการอยู่ร่วมกันเป็นชาติที่ประชาชนมีความร่วมมือร่วมใจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้

ผมจึงต้องมาย้ำอีกครั้งว่า “ประเทศไม่มีทางออกอื่น นอกจากต้องร่วมกันก้าวข้ามความขัดแย้ง” และขอให้รู้ว่า ที่ผมมาพูดเรื่องนี้ และขอให้ทุกคน ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ไม่ใช่เรื่องที่ผมมาพูดเอาเท่ หรือสร้างจุดขายที่แตกต่างของการเป็นผู้นำการเมืองอย่างที่หลายๆคนพยายามคิด และพูดกันไป ไม่ได้ตั้งใจสร้างภาพให้เกิดความต่างเพื่อเป็น “ตัวเลือกใหม่”หรืออะไรอย่างนั้น

\"ลุงป้อม\" แจง ก้าวข้ามความขัดแย้ง \"ไม่ได้พูดเอาเท่\"

แต่ผมรู้สึกและเกิดเป็นความคิดจริงๆว่า “การเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้ หากไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง” และผมขอบอกว่า เป็นความรู้สึก และความคิดที่เกิดจาก “ประสบการณ์” อันหมายถึงการได้เห็น ได้ยินได้ฟัง ได้สัมผัสรับรู้มา จากคนในทุกกลุ่ม ทุกวงการ

ทั้ง “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ที่ชินกับการจัดการด้วยอำนาจ และ “ฝ่ายเสรีนิยม” ที่มีธรรมชาติของการเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้มากกว่า ผมเห็นจุดอ่อน และจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายที่ไม่มีทางจะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามพ่ายแพ้อย่างราบคาบ โดยฝ่ายตัวได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด

เพราะเห็นเช่นนี้ ผมจึงตัดสินใจใช้เวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ หาทางทำให้ประเทศมีทางออกจาก “วงจรอันสิ้นหวังของการร่วมกันอย่างสุขสงบ”นี้ให้ได้เสียที

มีคำถามว่า “ผมจะทำอะไร” ผมอยากจะบอกว่า ในความเป็นจริงนั้นผมทำเรื่อง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”มาก่อนหน้านี้แล้ว

เป็นการทำอย่างเงียบๆ และโดยใช้ “ความเป็นผม” ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสำเร็จ

คำตอบในเรื่องนี้ เห็นได้ไม่ยากหากย้อนไปทบทวนช่วง “รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ” จาก “เลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว” มาเป็น “สองใบ” และแก้ตัวหารคะแนนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จาก “500” มาเป็น “100” ช่วงนั้นเกิดความขัดแย้งรุนแรง พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเห็นไปทางเดียวกับสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่เอาด้วยกับแนวทางนั้น

ต้องการให้เลือกด้วยบัตรใบเดียว ปาร์ตี้ลิสต์หาร 500 เหมือนเดิม เพราะมองไม่เห็นว่าแก้ไขแล้วพรรครัฐบาลจะมีโอกาสชนะพรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่ มีสมาชิกและเครือข่ายฐานเสียงมากกว่าได้อย่างไร

ขณะที่ “พรรคการเมือง”บางพรรคโจมตี ส.ว.อย่างรุนแรง ทำนองว่า เป็นส่วนเกินที่ให้ผลในทางเลวร้ายต่อประชาธิปไตย ไม่ควรจะออกมาใช้สิทธิแสดงความคิด ออกเสียง สร้างความเกลียดชังต่อกันรุนแรง

ตอนนั้นผมเป็นผู้นำ “พลังประชารัฐ” ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล มีแรงกดดันมากมายทั้งในพรรคและนอกพรรค อย่างที่รู้ๆกันว่าแม้แต่ “ผู้นำในทำเนียบรัฐบาล”ก็ส่งสัญญาณผ่านคนใกล้ชิดว่า “ต้องกลับเป็นบัตรใบเดียว และปาร์ตี้ลิสต์หาร 500” เพื่อความได้เปรียบของพรรคร่วมรัฐบาล ตัดโอกาสที่จะชนะของพรรคฝ่ายค้านที่เป็นพรรคใหญ่ เป็นผมเองที่เห็นว่า “จะใช้อำนาจทำแบบนั้นไม่ได้ ถึงเวลาที่จะต้องจัดการให้การเมืองเดินหน้าไปโดยยึดหลักการประชาธิปไตย”

