svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

หลิง หยู่ และ ตง ตง พิธีกรและอินฟลูเอนเซอร์โลกเสมือนใน โอลิมปิก ฤดูหนาว

22 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในยุคสมัยที่แม้แต่อินฟลูเอนเซอร์ยังเป็นบุคคลเสมือนที่สร้างจากเทคโนโลยี จึงไม่แปลกที่แนวคิดนี้ จะถูกนำมาต่อยอดในวงการกีฬาด้วย เหมือนที่ปรากฏใน ปักกิ่ง 2022 กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งล่าสุด ที่มีสองสาวจากโลกเสมือน หลิง หยู่ กับ ตง ตง มาร่วมสร้างสีสันในรายการนี้

Highlights

  • เวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ กลายเป็นอีกเทรนด์ที่เติบโตขึ้นต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อคนบางกลุ่มมองหาบางสิ่งที่ไม่จำเจ และตอบโจทย์พวกตนในเรื่องแง่คิด
  • ทุกวันนี้ อินฟลูเอนเซอร์เสมือนจริงบางราย อาจมียอดผู้ติดตามสูงกว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่มีตัวตนจริง ๆ ด้วยซ้ำ
  • หลิง หยู่ และ ตง ตง คือผลงานของสองยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน ทั้ง Tencent และ Alibaba และจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการสร้างแคมเปญใหม่ ๆ ที่ไม่หยุดเพียงแค่การแข่งขันกีฬาอย่างแน่นอน

--------------------

          ในยุคที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล แม้แต่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์บนโลกโซเชียล ก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เช่นกัน

 

          2-3 ปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะเคยเห็นเหล่า "บุคคลเสมือน" ปรากฎตัวบ่อยขึ้น ทั้งในภาพยนตร์โฆษณา หรือแคมเปญโปรโมทสินค้าต่าง ๆ

 

          ที่น่าทึ่งคือ บุคคลเสมือนเหล่านี้ ก็ได้รับความนิยมจากผู้คน ไม่น้อยไปกว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่มีตัวตนจริง ๆ

 

เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์ คืออะไร?

          คำว่าโลกเสมือนนั้นบ่งบอกในตัวแล้วว่า บุคคลเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง

 

          แต่ถูกสร้างขึ้นโดยทีมงานเบื้องหลังที่ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้ง กราฟฟิก โมเดล 3 มิติ ฯลฯ เข้ากับการวางคอนเซปต์ และบุคลิกให้ "บุคคลเสมือน" เหล่านี้ สามารถมีอิทธิพลต่อความคิดของผู้ชมได้
 

          หนึ่งในเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง คือ ลิล มิเกลา (Lil Miquela) ซึ่งเป็นคาแรกเตอร์ที่มีผู้ติดตามบน Instagram มากถึง 3 ล้านคน (ข้อมูล เมื่อเดือน ก.พ. 65)

 

          ความนิยมของ ลิล มิเกลา ทำให้เธอได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกมากมาย อาทิ Prada, Samsung, Calvin Klein ฯลฯ

 

          จนแม้แต่ Time Magazine ยังต้องบรรจุชื่อเธอเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลบนโลกอินเทอร์เน็ต ในปี 2018 มาแล้ว

ทำไมไร้ตัวตน แต่ทรงอิทธิพลได้?

          ที่ผ่านมา คนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลาย เป็นที่ยอมรับด้วยภาพลักษณ์ บุคลิก หรือคุณสมบัติอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นตัวตนของคนเหล่านั้นจริง ๆ

 

          หรืออาจเกิดจากการวางบทบาท ให้ตรงกับความต้องการของคนบางกลุ่ม จนเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมในที่สุด

 

          การสร้างตัวตนของ เวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์ ขึ้นมานั้น จึงไม่ใช่แค่อาศัยแค่การเรนเดอร์กราฟฟิกให้ออกมาสวย

 

          แต่ทีมงานเบื้องหลัง (เช่นกรณีของ ลิล มิเกลา ที่สร้างโดย Brud ซอฟต์แวร์เฮาส์จากแคลิฟอร์เนีย) ต้องใช้การเก็บข้อมูลต่าง ๆ และนำมาวิเคราะห์

 

          ค่อย ๆ พัฒนารูปลักษณ์ภายนอก กำหนดบุคลิกและนิสัยใจคอต่าง ๆ เพื่อให้ตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย

 

          โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิด มากกว่าจะยึดติดกับตัวบุคคล

 

          ขณะที่แบรนด์ต่าง ๆ ก็เริ่มสนใจกับแนวคิดนี้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทั้งในแง่ของการเป็นตัวแทนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ไปจนถึงความยืดหยุ่นเรื่องตารางงาน และการไม่มีวันแก่ ไม่มีวันป่วย รวมถึงไม่ต้องพะวงเรื่องภาพลักษณ์อีกต่อไป

 

          และใน โอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่งครั้งนี้ ก็เป็นเวทีเปิดตัวสองสาวบุคคลเสมือนในวงการกีฬา ที่มีบทบาทสำคัญระหว่างอีเวนท์

 

          หนึ่งคือ หลิง หยู่ พิธีกรและล่ามภาษามือของสถานีโทรทัศน์ CCTV และ ตง ตง อินฟลูเอนเซอร์สาวบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TMall

 

