24 กุมภาพันธ์ 2566 "นายแสวง บุญมี" เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้แทน TikTok ประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงความร่วมมือการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ระหว่าง สำนักงาน กกต. และ TikTok ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์คอนเวนชั่น
โดย "นายแสวง" กล่าวว่า Tiktok เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมของคนไทย และเป็นช่องทางหนึ่งในการสื่อสารกับกลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งรุ่นใหม่ กลุ่มเยาวชน และประชาชน ให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเลือกตั้งที่ถูกต้อง ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง และนำไปสู่การตัดสินใจใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนได้อย่างมีคุณภาพ ตามแนวคิดการเลือกตั้งของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน
ทั้งนี้ สำนักงาน กกต. และ Tiktok จะร่วมมือกันพัฒนาช่องทางเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ผ่านศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง หรือ Election Centre รวมถึงการร่วมกันต่อต้านข้อมูลอันเป็นเท็จ และข่าวที่มีการบิดเบือนความจริงในระหว่างการจัดการเลือกตั้ง โดยสำนักงาน กกต.และ Tiktok จะร่วมกันกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการขจัดข่าวเท็จ บิดเบือน หรือการใส่ร้ายที่ขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ผ่านแพลตฟอร์ม Tiktok รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือในการช่วยตรวจสอบ และยืนยันและข้อมูลต่างๆ
"หวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ของความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง เพราะทุกคนคือฟันเฟืองสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน พร้อมขอบคุณ Tiktok ประเทศไทย ที่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจสำคัญของประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้" นายแสวง กล่าว
ด้าน "นางชนิดา คล้ายพันธ์" Head of Public Policy จาก TikTok ประเทศไทย กล่าวว่า Tiktok เปิดตัวศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง หรือ Election Centre ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยอ้างอิงเนื้อหาของ กกต. ในฐานะผู้ออกกฎการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นวันเลือกตั้ง คุณสมบัติ เวลาเปิดคูหา การลงคะแนน ผ่านการสร้างลิงก์บนแพลตฟอร์ม Tiktok สามารถเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ทางการของ กกต. เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม ซึ่งศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง หรือ Election Centre เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานที่พยายามจัดการเนื้อหาที่บิดเบือนและไม่เป็นความจริง รวมถึงเนื้อหาที่ละเมิดหลังเกณฑ์ชุมชน นอกจากนี้ยังสร้างนโยบายสำหรับบัญชีประเภท GPPPA หรือบัญชีของรัฐบาล พรรคการเมือง และนักการเมือง มีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา การทำแคมเปญต่อต้านข้อมูลที่บิดเบือน ร่วมกับ Cofact และประยุกต์ใช้เครื่องมือด้านความปลอดภัยเพื่อควบคุมดูแลเนื้อหาต่างๆในช่วงเลือกตั้ง
"Tiktok มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อรับมือกับข้อมูลที่บิดเบือน รวมถึงเป็นช่องทางหนึ่ง ที่สามารถทำให้ผู้ใช้งานและประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ยืนยันว่า Tiktok ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองซื้อโฆษณาโปรโมท เพื่อหาเสียงทางแพลตฟอร์ม Tiktok แต่อย่างใด เพราะมีสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวอยู่แล้ว แต่นักการเมืองหรือผู้สมัครยังสามารถใช้แอปพลิเคชั่นในการถ่ายคลิปวิดีโอต่างๆได้ตามปกติ" นางชนิดา กล่าว