svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วัดใจ"ลุงตู่-ลุงป้อม" ภารกิจคืนสิทธิให้ชาวทับลาน

21 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) ตามนโยบายรัฐบาล มุ่งหวังให้ใช้แผนที่ดังกล่าวเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด แก้ไขและป้องกันปัญหาให้ชาวทับลาน ให้ได้ข้อยุติได้ในที่สุด หลังยืดเยื้อมาเนิ่นนาน

"พล.อ.ประยุทธ์" นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่วินิจฉัย กรณีที่ดินรัฐทั่วประเทศที่มีปัญหาความทับซ้อน จากความไม่ชัดเจนในการตีความและบังคับใช้กฎหมายของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้เกิดข้อยุติ และเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจนต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

"สคทช." เป็นองค์กรที่มีภารกิจสำคัญด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ที่จะบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีสิทธิทำกินและอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map โดยแบ่งพื้นที่ทั่วประเทศ ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว 2 กลุ่มจังหวัด จำนวน 22 จังหวัด และกลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยตั้งเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเร่งรัดการดำเนินงานดังกล่าวให้ครบถ้วนทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2567

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

"พล.อ.ประวิตร" ในฐานะประธานอนุกรรมการนโยบายแนวทางและมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เคยกล่าวไว้ช่วงหนึ่ง เมื่อวันที่ 10 ก.พ.66 เนื่องในวันครบรอบสองปีการสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ตีความได้ว่าบางกรณี หน่วยงานรัฐอาจวินิจฉัยกฎหมายที่รังแกประชาชนก็เป็นได้

สคทช. ร่วมหารือ ทส. เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

หลังความจริงพบว่า ส่วนราชการบางแห่ง ยังยึดกฎหมายคนละฉบับ ในการวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการภารกิจของตัวเอง แม้จะมีองค์กรกลางที่นำทุกฝ่ายมาร่วมหารือและหาทางออกในเรื่องนั้น จนได้ข้อสรุป แต่ความจริงที่ซ้อนไว้คือส่วนราชการนั้น ๆ ยังไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะทางออกดังกล่าว

คำอธิบายแนวเขต

ส่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังมาจวบจนวันนี้ และข้าราชการบางรายในวันนั้น วันนี้อาจใช้ช่องว่างทางกฎหมายรังแก หรือข่มขู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินมาก่อน ที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ พยายามยื้อเวลาไปเรื่อย ๆ โดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ นานานั้น ไม่ใช่ผลดีกับทุกฝ่าย เว้นแต่ฝ่ายที่ได้ประโยชน์แอบแฝง

กรณีสุดคลาสสิก ที่สังคมรับรู้คือ "อุทยานแห่งชาติทับลาน" โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชอ้างว่าได้เสนอให้อุทยานฯแห่งนี้ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของไทย แต่การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน มีผลกระทบต่อการดำเนินการเป็นมรดกโลก

อุทยานแห่งชาติทับลาน

เนื่องจากอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลก "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" มีพื้นที่ 3.8 ล้านไร่เศษ ( 6155 ตารางกิโลเมตร) การที่มีพื้นที่ลดลงจำนวน  6.4 หมื่นไร่เศษ จะสร้างผลกระทบ ต่อหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"

การประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ.2524 ที่มีปัญหาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกับอุทยานแห่งชาติทับลาน ,พื้นที่ทับซ้อนระหว่างที่ดินทำกินของราษฎรที่อยู่อาศัยมาแต่เดิมกับอุทยาน ,พื้นที่ทับซ้อนระหว่างโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคง (พมพ.) .โครงการ จัดที่ดินทำกินให้กับราษฎรนั้น หากไล่เรียงข้อมูลจากหน่วยงานกลางที่ไปร่วมตรวจสอบเรื่องนี้กับฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะพบว่ามีข้อบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานต้นเรื่อง

