svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กองทัพ" งัด 2 กฎเหล็ก ตีกรอบพรรคการเมืองหาเสียง "ค่ายทหาร"

24 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กองทัพ" จัดทำ คู่มือเลือกตั้งทหาร งัด 2 กฎเหล็ก ตีกรอบพรรคหาเสียงในค่าย การแสดงออกกำลังพล ยันเป็นกลาง วางแนวทางมาตรฐานเดียวกัน ขอให้แยกแยะ แม้ "พล.อ.ประยุทธ์" สังกัดพรรค มองเป็นเรื่องปกติวิถีการเมือง

24 กุมภาพันธ์ 2566 พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเตรียมพร้อมของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพในการสนับสนุนการเลือกตั้ง และการวางตัวของกองทัพ ว่า กองทัพยึดข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ปี 2549 และมติคณะรัฐมนตรีปี 2562 ที่เกี่ยวกับการสนับสนุนสถานที่หาเสียงและเลือกตั้ง การจัดสถานที่ติดตั้งป้ายหาเสียง ไม่ให้กำลังพลไม่วิจารณ์การกระทำฝ่ายการเมืองและไม่แสดงออกโดยตรง หรือปริยายถึงผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะมีการประชุมภายในเหล่าทัพเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมถึงการพิจารณาว่าอำนาจในการจัดสินใจให้พรรคการเมืองเข้ามาหาเสียงจะเป็นผู้บังคับหน่วยระดับใด ซึ่งต้องหารือกับ กกต. ด้วย สิ่งที่เราจะหารืออีกคือกรอบการหาเสียงจะทำได้แค่ไหน เพื่อไม่เกิดความเหลื่อมล้ำและให้มีความเท่าเทียมกับทุกพรรคการเมือง

โดยกองทัพดำรงความเป็นกลางการเมือง ยึดหลักสามัคคี ไม่ขัดแย้ง เป็นกองทัพทหารอาชีพ พร้อมทำงานบริหารราชการแผ่นดินภายใต้ทุกพรรคการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล

เมื่อถามว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม ในฐานะผู้บังคับบัญชา สังกัดพรรคการเมืองแล้วนั้น พล.อ.คงชีพ กล่าวว่า ต้องแยกแยะ แต่เป็นเรื่องปกติ การเมืองเป็นแบบนี้ทุกยุคทุกสมัย ผู้นำรัฐบาล-รัฐมนตรี ต่างมีสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งส่วนราชการต้องปฏิบัติตามมติ ครม. เกี่ยกกับแนวทางสนับสนุนการเลือกตั้ง ซึ่งในส่วนของกระทรวงกลาโหมมีข้อบังคับอยู่ด้วย

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้น เป็นทหารเก่า เป็นอดีต ผบ.ทบ. เคยทำรัฐประหาร จึงทำให้กองทัพมองว่าจะเอนเอียงหรือไม่ พล.อ.คงชีพ ชี้แจงว่า โดยสถานะเราทำไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ไปล้ำเส้นการเมือง เรื่องความกังวล ทุกคนมีได้ แต่ต้องดูการปฏิบัติที่ต้องอยู่ในกรอบที่เราทำได้

รวมทั้งเรื่องการสนับสนุน กกต. เมื่อ กกต. ร้องขอมา เช่น กกต. ขอให้กองทัพสนับสนุนอะไร ก็พร้อมสนับสนุน รวมทั้งการส่งเสริมประชาธิปไตยให้กำลังพลและครอบครัวกำลังพลไปใช้สิทธิ โดยเป็นอิสระทางการเมือง เลือกคนที่รัก พรรคที่ชอบได้

เมื่อถามว่า จะมีเอกสารรายละเอียดให้เหล่าทัพใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติหรือไม่ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า มีหลักปฏิบัติตามมติ ครม. ปี 2562 และข้อบังคับกระทรวงกลาโหมอยู่แล้ว ส่วนอำนาจที่จะให้พรรคการเมืองเข้าไปหาเสียงในหน่วยทหาร จะอยู่ในระดับใด ระหว่าง ผู้บังคับหน่วย , แม่ทัพภาค หรือ ผบ.เหล่าทัพ จะต้องมีการหารือว่าใครจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจพิจารณา ซึ่งจะการประชุมอีกครั้ง อาจเป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือ ปลัดกระทรวงกลาโหม นำประชุมอีกครั้ง

logoline