svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

จีนก็ไม่ใช่ อเมริกาก็ไม่เชิง ตัวตนของ ไอลีน กู่ เมื่อการเมืองทับซ้อนกีฬา

26 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับ จีน ทุกวันนี้ ไม่ได้หยุดเพียงแค่ด้านรัฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจอีกต่อไป การโอนสัญชาติของนักกีฬาระหว่างสองประเทศ กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอลิมปิกฤดูหนาว เมื่อ ไอลีน กู่ นักกีฬาสาวสวยเจ้าของสองเหรียญทอง ถูกผู้ประกาศชาวอเมริกันวิจารณ์ว่าเป็น “คนทรยศ”

Highlights

  • ครั้งหนึ่ง มิเชล ควาน และ ไมเคิล ชาง คือสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในโลกกีฬา
  • แต่ปัจจุบัน เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มาถึงจุดต่ำสุดในรอบกว่าสี่สิบปี เพราะความขัดแย้งทางการเมือง การโอนสัญชาติของนักกีฬาระหว่างสองชาติ จึงกลายเป็นเรื่องต้องห้าม
  • ไอลีน กู่ นักสกีสาว ถูกกลุ่มอนุรักษ์นิยมในสหรัฐฯ โจมตีว่า “ทรยศ” หลังเลือกเล่นให้ทีมชาติจีน ทั้งที่เธอเกิดและเติบโตในสหรัฐฯ และกลายเป็นเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ ว่าเธอจะต้องเจออะไรอีกบ้างในอนาคต

--------------------

          ในโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง ที่เพิ่งจบไป

 

          ชื่อและภาพของ กู่ อ้ายหลิง หรือ ไอลีน กู่ นักสกีสาวสวยวัย 18 ปี ถูกยกให้เป็นหนึ่งในไฮไลท์สำคัญของรายการ

 

          ไม่ใช่เพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอก การให้สัมภาษณ์ที่ฉลาดเฉลียว หรือเหรียญทองในประเภทบิ๊กแอร์

 

          แต่ยังรวมถึงสถานะของเธอที่เกิดและเติบโตในสหรัฐฯ แต่เลือกเล่นให้กับทีมชาติจีน

 

          ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติจากสองทวีป กำลังอยู่ในช่วงที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปีก็ว่าได้

 

ขั้วอำนาจเดิม กับลูกพี่ใหญ่จากเอเชีย
(จีน กลายเป็นขั้วอำนาจสำคัญของโลก เทียบเคียงสหรัฐฯ ในยุคที่ สี จิ้นผิง เป็นประธานาธิบดี / ภาพ Getty Images)

          หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ แทบจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในแทบทุกด้าน ทั้งภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ การค้า การทหาร และเทคโนโลยี

 

          จนเมื่อจีนเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มังกรจากแผ่นดินใหญ่ ก็ค่อย ๆ ยกระดับขึ้นมาเทียบเคียบในเวลาเพียงไม่กี่ปี

 

          นอกจากเรื่องทางยุทธศาสตร์ที่มีไต้หวันเป็นพื้นที่อ่อนไหว หรือปัญหาสิทธิมนุษยชน ทั้งในฮ่องกง และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ฯลฯ

 

          หลายปีมานี้ เราจะเห็นการขับเคี่ยวกันระหว่างสองชาติเพื่อชิงความเป็นหนึ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยีบ่อยครั้งขึ้น

          เช่น การรวมตัวของพันธมิตรซีกโลกตะวันตกบอยคอตต์เทคโนโลยี 5G ของบริษัทในจีน หรือการขึ้นบัญชีดำบริษัทจากจีนโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ

 

          แม้แต่ในโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งล่าสุด สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรหลายราย ก็คว่ำบาตรทางการเมือง ด้วยการไม่ส่งตัวแทนไปร่วมในพิธีเปิด
 

ไม่ใช่คนเอเชีย ไม่ใช่คนอเมริกัน

(เบเวอร์ลี จู โอนสัญชาติจากอเมริกันมาเป็นจีน เพื่อเป็นฮีโร่ แต่กลับถูกไล่กลับสหรัฐฯ เพราะล้มเหลว / ภาพ AFP)

          แม้ผู้นำแต่ละชาติ หรือ โธมัส บาค ประธานไอโอซี จะให้สัมภาษณ์ถึงการแยกประเด็นเรื่องการเมืองจากกีฬา