อุทยานแห่งชาติทับลาน

ปี 2555 อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชในขณะนั้น ได้จับกุม ทุบ ทำลาย รื้อรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศในพื้นที่ทับลานครั้งใหญ่ ด้วยข้อหาบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติ ที่มีการฟ้องร้อง รวม 492 คดี รวมเนื้อที่ 11,068 ไร่เศษ คดีต่าง ๆ อยู่ในขั้นตอนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลยุติธรรมนั้น กลายเป็นมหากาพย์อันยืดเยื้อ จนประชาชนที่ครอบครองที่ดินโดยบริสุทธิ์ ต่างลุ้นตัวโก่งชนิดรายวันว่าจะได้บทสรุปเยี่ยงไร 

อุทยานแห่งชาติทับลาน

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีรายงาน “สรุปความเป็นมาและการดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน” จำนวนสี่สิบหกหน้า ที่ได้ลงพื้นที่และประชุมกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว รวมทั้งแจ้งไปยังส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบ และดำเนินการแก้ไขปัญหานี้

ในการคัดเลือกพื้นที่เพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติทับลาน ได้มีการนำที่ดิน ซึ่งไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มากำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน อีกทั้งยังทับซ้อนกับพื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่โครงการ พมพ. และโครงการ คจก. โดยที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการ ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543

อุทยานแห่งชาติทับลาน

ซึ่งมีการปักหลักเขตและจัดทำแผนที่แนวเขตใหม่เป็นที่รับรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วน แต่กลับมิได้มีการดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้เป็นไปตามหลักแนวเขตดังกล่าว แต่อย่างใด ทำให้รัฐยังคงยึดถือแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. 2524

ที่ประชุมครม.

แม้ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอให้ด้าเนินการตามนัยมติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2561 ที่ได้มีมติเกี่ยวกับกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและ ท้ากินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท)

โดยในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์นั้น ชุมชนที่ได้รับการพิจารณาต้องเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิม (อยู่มาก่อนมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน2541) ไม่มีการจัดที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกพื้น ที่มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกิน และเป็นการให้สิทธิทำกิน มิให้เอกสารสิทธิ

ที่ประชุมครม.

แต่ทั้งนี้เห็นว่าในการแก้ไขปัญหาการ อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ตามมติของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดังกล่าวนั้น เป็นคนละหลักการกับการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่มีเหตุผลสำคัญมาจากการประกาศแนวเขตอุทยาน แห่งชาติทับลาน ที่ปรากฏข้อบกพร่องอยู่หลายประการ

ทั้งสองหลักการสามารถที่จะดำเนินการควบคู่ไปด้วยกันได้ โดยการดำเนินการตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกิน ในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ตามมติของ คทช. นั้น จะต้องดำเนินการภายใต้แนวเขตพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกต้องตามสภาพ ความเป็นจริง  
    
อุทยานแห่งชาติทับลาน

ดังนั้นประการแรกจึงต้องดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเพื่อแก้ไขปัญหาการ ทับซ้อนของพื้นที่ให้แล้วเสร็จก่อน โดยใช้แนวเขตที่ได้มีการสำรวจรังวัดร่วมกันของทุกภาคส่วนซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้น เป็นที่เรียบร้อยแล้วในพ.ศ. 2543 และตรงตามสภาพความเป็นจริงของพื้นที่

ต่อจากนั้นจึงดำเนินการบริหาร จัดการที่ดินของรัฐและชุมชนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ตามมติของ คทช.

อุทยานแห่งชาติทับลาน

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนกันของพื้นที่ให้โครงการต่าง ๆ ของรัฐสามารถ ดำเนินการเป็นไปตามเป้าประสงค์ สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อนการ ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินโดยการปรึกษาหารือและเห็นชอบร่วมกัน ตามมาตรา 26 (3 ) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน

จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการ ปรับปรุงกฎหมาย กฎ คำสั่ง และขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรม แก่ประชาชน มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่ อุทยานแห่งชาติทับลาน ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 

