svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ความเชื่อเกี่ยวกับปีชง ความหมาย ต้นกำเนิด และความแตกต่างจากต้นตำรับ

12 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปีชง และ แก้ชง ความเชื่อที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน ทำให้ผู้คนต้องออกไปหาทางแก้ชงกันวุ่นวาย แต่สงสัยกันหรือไม่ว่าปีชงมาจากไหน? อะไรคือปีชง? และจากในอดีตรูปแบบของปีชงแตกต่างจากปัจจุบันเพียงไร?

Highlights

  • ปีชง รวมไปถึง แก้ชง คือแนวคิดที่อยู่กับเรามายาวนาน จากความเชื่อในเรื่องดวงชะตาของคนไทยเชื้อสายจีนที่ได้รับความนิยม แพร่หลายไปยังผู้คนจำนวนมากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติอีกต่อไป
  • แต่เดิมคำว่า ชง แปลว่า ชน เกี่ยวพันความเชื่อโหราศาสตร์จีนผนวกเข้ากับแนวคิดลัทธิเต๋า และโชคชะตาของบุคคลว่าจะได้รับการส่งเสริมหรือเป็นอริต่อเทพประจำปีนั้นๆ
  • เทพเจ้าต้นตำรับความเชื่อเรื่องปีชงคือ ไท้ส่วยเอี้ย เป็นเทพเจ้าที่มีความผูกพันกับดวงดาวและดวงชะตาของมนุษย์ ที่ได้รับการนับถือมายาวนานกว่า 3,000 ปี
  • ความเชื่อเรื่องปีชงเป็นแนวคิดตกทอดมาแต่จีนโบราณอยู่คู่ผู้คนมายาวนาน รวมถึงมีการอ้างอิงกับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ และเริ่มแพร่หลายเข้ามาในไทยนับแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา
  • ปัจจุบันรูปแบบอีกทั้งความหมายของปีชงเปลี่ยนไปมาก ทั้งจากยุคสมัย การหลอมรวมทางวัฒนธรรม หรือการเข้ามาเกี่ยวข้องในเชิงพาณิชย์และการตลาด

--------------------

          ผ่านพ้นช่วงเวลาขึ้นปีใหม่สากลมาสักพัก แต่สำหรับชาวจีนพวกเขากำลังจะเข้าสู่ช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ กับเทศกาลตรุษจีนที่ถือเป็นการเริ่มต้นปีและงานฉลองรวมญาติครั้งใหญ่ รวมถึงเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นใหม่ให้ผู้คนมีโอกาสได้ปรับเปลี่ยนแก้ไขสิ่งที่เกิดในปีก่อน ละทิ้งสิ่งไม่ดีจากปีเก่าเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ

 

          ภายในช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ของจีนนอกจากงานฉลองในช่วงเวลาขึ้นปีใหม่ อีกสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านานคือ ปีชง หรือปีที่ดวงชะตาของคนเราไม่มงคลแก่ดวงชะตาของเราเอง ก่อให้เกิดเป็นธรรมเนียมการ แก้ชง ที่ต้องมีการไปกราบไหว้ขอพรตามวัดต่างๆ เพื่อผ่อนเรื่องเลวร้ายที่อาจเข้ามาและเกิดขึ้นในชีวิตจากหนักให้เป็นเบา

          หลายคนคงเคยได้ยินปีชงและการไหว้แก้ชงมาช้านาน แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าตกลงแล้วปีชงที่ว่ามาจากไหน? ทำไมดวงชะตาของคนเราจึงไปตกอยู่บนปีชงได้? แล้วตกลงคำว่าชงที่ว่ามันมีความหมายแบบใดกันแน่?

วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกร สถานที่ยอดนิยมแก้ปีชง ที่มาและความหมายของคำว่าปีชงกับเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ย
          ปีชง ตามความหมายจีนคำว่า ชง หมายถึง ชน ส่วนนี้อ้างอิงจากหลักความเชื่อโหราศาสตร์จีน เรื่องปีนักษัตรประจำปี รวมถึงหลักการธาตุทั้ง 5 อย่าง ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง ตามหลักคิดของลัทธิเต๋า มารวมกับวันเดือนปีเกิดตามปฏิทินจีนโบราณของแต่ละคน และเทพประจำปีของปีนั้นๆ ว่าส่งเสริมหรือขัดแย้งดวงชะตาของแต่ละคนแค่ไหน

 

          เมื่อเกิดการชงหรือดวงชะตาชนกับเทพเจ้าขึ้นจะทำให้ดวงชะตาของคนผู้นั้นตกต่ำ ทำให้ชีวิตเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เต็มไปด้วยการติดขัด ดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก โรคภัยไข้เจ็บถามหา เคราะห์ร้ายและเภทภัยจะถาโถมมาถึงตัว เป็นเหตุให้ต้องมีการไหว้ปีชงเพื่อผ่อนหนักเป็นเบาส่งเสริมดวงชะตาให้ดีขึ้น หรือที่เราอาจรู้จักกันในชื่อ สะเดาะเคราะห์ นั่นเอง

 

          รายละเอียดของปีชงและการแก้ชงจัดว่ามีความซับซ้อนเพราะต้องประเมินจากหลายอย่าง มีรายละเอียดต้องคิดถึงมากมาย ทั้งจากวันเกิด เดือนเกิด ปีเกิด เวลาเกิด หากมีความขัดแย้งกับเทพประจำปีนั้นๆ ก็มีการกราบไหว้เพื่อส่งเสริมดวงชะตา ร้องขอความเมตตา เพื่อผ่อนเรื่องเลวร้ายจากหนักให้เป็นเบา นั่นคือหลักการคิดของสิ่งที่เรียกว่าปีชง

 

          เทพเจ้าที่มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดของปีชงคือ ไท้ส่วยเอี้ย พูดให้ถูกคือเป็นกลุ่มเทพเจ้าที่มีต้นตอมาจากลัทธิเต๋าของชาวจีน เป็นเทพประจำดวงดาวที่เชื่อว่าคอยคุ้มครองดวงชะตาของผู้คนให้แคล้วคลาด ปลอดภัย รอดพ้นจากภัยอันตรายทั้งปวง ถือเป็นเทพเจ้าเก่าแก่ที่ได้รับความศรัทธามายาวนานกว่า 3,000 ปี

          เทพไท้ส่วยจะมีการโคจร หมุนเวียน ผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละปีตามดวงดาว โดยจะมีเทพเจ้าในจำนวนนี้รวมกันทั้งสิ้นคือ 60 องค์ หรือ 5 รอบปีนักษัตร ตามจำนวนปีนักษัตรกับธาตุทั้งห้า จากความเชื่อเทพเจ้านี้ทำหน้าที่ดลบันดาลโชคและขจัดเภทภัยแก่มวลมนุษย์ ในทางหนึ่งจึงมีความผูกพันต่อคนเราค่อนข้างมาก จนมีการบูชาเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ยในทุกตรุษจีน

ลัทธิเต๋า ต้นตอความเชื่อเกี่ยวกับปีชง
ต้นแบบความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับปีชง 
          รากฐานของความเชื่อเกี่ยวกับปีชงเป็นความเชื่อพื้นบ้านของชาวจีน ผสมผสานทั้งความเชื่อจากหลักคิดของขงจื้อ ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภูตผีปีศาจ สิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ซึ่งอยู่คู่สังคมจีนโบราณมายาวนาน ซึมลึกในวิถีชีวิตของผู้คนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีวัฒนธรรมจีนไปในที่สุด

 

          เช่นเดียวกับเทพไท้ส่วยเอี้ยเองหลายคนล้วนมีตัวตนจริง ในกลุ่มนี้จำนวนมากคือเหล่าบุคคลเลื่องชื่อในประวัติศาสตร์ถูกหยิบมาอ้างอิงกราบไหว้ คล้ายคลึงกับกรณีของ งักฮุย และ กวนอู ที่ถูกยกให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ อย่างไท้ส่วยเอี้ยประจำปี 2565 คือ ห่องักไต่เจียงกุง ขุนพลชำนาญศึกผู้นำพาชัยชนะมาสู่ราชวงศ์หยวน รวมถึงขุดหลุมฝังศพมากมายให้แก่เหล่าทหารที่พลีชีพไปในการศึก จนได้รับการสถาปนาสู่ ยงกว๋อกง เป็นต้น

