svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สามารถ" ชี้ “ป้ายบางซื่อ 33 ล้าน” พบข้อกังขาเงินรั่วไหล ทำงบประมาณบานปลาย

25 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บทเรียนราคาแพง! "ดร.สามารถ" ชี้ “ป้ายสถานีกลางบางซื่อ 33 ล้าน” พบข้อกังขาเงินรั่วไหล ไม่ยึดราคากลางแต่ต้น ทำงบประมาณบานปลาย พร้อมยกตัวอย่าง หวั่นโครงการขนาดใหญ่ตรวจสอบยาก เพราะโครงการเล็ก ๆ ยังพบทุจริตอื้อ

กรณีมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเปลี่ยนป้ายชื่อ จาก สถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีราคาค่าใช้จ่ายสูงถึง 33 ล้านบาท จนเป็นที่มีของการตั้งคำถามว่าแพงไปหรือไม่ รวมทั้งเหตุใดต้องใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงในการจัดซื้อจัดจ้าง

กระทั่งวานนี้ (24 ม.ค.66) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง และประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ เป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยถึงผลการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ว่า ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า รฟท. ดำเนินการ นอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด

เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิม ที่ รฟท. ได้รายงานว่ามีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่า มีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้นการกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท. ของการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้ 

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง ด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงในครั้งนี้ รฟท. ได้อ้างเหตุผลของการจ้างด้วยเหตุตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ว่าเป็น “การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้” สรุปได้ว่าผลสอบการเปลี่ยน "ป้าย 33 ล้าน" ไม่พบสิ่งผิดปกติ นั้น  

ล่าสุด วันนี้ (25 ม.ค. 66) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ภายใต้หัวข้อ "ป้าย 33 ล้าน บทเรียนราคาแพง" โดยระบุว่า ข้อกังขาของป้ายราคา 33 ล้านบาท ชี้ให้เราเห็นว่าแม้ โครงการขนาดเล็กก็อาจมีเงินรั่วไหล แล้วโครงการขนาดใหญ่ซึ่งยากที่จะตรวจสอบจะไม่มีเงินรั่วไหลหรือ ? 

บทเรียนที่เราได้รับจากการเปลี่ยนชื่อป้าย “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” มีดังนี้

1. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ควรขอพระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของประเทศไทยและเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนก่อนดำเนินการก่อสร้าง เพื่อลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน เช่นเดียวกับ “สนามบินหนองงูเห่า” ซึ่งเป็นชื่อที่พวกเราเรียกขานกัน หรือ ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (New Bangkok International Airport : NBIA) 

ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้สื่อสารตอนเริ่มดำเนินโครงการก่อนได้รับพระราชทานชื่อ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2543 ก่อนเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร

2. แม้ว่าผลการตรวจสอบของคณะกรรมการ พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ได้ชี้ชัดว่าการเปลี่ยนป้ายชื่อมีราคาแพง แต่เป็นที่น่าสังเกตได้ว่าถ้าราคาไม่แพง คณะกรรมการฯ คงไม่เสนอแนะให้ทบทวนราคากลาง และวิธีการประมูล ซึ่งผมเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ

แต่เป็นที่น่ากังขาว่า “เหตุใด รฟท. จึงไม่นำแนวทางตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ มาใช้ตั้งแต่การคิดราคากลางครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ซึ่งคำนวณได้ 33,169,726.39 ล้านบาท เพราะเป็นแนวทางที่ รฟท. รู้ดีอยู่แล้ว” ดังนี้

(1) นำตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” มาใช้ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอแนะ ซึ่งผมขอเสนอแนะเพิ่มเติมว่าควรใช้ตัวอักษรเดิมอีก 2 ตัว ได้แก่ “ง” และ “อ” จากป้ายชื่อเดิม “บางซื่อ” มาใช้กับ “กรุงเทพอภิวัฒน์” ในป้ายชื่อใหม่ รวมทั้งควรนำตัวอักษรภาษาอังกฤษเดิมที่เหมือนกันมาใช้ด้วย

(2) ลดค่าออกแบบใหม่ซึ่งมีแบบเดิมอยู่แล้ว ไม่ได้ออกแบบใหม่ทั้งหมด

(3) ลดค่าใช้จ่ายในการเลือกใช้วัสดุ การรื้อถอนป้ายชื่อเดิม และติดตั้งป้ายชื่อใหม่

(4) เลือกวิธีการประมูลที่เปิดให้มีการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงได้

เหล่านี้เป็นแนวทางที่ รฟท. ควรนำมาใช้ในการคำนวณราคากลางในครั้งแรก เพราะมีประสบการณ์ในการคิดราคากลางดีอยู่แล้ว ปัญหาราคากลางที่ถูกกล่าวหาว่าแพงก็จะไม่เกิดขึ้น แต่เหตุใดจึงไม่นำมาใช้ ?

3. การเปลี่ยนป้ายชื่อเป็นโครงการขนาดเล็กแต่มีความสำคัญ โครงการขนาดเล็กเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณต่ำ การก่อสร้างไม่ซับซ้อน ซึ่งผู้สนใจทั่วไปสามารถรู้สึกได้ว่าราคาถูกหรือแพง ต่างกับโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง การก่อสร้างซับซ้อน ยุ่งยาก ดังเช่นโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น

ซึ่งผู้สนใจไม่สามารถรู้สึกได้ว่าราคาถูกหรือแพง เพราะยากที่จะตรวจสอบได้ ด้วยเหตุนี้ หากโครงการขนาดเล็กมีเงินรั่วไหล แล้วโครงการขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นมากมาย เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่มีเงินรั่วไหล ?

4. โครงการเปลี่ยนชื่อป้ายสถานีจาก “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ทำให้ประชาชนทุกคนได้บทเรียนราคาแพงว่า เราต้องให้ความสนใจกับการใช้งบประมาณ ซึ่งเป็นเงินภาษีของพวกเราในการประมูลทุกโครงการ

\"สามารถ\" ชี้ “ป้ายบางซื่อ 33 ล้าน” พบข้อกังขาเงินรั่วไหล ทำงบประมาณบานปลาย

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte

logoline