svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กางขั้นตอนภายหลัง"พ.ร.ฎ.ยุบสภา" มีผลบังคับใช้ เริ่มนับหนึ่งคืนอำนาจปชช.

20 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในที่สุด พระราชกฤษฏีกา"ยุบสภา" ประกาศลง"ราชกิจจานุเบกษา" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับจากนี้ กลไกทางการเมืองไทยจะถูกขับเคลื่อนสู่การคืนอำนาจให้ประชาชน ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ในสภาฯ

20 มีนาคม 2566  "ราชกิจจาฯ"เผยแพร่  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ "พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2566"  พร้อมกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อการ"ยุบสภา" เกิดขึ้น นั่นหมายถึง การนับหนึ่งสู่การ"เลือกตั้ง66" ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว  

ขั้นตอนนับจากวันนี้ เมื่อมี"พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ไม่เร็วกว่า  45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน 

กางขั้นตอนภายหลัง\"พ.ร.ฎ.ยุบสภา\" มีผลบังคับใช้ เริ่มนับหนึ่งคืนอำนาจปชช.

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกา"ยุบสภา"แล้ว ตามกฎหมาย กกต. จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 5 วัน นับแต่วันยุบสภา โดยช่วงเวลาของการเปิดรับสมัคร คือ 5 วัน

ได้โดยวันแรกจะเปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตก่อน จากนั้นจะเป็นการเปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 

หากพรรคไหนไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จะไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้ ฉะนั้น พรรคการเมืองจึงต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตอย่างน้อยหนึ่งเขต เพื่อรักษาสิทธิในการส่งผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์

กางขั้นตอนภายหลัง\"พ.ร.ฎ.ยุบสภา\" มีผลบังคับใช้ เริ่มนับหนึ่งคืนอำนาจปชช.

หลังจากปิดรับสมัครแล้วภายใน 7 วัน กกต.จะประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ทั้งหมด จากนั้น กกต.จะต้องประกาศหน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง และประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ประชาชนได้ทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน จากนั้นจะส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้านให้ตรวจสอบรายชื่อ ก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน

โดยเราสามารถตรวจเช็กดูได้ว่า ชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านของตนเองครบหรือไม่ มีชื่อใครขาดหรือเกินมาหรือไม่ ถ้ามีชื่อใครขาดหรือเกินมา เจ้าบ้านสามารถแจ้งเพิ่มหรือถอนชื่อ ก่อนถึงวันเลือกตั้งได้ไม่น้อยกว่า 10 วัน โดยให้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน "กกต." จะต้องสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อยก่อนถึงวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน และหากมีการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งหรือสถานที่ลงคะแนน จะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วันด้วย

สำหรับผู้ที่ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าต้องลงทะเบียนหลังจาก กกต. ประกาศวันเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว และไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันนั้นเพียงวันเดียว

ส่วนกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ สามารถทำหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านภายใน 7 วัน ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง

สุดท้ายแล้ว ตามไทม์ไลน์ของ กกต.ที่ได้กำหนดไว้ คาดว่าวันเลือกตั้งจะเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม หรือ วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 

 

logoline