 

          แต่สุดท้ายความตึงเครียดเหล่านี้ ก็ยังลุกลามไปถึงนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันอยู่ดี

 

          สื่อของชาติเจ้าภาพ เลือกที่จะไม่นำเสนอข่าวการคว้าเหรียญทองของ เนธาน เฉิน นักฟิกเกอร์สเก็ตอเมริกันเชื้อสายจีน

 

          เบเวอร์ลี จู นักสเก็ตสาวที่เกิดในแคลิฟอร์เนีย แต่เลือกเล่นให้ทีมชาติจีน ถูกรุมถล่มบนโลกโซเชียล ไล่กลับไปเป็นคนอเมริกัน เพียงเพราะเธอพลาดล้มระหว่างการแข่งขันจนชวดเหรียญรางวัล

 

          ขณะที่การคว้าเหรียญทองให้ทีมชาติจีนของ ไอลีน กู่ ก็ถูกชาวอเมริกันโดยเฉพาะกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยม ให้ความเห็นถึงในเชิงลบ

 

          เพราะแทนที่จะเลือกเล่นให้สหรัฐฯ แผ่นดินที่เธอเกิดและอาศัยอยู่ กลับเลือกเล่นให้จีนตามสัญชาติของแม่

 

          สิ่งที่ทั้งสามคนนี้ต้องเจอ คือการเกิดเป็นคนอเมริกันเชื้อสายจีน ที่ไม่เคยถูกนับรวมกับฝั่งไหนได้แบบ 100%

 

          และปัจจุบัน กำลังกลายเป็นชนวนให้เกิดการโต้เถียงกัน เมื่อถูกโยงเข้ากับเรื่องความรักชาติ ศักดิ์ศรีของคนในประเทศ ฯลฯ แทนที่จะถูกมองเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

 

เรื่องส่วนตัว ผลประโยชน์ หรือความรักชาติ
(ไอลีน กู่ เผยว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอเลือกเล่นให้จีน เพราะแม่ / ภาพ Baidu)

          โดยทั่วไปแล้ว การที่นักกีฬาที่ถือพาสปอร์ตหลายสัญชาติ จะเลือกเล่นให้ชาติใดชาติหนึ่งนั้น ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับคำว่า "รักชาติ" เสมอไป

 

          เพราะยังมีทั้งเรื่องส่วนตัว ผลประโยชน์ที่จะได้รับ หรือโอกาสในการประสบความสำเร็จ
 

          กรณีของ กู่ ก็เช่นกัน

          ไอลีน เฝิง กู่ เกิดและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในซาน ฟรานซิสโก เธอมีพ่อเป็นชาวอเมริกัน และแม่เป็นชาวจีน ซึ่งย้ายมาใช้ชีวิตในสหรัฐฯ ระหว่างเดินทางมาศึกษาต่อ

 

          โลกของ กู่ เป็นการผสมผสานระหว่างตะวันตกกับตะวันออก เธอเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นนำที่สหรัฐฯ และกลับไปเที่ยวบ้านเกิดของแม่ที่ปักกิ่งในช่วงปิดเทอม

 

          จึงพูดภาษาจีนสำเนียงปักกิ่งได้คล่องแคล่ว ไม่แพ้ภาษาอังกฤษที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

 

          สมัยเป็นนักกีฬาเยาวชน เธอเล่นให้กับสหรัฐฯ ก่อนย้ายไปเล่นให้จีน ตอนอายุ 15 ปี ทั้งใน วินเทอร์ ยูธ โอลิมปิก, วินเทอร์ เอ็กซ์ เกมส์ และ ชิงแชมป์โลกในปี 2021 รวมถึง โอลิมปิกฤดูหนาว เป็นรายการล่าสุด

 

          กู่ อธิบายเหตุผลที่เลือกเล่นให้ จีน ว่าเพราะ สกีคือกีฬาที่แม่ของเธอซึ่งเป็นชาวจีนชื่นชอบ

 

          และเธอก็อยากส่งต่อแรงบันดาลใจนี้ให้กับชาวจีนรุ่นใหม่ เพราะสกียังถือเป็นชนิดกีฬาที่ใหม่มากสำหรับคนที่นั่น

 

          แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องของผลประโยชน์จากการเลือกเล่นให้จีน ก็อาจมีไม่น้อยเช่นกัน

 