แต่ความยากอยู่ที่จะคุยอย่างไร ให้เสียงส่วนใหญ่ทำตามอย่างที่ผมเห็น

ยากตรงที่มีการโจมตี สว.ด้วยถ้อยคำรุนแรงมากมาย จนมองไม่เห็นว่าจะดึงอารมณ์ให้กลับมาพูดดีๆ อย่างเข้าอกเข้าใจกันได้อย่างไร

ตอนนั้น แม้แต่ใน “พรรคพลังประชารัฐ” ยังมีแค่ไม่กี่คนที่เข้าใจในแนวทางแบบที่ผมเชื่อว่า “ต้องยืนหยัดในหลักประชาธิปไตย แต่ด้วยความเข้าใจในอนุรักษ์นิยม” ลองไปค้นข้อมูลกลับมาดูได้ จะเห็นว่าแม้แต่ “นายกฯตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังถูกมองว่าไม่เอาด้วยกับการแก้ไขบัตรเลือกตั้ง

โดยช่วงนั้นนักการเมืองที่รู้กันว่าเป็นสายตรงนายกฯออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านชัดเจน เป็นภารกิจที่ยากทีเดียวในการพูดคุยหาทาง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” เดินหน้าในหลักการประชาธิปไตย

“ฟากอนุรักษ์นิยม” ให้ความร่วมมือ ทั้งที่ถูกโจมตีหนักจาก “ฝ่ายเสรีนิยม” แต่ “ผมทำได้” การแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ

สำเร็จตามความตั้งใจและลงมือด้วยประสบการณ์ และความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายที่ผมสร้างสมมา แม้วันนี้จะมีคนโจมตีว่าผมเป็น “เผด็จการจำแลง” ผมก็เพียงบอกตัวเองว่า ผมอาจจะอธิบาย “จิตวิญญาณประชาธิปไตย”ที่มีในตัวผมยังไม่ชัดซึ่งเป็นหน้าที่ของผมว่าจะต้องอธิบายต่อไป

ผมขอยืนยันว่า “ถึงวันนี้ประเทศเรายังไม่มีคำตอบอื่น นอกจากทำให้อนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นแก่นของความเป็นชาติ อยู่ด้วยและร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาไปด้วยเสรีนิยมที่มีความคล่องตัวและได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศมากกว่า” ซึ่งผมเชื่อว่า “ผมทำได้ และผมต้องเป็นคนทำ”

เพียงแต่ เมื่อถึงวันนี้เกิดปรากฏการณ์ที่น่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง การหาเสียงเลือกตั้งที่มุ่งแต่ชัยชนะ ก่อให้เกิดการโจมตีกันรุนแรง จนมองเห็นแนวโน้มของความแตกแยก ถึงขั้นขับไสไล่ส่งไม่ให้อยู่ร่วมชาติ เกิดขี้นอีกแล้ว ทั้งที่ทุกเรื่องมีวิธีการแก้ไข หากทุกฝ่ายร่วมมือกันคิดทำ โดย “ก้าวข้ามความขัดแย้ง”

แค่ “อย่าหักโหมที่จะเอาชนะกัน เสียจนลืมว่า เป็นการดีกว่าหากเปลี่ยนเป็นร่วมมือทำงานเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ร่วมกัน” ในฐานะประชาชนชาวไทยที่เป็นหนึ่งเดียว

ผมขอจบ Facebook ฉบับที่ 10 และในฉบับที่ 11 ผมจะพูดถึงเรื่อง เป็นนายกต้องให้เกียรติสภาอย่างไร โปรดติดตามครับ

logoline