svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"กฎหมายคุมสื่อ" ยังค้างสภา องค์ประชุมไม่ครบ ก่อนลงมติ

07 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ร่างพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯยังค้างรัฐสภา องค์ประชุมไม่ครบ สภาล่มก่อนลงมติ ด้านธนกรแจงไม่ใช่การแทรกแซงสื่อ แต่เป็นการส่งเสริมจริยธรรม และกลไกการทำงานของสื่อ

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นพิเศษ ในช่วงที่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. …. (กฎหมายคุมสื่อ) ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้ความเห็นอย่างกว้างขวางโดยส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว

จากนั้นนายธนากร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงและอภิปรายสรุปว่า ขอยืนยันจะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงกำกับดูแลสื่อเหมือนที่ทุกคนเข้าใจ แต่จะเป็นการส่งเสริมในเรื่องจริยธรรมและการมีกลไกในการทำงานของสื่อมวลชนที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารไปยังพี่น้องประชาชน

โดยสื่อมวลชนตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ต้องเป็นสื่อที่เป็นช่องทางในการนำเสนอข่าวสารไปยังประชาชน ไม่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อาทิ ผู้ทำเพจ Facebook Twitter ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีทราบเรื่องดี เพราะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีถึง 4 ครั้ง และจะเป็นดุลพินิจของสมาชิกฯ ที่จะรับหลักการหรือไม่ โดยรัฐบาลได้ทำอย่างดีที่สุดแล้ว โดยหากที่ประชุมรับหลักการก็สามารถแก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่สมาชิกฯ มีความห่วงใยได้

กฎหมายคุมสื่อค้างสภา องค์ประชุมไม่ครบ ก่อนลงมติ

ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงประเด็นข้อกฎหมายที่สมาชิกฯ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเนื้อหาของกฎหมาย โดยสมาชิกฯ เข้าใจว่าในมาตรา 35 เหตุใดจึงอ้างเพียงวรรคแรกวรรคเดียวนั้น ความต้องการของร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการสื่อให้เห็นถึงเหตุผลในการออกกฎหมายในมาตรา 35 ที่ระบุว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

ซึ่งได้มีสมาชิกฯ อภิปรายถึงขอบเขตและความหมายของคำว่า “จริยธรรม” ว่าวัดจากตรงไหนหรือดูจากอะไร จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะต้องร่างกฎหมายฉบับนี้และตั้งชื่อว่า กฎหมายส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะต้องการให้มีเนื้อหาในการอธิบายว่า จริยธรรมสื่อที่เขียนในมาตรา 35 มีขอบเขตเพียงใด จึงมีการกำหนดให้มีองค์กรหนึ่งซึ่งรัฐไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการเป็นองค์ประกอบของคณะกรรมการ

กฎหมายคุมสื่อค้างสภา องค์ประชุมไม่ครบ ก่อนลงมติ

ขณะที่นางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงว่า  ได้นำร่างกฎหมายที่ได้ศึกษามาทั้งหมด 33 มาตราแรก ไปรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนและผู้เกี่ยวข้องใน 4 ภูมิภาค คือ จังหวัดพิษณุโลก สงขลา ขอนแก่น และกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ร่วมรับฟังแสดงความคิดเห็น 627 คน จากนั้น ได้นำเผยแพร่บนเว็บไซต์ของคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูป

กฎหมายในระยะเร่งด่วน เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2561 มีผู้แสดงความคิดเห็นทั้งสิ้น 108 คน และยังมีผลของผู้แสดงความคิดเห็นออนไลน์ มีประเด็นสำคัญที่เห็นด้วยและให้ข้อคิดเห็น ข้อสังเกตต่างๆ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ ได้นำข้อคิดเห็นและข้อสังเกตเหล่านี้มาเข้าสู่กระบวนการศึกษา ไตร่ตรอง และได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ รัดกุม

จากนั้นที่ประชุมได้มีการเรียกนับองค์ประชุมก่อนที่จะมีการลงมติ แต่ปรากฏว่าองค์ประชุมมีเพียง 181 คน ไม่ครบองค์ประชุม ประธานฯ จึงสั่งปิดประชุม ในเวลา 17.44 นาฬิกา

ตัวอย่าง ความคิดจากสมาชิกรัฐสภา ต่อร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ….

ฝั่งไม่เห็นด้วย

ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.ก้าวไกล ก้าวว่า "กม.ฉบับนี้ไม่ตรงปก ปกอ้างว่าส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ แต่เนื้อหากลับเป็นการควบคุม" ห่วง ม.44 ของร่าง พรบ.สื่อ ที่ให้ กก.จริยธรรมส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบทลงโทษอาญาตามกฎหมายอื่นได้ จึงขอไม่รับหลักการ

อนุรักษ์ บุญศล สส.เพื่อไทย มองว่า สื่อที่มีสังกัด แทบไม่ได้รับผลกระทบจากร่าง พรบ.สื่อ แต่ที่น่าจะกระทบหนักแน่ๆ คือสื่อออนไลน์ รวมไปถึงผู้ใช้แพล็ตฟอร์มออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อาจถูกรัฐใช้ควบคุมสื่อหรือไม่ จึง ขอให้ถอนออกไป