หลิง หยู่ ล่ามภาษามือโลกเสมือน

(หลิง หยู่ ผู้ประกาศและล่ามภาษามือเสมือนจริง ผู้สื่อสารกับกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน / ภาพจาก Tencent)

          ปัจจุบัน จีน มีผู้พิการทางการได้ยินราว 27.8 ล้านคน การสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ด้วยภาษามืออย่างแม่นยำจึงมีความจำเป็นมาก

 

          ในโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ สถานีโทรทัศน์ CCTV ร่วมกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของประเทศอย่าง Tencent จึงพยายามหาแนวทางใหม่ ๆ เพื่อลดช่องว่างดังกล่าวให้ได้มากที่สุด

          จนเป็นที่มาของ หลิง หยู่ (Ling Yu) พิธีกรและล่ามภาษามือ ที่จะคอยรายงานความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้
(ภาพจาก Tencent)

          แต่ หลิง ไม่ใช่ล่ามภาษามือทั่วไป เพราะเธอเป็น AI ที่ถูกสร้างขึ้นโดย Tencent Cloud ร่วมกับสองสตาร์ทอัพ Zhipu AI (ผู้พัฒนาคาแรกเตอร์โลกเสมือน ด้วย AI และ Data) และ Luster (ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์วิชั่น)

 

          ล่ามภาษามือเสมือนรายนี้ ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ โมเดล 3 มิติ อัลกอริทึมแปลภาษา การรู้จำคำพูด การเข้าใจภาษา ฯลฯ

 

          จนเข้าใจคำและวลีต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านกีฬา รวมกันกว่า 1.6 ล้านรูปแบบ

 

          นอกจากนี้ ยังเข้าใจและรับรู้สีหน้า การเคลื่อนไหวของปาก และสามารถแปลงเป็นภาษามือเพื่อสื่อสารกับผู้มีปัญหาเรื่องการได้ยินอย่างแม่นยำ เกินกว่า 90%

 

          ขณะที่รูปลักษณ์ภายนอก ก็สร้างขึ้นให้เป็นหญิงสาวหน้าตาดี เป็นมิตรกับทุกคน และเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ

 

ตง ตง : อินฟลูเอนเซอร์เสมือนบน Tmall
(ตง ตง สาวปักกิ่งบนโลกเสมือน ที่คอยให้ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งล่าสุด / ภาพจาก Alibaba)           ในเวลาไล่เลี่ยกัน ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของจีนอย่าง Alibaba ก็เปิดตัว ตง ตง (Dong Dong) อินฟลูเอนเซอร์สาว บน Tmall เว็บไซต์อย่างเป็นทางการสำหรับขายสินค้าที่ระลึก ระหว่างถ่ายทอดสดการแข่งขัน

 

          ตง ตง คือใคร?

 

          ตง ตง (หรือลมหนาวในภาษาจีน) เป็นสาววัย 22 ปี ที่เกิดและเติบโตในปักกิ่ง ชื่นชอบกีฬาฤดูหนาว กระตือรือร้น ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับแฟน ๆ กีฬาโอลิมปิก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ

 

          เช่นเดียวกับ หลิง หยู่ ตง ตง เป็น AI ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย DAMO Academy หน่วยงานวิจัยนวัตกรรมของ Alibaba ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีหลากรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน

 

​​​​​​​          ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอกที่ใช้โมเดลสามมิติ จำลองการแสดงออกทางสีหน้าที่สมจริง และการเคลื่อนไหวร่างกายที่เป็นธรรมชาติ

 

​​​​​​​          ด้านการใช้ภาษา ก็มี Text to Speech เพื่อสังเคราะห์เสียงต่าง ๆ, การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP), การสังเคราะห์คำพูดตามอารมณ์ความรู้สึก (Emotional Speech Synthesis) ฯลฯ

          ทั้งหมดนี้ ทำให้ ตง ตง ฉลาดพอจะสื่อสารและสนทนากับผู้คนได้ใกล้เคียงกับมนุษย์

 

          ด้วยน้ำเสียงมีชีวิตชีวา สามารถแสดงอิริยาบถต่าง ๆ เช่น ยกนิ้วโป้ง โพสต์ท่านิ้วมือเป็นรูปหัวใจ เช็ดน้ำตาเมื่อผิดหวัง ฯลฯ

 

          ขณะเดียวกัน ก็สามารถให้ข้อมูลต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแข่งขันครั้งนี้ได้ด้วย

 

          เสี่ยวหลง ลี หัวหน้าทีมที่รับผิดชอบการพัฒนา ตง ตง อธิบายว่าเวอร์ชวลอินฟลูเอนเซอร์รายนี้ ถูกสร้างขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าเราสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมโยงกับการแข่งขันกีฬาหรืออีเวนท์ต่าง ๆ ได้อย่างไร

 

          ลี เชื่อว่าในอนาคต อินฟลูเอนเซอร์โลกเสมือนอย่าง ตง ตง หรือ หลิง หยู่ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นบนเมตาเวิร์ส เป็นใบเบิกทางสำหรับรูปแบบใหม่ ๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ยิ่งเมื่อ Alibabla ตกลงเป็นพันธมิตรกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี จนถึงปี 2028 เป็นอย่างน้อย

 

          นั่นแปลว่าเราจะได้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ถูกนำมาใช้ในการแข่งขันรายการต่อ ๆ ไปด้วย

--------------------

SOURCE

logoline