          เพราะนับแต่ตัดสินใจเลือกเล่นให้จีน ความนิยมของ กู่ ก็พุ่งสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว

 

          โดยเฉพาะสปอนเซอร์จากแผ่นดินใหญ่ที่เข้ามาให้การสนับสนุน กว่า 30 แบรนด์ รวมถึงได้ขึ้นปกนิตยสารแฟชั่นอย่าง Vogue และ Marie Claire ฉบับภาษาจีนด้วย

 

          ยิ่งเมื่อเธอคว้าเหรียญทองมาครอง ก็ยิ่งทำให้เธอยิ่งเป็นที่รู้จักขึ้นไปอีก

 

          วัดได้จากบัญชี Instagram ของเธอ ณ วันนี้ (ข้อมูล เมื่อ ก.พ. 65) ก็มียอดผู้ติดตามแล้วกว่า 1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมถึงห้าเท่า ในเวลาแค่เดือนเดียว

 

ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วย
 
(ไอลีน กู่ คือซูเปอร์สตาร์ของจีน ณ วันนี้ แต่อนาคต? / ภาพ Reuters)

          ในสถานการณ์ทั่วไป การโน้มน้าวนักกีฬาให้โอนสัญชาติ เพื่อเล่นให้ทีมชาติใหม่เป็นเรื่องปกติ

 

          เหมือนที่ มิเชล ควาน หรือ ไมเคิล ชาง เป็นนักกีฬาอเมริกันเชื้อสายจีน ที่ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลจีน

 

          แต่ปัจจุบันที่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพิ่มสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ทำให้ทางเลือกของ กู่ มีผลสะท้อนรุนแรงกว่าที่คิด

 

          วิล เคน พิธีกรรายการ Fox News กล่าวออกอากาศว่า กู่ ทรยศประเทศที่เธอเติบโต และส่งเสริมให้เธอเป็นนักกีฬาระดับโลกได้อย่างในปัจจุบัน

 

          แม้แต่ฝั่งอนุรักษ์นิยมของจีน ก็แสดงท่าทีต่อต้าน กู่ เช่นกัน หนึ่งในนั้น คือ หู สี่จิน อดีตบรรณาธิการของ Global Times หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ที่เตือนสื่อต่าง ๆ ในประเทศว่าอย่าด่วนโหมประโคมยกย่องนักสกีสาวจนเกินไป

 

          เพราะกระแสอาจตีกลับได้ หากเธอตัดสินใจกลับไปเล่นให้ทีมชาติสหรัฐฯ ในอนาคต

 

          "เราไม่ควรฝากความภาคภูมิใจของชาวจีนไว้กับ กู่ อ้ายหลิง"

 

          ขณะที่ กู่ ก็ปฏิเสธจะตอบคำถาม ว่าเธอสละสัญชาติอเมริกันหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมา จีน ไม่เคยอนุญาตให้นักกีฬาถือสองสัญชาติมาก่อน

 

          และในอนาคต ก็ใช่ว่าสถานะฮีโร่ของ กู่ จะคงอยู่เสมอไป เพราะเธออาจกลายเป็นศัตรูของชาติได้ หากล้มเหลว

 

          เหมือนกรณีของ จูอี้ หรือ เบเวอร์ลีย์ จู นักฟิกเกอร์สเก็ตที่สละสัญชาติสหรัฐฯ มาเล่นให้จีน ในรายการนี้

 

          แต่การพลาดล้มระหว่างแข่งขันจนชวดเหรียญรางวัล ทำให้เธอถูกโลกโซเชียลโจมตีอย่างหนัก จนหน่วยงานอินเทอร์เน็ตของจีนต้องสั่งเซนเซอร์เรื่องนี้อย่างเด็ดขาด

 

          แน่นอนว่านั่นเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็ในตอนนี้

 

          เห็นได้จากท่าทีการต้อนรับอย่างอบอุ่นของแฟน ๆ บนโลกโซเชียล เมื่อเห็นเธอโพสต์รูปคู่กับขนมจีนจานใหญ่ พร้อมข้อความเป็นภาษาจีนบนเว็บไซต์ Weibo (เว่ยป๋อ)

 

          "ยินดีต้อนรับกลับบ้าน" แฟนกีฬารายหนึ่งโพสต์ข้อความตอบกลับ

 

          "ที่นี่คือบ้านของเธอตลอดไป"

--------------------

SOURCE

logoline