svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เสรี ฟันฉับ!สภาสูงเสียงไม่แตก ส.ว. แบ่ง 2 ขั้ว หนุน บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม

16 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เสรี" ยันไม่ได้เสนอแก้ รธน.วาระ นายกฯ 8 ปี แจงเป็นเพียงข้อศึกษา ปัดเอื้อ "บิ๊กตู่" คนเดียว ยกหากอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ ก็สามารถอยู่ได้ยาวหากชนะเลือกตั้ง ยอมรับ “วุฒิสภา” มาจากคสช. อาจมีแบ่งก๊กบ้าง แต่เชื่อเสียงไม่แตก เผยเลือกตั้งครั้งหน้าเงินสะพัดแน่ เพราะกม.เอาผิดไม่ได้

16 มกราคม 2566 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภาในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนของวุฒิสภา กล่าวถึงการประชุมกรรมาธิการในวันพรุ่งนี้ 17 มกราคม 2566 หนึ่งในวาระการพิจารณาเรื่องรายงานการปฏิรูปประเทศและรายงานจากสถาบันพระปกเกล้า เรื่องการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ในประเด็นการแก้มาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี มาตรา 159 เรื่องคุณสมบัติของนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. และมาตรา 272 เกี่ยวกับยกเลิก ส.ว. ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี หรือเรื่องการแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่ม โดยกล่าวย้ำว่า ศึกษาทุกประเด็นอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภา

โดยในประเด็นในการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ ยืนยันไม่ได้เจาะจง หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเพียงประเด็นการศึกษา และนำสู่สาธารณะเพื่อแสดงความเห็นการวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองและประชาชน โดยยังไม่ได้มีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญในเวลานี้ ซึ่งเห็นว่ากระบวนการแก้ไม่ได้ดำเนินการได้โดยง่าย เพราะมีขั้นตอนตามที่เงื่อนไขกำหนดไว้ทั้งเสียงวุฒิสภาเห็นชอบ 1 ใน 3 รวมถึงเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายค้านร้อยละ 20

 

นายเสรี ย้ำว่าการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นแก้ยาก และหากต้องการแก้ให้สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องหันหน้าพูดคุยกันตกลงกัน สร้างความสามัคคีปรองดอง ในมวลหมู่การเมืองและประชาชน เพราะไม่สามารถที่จะเสนอเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และการเสนอต้องมีความตั้งใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง หากมีการพูดจาเสียดสีด่าทอให้ร้าย หรือเอาแต่ประโยชน์ของพรรคการเมืองตัวเองก็คือการทะเลาะกัน จะไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลยซักประเด็นเดียว

"ในกระบวนการของการจะแก้ให้เป็นประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเกิดเป็นประเด็นนี้ขึ้นมาก็เป็นที่สนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ได้เสนอเพื่อจะแก้ให้พล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงผู้เดียว และก็ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ซึ่งไม่รู้พรรคไหนจะได้เสียง ส.ส. จำนวนเท่าไหร่" นายเสรีระบุ 

ทั้งนี้ นายเสรี ยังเชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นตัดอำนาจ ส.ว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และ คุณสมบัตินายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. ตามร่างแก้ของพรรคเพื่อไทยนั้น จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เพราะยังมีความเห็นไม่ตรงกัน แล้วเชื่อว่าข้อเสนอนั้นเป็นประเด็นเป้าหมายสำหรับการหาเสียงของพรรคการเมือง สร้างความด่างพร้อยให้วุฒิสภา สร้างปัญหาให้รัฐบาล

และยังเห็นว่าเป็นสิทธิของแต่ละพรรคการเมืองหากจะนำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญแก้วาระ 8 ปีนายกฯ เป็นนโยบายหาเสียง เพราะสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือก เพราะก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ อยู่ที่กลยุทธ์ของแต่ละพรรค และไม่ห่วงว่า ส.ว.จะถูกมองเป็นส่วนหนึ่งกลยุทธ์หาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงแต่ย้ำว่าทำตามหน้าที่ และมองว่าทุกพรรคการเมืองได้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ไม่ใช่ว่าพล.อ.ประยุทธ์ ได้ประโยชน์คนเดียว เพราะหากน.ส. แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นนายกฯ ก็สามารถที่จะเป็นได้ยาวเช่นกัน

