svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"พ.ร.ก." ชะลอ "พ.ร.บ.อุ้มหาย"ค้างท่อ หลังวิปรัฐบาลยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

28 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พ.ร.ก. ชะลอ พ.ร.บ.อุ้มหาย ค้างท่อ หลังวิปปรัฐบาลยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขัดรธน.ม.172 ขณะที่ ผู้นำฝ่ายค้าน ชี้ รัฐบาลเล่นเกมยื้อ ขอประชาชนตัดสินในคูหาเลือกตั้ง ด้าน "ชวน" อวยพรขอให้ส.ส.ได้กลับมาทำหน้าที่ แม้ไม่ได้มาทุกคน การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน

28 กุมภาพันธ์ 2566 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษวันนี้ วันสุดท้ายก่อนปิดสมัยการประชุมสามัญ เมื่อเวลา 13.20 น.นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในระหว่างที่เราอภิปรายอยู่นั้น สมาชิกส่วนหนึ่งได้เสนอเรื่องขึ้นมา

โดยนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และประธานวิปรัฐบาล และคณะได้เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ 2566 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรค 1 ให้ประธานส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน นับแต่วันที่รับความเห็นเพื่อวินิจฉัยและให้รอการพิจารณาไว้ก่อนตามมาตรา 173 จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะนี้ได้ใช้เวลาตรวจสอบรายชื่อคำร้องทั้งหมดแล้ว ปรากฏว่ามีจำนวนสมาชิกลงลายมือชื่อ 100 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ดังนั้นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ จึงให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงขอจบการพิจารณาในวาระนี้เพียงเท่านี้

ด้าน นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีเอกสารให้ตนเซ็นชื่อ ดังนั้นถ้ามีรายชื่อตนที่เกี่ยวข้องกับการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ ตนขอไม่รับรู้ และไม่ถือว่านั่นไม่ใช่ลายเซ็นของตน

ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขออภิปรายในเนื้อหาที่ตนเองเตรียมไว้ ว่า ตนไม่ได้ว่าอะไรในเรื่องของระบบฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ถ้าตนไม่พูดประเทศชาติจะล่มจมและเสียหายได้ โดยเฉพาะ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ตนฝากผบ.ตร. ว่าให้ติดตาม พลตำรวจโทจ. มีเกี่ยวข้องกับการซื้อวิทยุสื่อสารประมาณ 4,000 กว่าล้านบาททั่วประเทศ

จากนั้น นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า รู้สึกเสียใจที่การพิจารณากฎหมายไม่แล้วเสร็จไม่สามารถลงมติได้ ซึ่งมีแนวโน้มจะไม่อนุมัติกฎหมายฉบับนี้ เพราะฟังจากสมาชิกในสภาส่วนใหญ่คัดค้านและไม่เห็นด้วย จึงตั้งข้อสังเกตการยื่นศาลรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลว่า รัฐบาลคาดการณ์ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะถูกสภาคว่ำจึงใช้กระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื้อเวลา

ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ชง โดย ครม. กินโดย ครม.และ อุ้มหายโดยครม.เองถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้ที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญควรจะเป็นเสียงที่ไม่อนุมัติ   การยื่นครั้งนี้จึงแปลเจตนาอื่นไม่ได้นอกจากการใช้กลไกของศาลรัฐธรรมนูญยื้อเวลา

เพราะศาลฯต้องใช้เวลาในการวินิจฉัย อย่างน้อยเวลา 60 วัน ซึ่งทำให้ พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรืออาจยื้อไปถึงรัฐบาลหน้า พร้อมกันนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีปัญหาในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างไม่ทัน ตามที่นายจิรายุห่วงทรัพย์ ส.ส. พรรคเพื่อไทยออกมาแฉ ไม่ใช่การหาอุปกรณ์ไม่ทันตามที่กล่าวอ้าง

พร้อมระบุอีกว่า หากมีปัญหาเกิดปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิประชาชน บุคคลที่เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ต้องรับผิดชอบ และขอให้ประชาชนตัดสินในคูหาเลือกตั้ง

ขณะที่ นายชินวร บุณยเกียรติ ส.สพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ผู้นำฝ่ายค้านได้พูดว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนสมาชิกในสภาแห่งนี้ โดยเฉพาะได้มีการอ้างอิงถึงสมาชิกของพรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมกระบวนการอุ้มหาย พ ร.ก. ซึ่งตนคิดว่าถ้าไม่ได้รับฟังเหตุผลอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะไม่เป็นหลักที่เรียกว่าตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ และไม่ตรงตามหลักที่เรียกว่าต้องเคารพสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย ฝ่ายของตนก็ยึดหลักนิติธรรมที่เห็นว่าเมื่อได้มีการลงชื่อเพราะเห็นว่าพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขพระราชกำหนดตามมาตรา 172 แห่งรัฐธรรมนูญ

พวกตนก็มีข้อสงสัยและในสภาแห่งนี้ก็มีการพูดว่าพระราชกำหนดฉบับนี้ไม่ชอบด้วยมาตรา 172 แต่การยื่นตนมีเหตุผลประกอบเชื่อว่าเรื่องของการออกพระราชกำหนดที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 22 ,23 ,24 ,25 นั้นไม่เพียงแต่ เป็นเรื่องตามพระราชบัญญัติอุ้มหายแต่ยังมีพันธะกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยต้องดำเนินการ ตนเป็นส.สก็มีจิตสำนึกเช่นกันในหลักนิติธรรมหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เพราะฉะนั้นตนอยากให้ผู้นำฝ่ายค้านได้เคารพสิทธิของฝ่ายพวกตน ที่ได้ดำเนินการในการเข้าลงชื่อกันเพื่อให้ดำเนินการ ไปตามรัฐธรรมนูญที่มีเหตุผลสำคัญ 3 ข้อคือ 1. การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 และปราศจากข้อสงสัย 2. เป็นการร่นระยะเวลาที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนถ้าปล่อยไปให้ผ่านก็จะต้อง ชะลอ พ.ร.บ. นี้ออกไปอีก 6 เดือน แต่ถ้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 2 เดือนที่จะมีคำวินิจฉัยออกมา และ 3. ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ส.ส. ที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมยื่นเสนอกฎหมายที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอ

หลังจากนั้น นายชวน กล่าวขอบคุณ ส.ส.และข้าราชการสำนักงานลขาธิการสภาฯ ที่ร่วมทำงานหนักตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตนหวังว่าแม้ไม่มีโอกาสกลับมาทุกคน แต่ขอให้ส.ส. ส่วนใหญ่กลับมาทำหน้าที่ของตนเองต่อไป การเมืองไม่มีแน่นอน ฝ่ายค้านวันนี้อาจเป็นรัฐบาล คนเป็นรัฐบาลขณะนี้ อาจเป็นฝ่ายค้านในวันหน้า สิ่งสำคัญ คือการพูดอะไรไปว่าไม่ดี วันนั้นต้องไม่ดี อะไรที่ดีวันนี้ วันนั้นต้องดี ขออวยพรให้ประสบความสำเร็จ

จากนั้นสมาชิกสภาฯ ได้ยืนเพื่อรับฟังพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุม และปิดประชุมเวลา 13.41 น.

logoline