วัดใจ"ลุงตู่-ลุงป้อม" ภารกิจคืนสิทธิให้ชาวทับลาน

โดยสรุปว่า ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปรับปรุงแนวเขต อุทยานแห่งชาติทับลาน ด้วยการตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และให้ยึดถือ แนวเขตตามที่ได้ดำเนินการสำรวจรังวัดร่วมกันมาแล้วเมื่อพ.ศ. 2543

จากนั้นให้หน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องดำเนินการในแต่ละพื้นที่ โดยบริเวณพื้นที่ที่ยังคงเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยพิจารณาอนุญาตให้ประชาชนอยู่อาศัยท้ำกินตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 สำหรับพื้นที่ที่ถูกกันออกจาก เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเพื่อยกเลิกเขตป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

จากนั้นส่งมอบพื้นที่ที่บริเวณดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ดำเนินการจัดที่ดิน ให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกินตามกฎหมายให้ครบถ้วน พร้อมทั้งได้แจ้งคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยัง นายกรัฐมนตรี อัยการสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวง เกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน

เพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อทราบและด้าเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าว ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

นี่คือข้อความตอนหนึ่งในรายงานแถลงการณ์ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่ได้ระบุไว้

อุทานแห่งชาติทับลาน

สรุปง่าย ๆ ว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเคยมีคำวินิจฉัยว่า แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี 2524 ยังอยู่ แต่เมื่อปี 2543 กรมป่าไม้ได้มีการปักปันแนวเขตแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้มีการดำเนินให้เรียบร้อยเนื่องจากปี 2545 มีการเปลี่ยนแปลงกระทรวง ทบวง กรม โดยกรมอุทยานฯ กับกรมป่าไม้ แยกไปอยู่คนละกระทรวง ภารกิจนี้จึงคงค้างมาตั้งแต่บัดนั้น

หากดำเนินการต่อตามแนวเขตปี 2543 โดยการจัดสรรที่ดินให้ประชาชนตามสิทธิทางกฎหมายที่ถูกต้องก็ยุติปัญหาได้ หากยังไม่ดำเนินการประชาชนที่บริสุทธิ์ จะถูกดำเนินคดีหลายพันคน และหากพบความจริงแล้วข้าราชการ นายทุนที่ร่วมรุกป่าและบิดเบือนการบังคับใช้กฎหมายจนผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อนนั้นควรดำเนินการลงโทษอย่างเด็ดขาด 

เพราะมติคณะรัฐมนตรี 2 กุมภาพันธ์ 2564 รับทราบคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินและมอบหมายให้กระทรวงทรัพฯ เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะกรณีปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน รวมทั้งความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น ไม่กี่วันข้างหน้านี้จะรู้ดำรู้แดงกรณีคลาสสิกการกล่าวอ้างเรื่องการบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลานที่ยืดเยื้อมาหลายสิบปีว่าจะจบอย่างไร โดยการประชุมคทช.นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมในวันที่23 ก.พ. 2566

พล.อ.ประวิตร มอบที่ดินทำกิน

งานนี้วัดใจว่านายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจอย่างไร เพราะข้อมูลเชิงลึกทราบว่า พล.อ.ประวิตร เสนอให้คืนความเป็นธรรมให้ประชาชน ที่ครอบครองที่ดิน มาก่อนอุทยานฯทับลานเกิดขึ้นได้สิทธิอยู่อาศัยและทำกินต่อไป โดยมีเอกสารสรุปสี่แผ่นของผู้ตรวจการแผ่นดิน วันที่ 20 ก.พ.2566 เป็นเครื่องการันตี

พล.อ.ประวิตร มอบที่ดินทำกิน

หากงานนี้ พล.อ.ประวิตร ยื่นเรื่องนี้ต่อที่ประชุมแล้วหากมีมติตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินนับเป็นครั้งแรก ๆ ที่รัฐบาลคืนความเป็นธรรมเรื่องที่ดินให้ประชาชนจากความบกพร่องของหน่วยราชการ และจะเป็นโมเดลในการแก้ปัญหาในพื้นที่อื่น ๆ โดยต้องให้เครดิตนี้กับ พล.อ.ประวิตร ไปเพียว ๆ

logoline