"พอเสนอประเด็น พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในวาระ 2 ปี คนก็คิดว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็หยิบยกขึ้นมาเล่นงานเขา และเลือกตั้งครั้งหน้ายังไม่รู้เลยว่าพรรคไหนจะได้เท่าไหร่ พรรคของพล.อ.ประยุทธ์ จะได้ ส.ส. กี่คนก็ไม่รู้ จะไปกังวลทำไม ถ้ากังวลเท่ากับว่ากลัว หรือคิดว่าจะเป็นฝ่ายค้านไปตลอดหรือ" นายเสรี กล่าว

นายเสรี ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนหลักการแก้วาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี กำหนดไว้เพื่ออะไร ซึ่งหลักก็คือเพื่อไม่ให้เป็นนานเกินไป แต่เมื่อผ่านมาแล้วบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2550 ก็เห็นปัญหาว่าการกำหนดเช่นนี้ หากมีคนดีมีความสามารถมีความรู้ และสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้ก็ถูกจำกัดสิทธิ์ตรงนี้ เราจึงเห็นว่าควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

ส่วนกรณีกระแสข่าวที่มีการ แบ่งฝั่งของ ส.ว. เลือกหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ นั้น นายเสรี กล่าวว่า ส.ว. มีการแบ่งเป็น 2 ฝั่งจริง และยอมรับตามสภาพว่า ส.ว.ชุดนี้มาจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งใน คสช. มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน ฉะนั้นการเสนอชื่อในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาจากคน ๆ เดียว 

ซึ่งขณะนี้อาจมีแนวทางความเห็นหลายกลุ่ม หลายพวก แต่เชื่อว่าในท้ายที่สุด จะมีเสียงแตกออกไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งโดยรวมส่วนใหญ่วุฒิสภาจะต้องเอาประเทศ เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง การที่จะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ว. ซึ่งมีวาระ 5 ปี จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมาทำหน้าที่นี้

ดังนั้น ต้องมีสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ หากเสนอคนดีเข้ามาก็ต้องสนับสนุน แต่หากดูแล้วมีปัญหาสร้างความแตกแยก อยู่ในกลุ่มทุจริตคอร์รัปชั่น เล่นการเมือง ไม่ได้เห็นผลประโยชน์ของบ้านเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจ เชื่อว่า ย้ำว่าส่วนใหญ่ ส.ว.จะเป็นไปในทางทิศทางเดียวกัน

นายเสรี ยังกล่าวถึงการที่ ส.ว. ลงไปสังเกตการณ์ การเลือกตั้งซ่อมแต่ละครั้ง มีการใช้เงินจำนวนมาก แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ยังทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐาน ประชาชนก็ไม่กล้าไปเป็นพยาน มองว่ามีโอกาสสูงที่จะใช้เงินในการเลือกตั้งครั้งหน้า ทั้งนี้ ต้องย้อนกลับไปดูกฎหมายที่สุดท้ายคนที่กล้าซื้อเสียง กล้าทำผิดกฏหมายชนะทุกที

เพราะกฎหมายผิดทั้งคนให้และคนรับ จึงไม่มีใครกล้าแสดงตัวออกมาเป็นพยาน ตนจึงเสนอว่า ผู้ที่ซื้อเสียงถือว่าผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่รับเงินถือว่าไม่ผิดกฎหมาย ดังนั้น จึงจะทำให้มีหลักฐานเอาผิดคนที่ซื้อเสียงได้ แต่ยังไม่มีใครกล้าทำ พร้อมมองว่าเมืองไทยเก่งที่สร้างกลไกในการเอาคนผิดมาลงโทษไม่ได้

logoline