มัลลิกา บุญมีตระกูล สส.ประชาธิปัตย์ อ้างถึงแถลงการณ์องค์กรวิชาชีพสื่อที่คัดค้านร่าง พรบ.สื่อ หลังมีปัญหาทั้งเรื่องที่มา กก.สภาวิชาชีพสื่อ การได้ทุนจากรัฐ ฯลฯ รวมถึงถูกเขียนตั้งแต่นานแล้ว "กม.ค่อนข้างล้าหลัง ไม่ตรงบริบทสื่อที่เปลี่ยนไป เขียนตั้งแต่ยังไม่มี tiktoker youtuber เลย" รวมถึงมีการกำกับดูแลกันเองอยู่แล้ว ไม่ควรมี กม.มาควบคุม จึงขอให้ถอนออกไป

จิรายุ ห่วงทรัพย์ สส.เพื่อไทย กล่าวว่า ร่าง พรบ.สื่อจะดี ถ้าสมบูรณ์ แต่เท่าที่อ่าน ร่างของมันมาแบบไม่ชอบเท่าไร ถ้าถอนไปก่อนจะดีกว่า เพราะรากของมันมาจากยุค คสช. ที่ใช้อำนาจนิยม ไม่อยากให้สื่อด่าท่านผู้นำ, สื่อจะดี-ไม่ดี สังคมจะให้คำตอบ, ปัญหานิยามสื่อหลงยุค, การตั้งสภาวิชาชีพสื่อใครจะตรวจสอบ, เจตจำนงดี แต่ยัดไส้ปัญหาไว้ข้างใน, กม.ฉบับนี้ "ไม่ตรงปก ไม่รู้กาลเทศะ" / ขอให้ถอนไปทำประชาพิจารณ์มากกว่านี้ ทั้งสมาคม บก. สื่อภาคสนามไปคุยกัน

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.ก้าวไกล กล่าวว่า บทบาทของสื่อสำคัญต่อประชาธิปไตย ที่จะต้องสื่อสารข้อมูลครบถ้วนรอบด้านและเป็นจริง แต่ปัญหาร่าง พรบ.สื่อ กลับกำหนดไว้ว่า เสรีภาพสื่อต้องไม่ขัดศีลธรรมอันดี (ม.5) ซึ่งความหมายไม่ชัดเจน , ข้อมูลจาก freedom house สื่อไทยไม่มีเสรีภาพ กฎหมายนี้เน้นควบคุมมากกว่าส่งเสริม จึงไม่เห็นด้วย

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ สส.ภูมิใจไทย มองว่า มีหลายครั้งที่สื่อมีปัญหา เช่น เฟกนิวส์ หลอกลวง หรือบางสื่อทำตัวเป็นมาเฟียเรียกรับผลประโยชน์, คำถามคือร่าง พรบ.สื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นได้จริงหรือ? กม.ล้าสมัย สื่อเปลี่ยนไป เขียนตั้งแต่ยังไม่มี tiktok, นอกจากนี้ ยังให้งบมาจากรัฐ อาจเปิดช่องครอบงำหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ถอนไปทบทวน แต่ถ้าต้องเดินหน้า ฝาก กมธ.วิสามัญปรับแก้

ฝั่งเห็นด้วย

เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. มองว่า เนื้อหาร่าง พรบ.สื่อ ตนพยายามดูว่าจะออกมาปิดหูปิดตาสื่อไหม ซึ่งยังไม่เห็น มีแต่ตั้งองค์กรขึ้นมาดูแล บทลงโทษก็มีแค่ตำหนิ ภาคทัณฑ์ ประจาน ไม่มีเรื่องออกใบอนุญาต-ขึ้นทะเบียน, สื่อมักพูดกันถึงเสรีภาพสื่อ แต่ไม่ได้พูดถึงเสรีภาพประชาชน เวลาโดนสื่อล่วงละเมิดหรือทำให้เสียหาย ตนจึงเห็นด้วย

สมชาย แสวงการ ส.ว. บอกว่า ในฐานะอดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ 2 สมัย เห็นด้วยกับร่าง กม.นี้ สื่อต้องปฏิรูปตัวเอง วันนี้มีสื่อแท้-สื่อเทียม เกิดกรณีสื่อคุกคามประชาชน แต่องค์กรวิชาชีพสื่อมีอำนาจจำกัด เป็นเสือกระดาษ

"เราอยากหลอกตัวเอง วันนี้สื่อมีปัญหาเรื่องจริยธรรมอย่างมาก อย่างทนาย แพทย์ วิศวกร ต้องมีกฎหมายกำกับดูแล สื่อเป็นใครล่ะครับถึงจะไม่มีกฎหมายกำกับดูแล หลายเรื่องดีมาก เช่น ได้เงินจาก กสทช., โครงสร้าง กก.สภาวิชาชีพสื่อก็เลือกกันเอง ปัญหาอื่นๆ ให้ไปแก้ในชั้น กมธ. คุยกันให้จบ พอมีรัฐบาลชุดใหม่ ก็ให้พิจารณาว่าจะยืนยันไหมใน 60 วัน"

logoline