 

          ความเชื่อเรื่องปีชงมีรากฐานจากลัทธิเต๋าที่เชื่อเรื่องดวงชะตาเต็มตัว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา นับแต่สมัยพุทธกาลไม่เคยมีเรื่องปีชงบันทึกไว้มาก่อน แนวคิดนี้เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยจากการอพยพเข้ามาของคนจีนโพ้นทะเลเข้ามาตั้งรกราก ครั้งที่เริ่มทิ้งอิทธิพลไว้มากคือในสมัยรัชกาลที่ 3 จนมีร่องรอยทางสถาปัตยกรรม เช่น วัดราชโอรส ที่มีร่องรอยความเป็นจีนอยู่มาก

 

          ชุดความคิดเรื่องปีชงหลั่งไหลเข้ามาตามการอพยพของชาวจีน ทวีความเข้มข้นมากขึ้นตามจำนวนการอพยพมาตั้งรกราก ก่อนเริ่มแพร่หลายมากขึ้นเมื่อเริ่มมีการหลอมรวมเข้ากับวัฒนธรรมไทย จนในปัจจุบันนอกจากคนไทยเชื้อสายจีนเจ้าของรากฐานความเชื่อดั้งเดิมแล้ว ยังแพร่หลายไปถึงคนหลายกลุ่มแม้แต่ในทางศาสนาพุทธที่ไม่เคยมีความเชื่อนี้ก็ตาม

 

          ความแพร่หลายนี้ส่วนหนึ่งมาจากบทบาทอิทธิพลชาวจีนที่แพร่กระจายไปหลายระดับ ทุกภูมิภาคเต็มไปด้วยคนเชื้อสายจีนรวมตัวกันเหนียวแน่นตกทอดประเพณีสู่ลูกหลาน เมื่อมีจำนวนมากชึ้นจึงเริ่มเกิดความหลอมรวมทางวัฒนธรรม อีกส่วนมาจากโอกาสในทางเศรษฐกิจเพื่อดึงดูดใจผู้คน ทั้งจากชาวจีนที่เป็นเจ้าของความเชื่อและชาวไทยจึงเกิดการขยายตัวเป็นวงกว้าง

 

          แต่นั่นอาจทำให้หลายท่านสงสัยขึ้นมาเล็กน้อยว่าสรุปแล้ว ปีชงที่เราไหว้กันต่างจากต้นตำรับในจีนแค่ไหน?

รูปเคารพเทพเจ้าไท้ส่วยเอี้ยทั้ง 60 องค์

ความแตกต่างระหว่างปีชงในประเทศไทยและปีชงในจีน
          เมื่อมีการหลอมรวมวัฒนธรรมระหว่างจีนและไทย ความหมายของคำว่าปีชงรวมถึงรูปแบบการแก้ไขจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากต้องปรับให้เข้ากับผู้คนรวมถึงสถานที่ใหม่ รวมถึงเมื่อมีการเข้ามาเกี่ยวข้องเชิงพาณิชย์ยิ่งทำให้รูปแบบแตกต่างไปจากเดิมมาก อย่างเช่น

 

1. พิธีกรรมของชาวจีนในวันเก่าที่ไม่ได้มีแค่เรื่องแย่ๆ
          เดิมพิธีกรรมปีชงคือแนวคิดความเชื่อของชาวจีน โดยสามารถส่งผลได้ทั้งแง่บวกและลบ การแก้ชงคือนำสิ่งเลวร้ายออกไปเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต แต่เมื่อความเชื่อเรื่องปีชงแผ่ขยายไปยังผู้ไม่ได้มีเชื้อสายจีน กลับเหลือเพียงความหมายด้านลบแค่ปีชง ตกหล่นด้านที่ส่งเสริมดวงชะตาไปพอสมควร

 

2. สถานที่ในการแก้ไขปีชงที่เปลี่ยนผ่านจากบ้านสู่ศาสนสถาน
          ส่วนนี้มากจากทั้งการโยกย้ายถิ่นฐานและการปรับตัวเข้าสู่โลกปัจจุบัน เดิมการแก้ชงสามารถทำที่ใดก็ได้ไม่จำกัดสถานที่ แต่ปัจจุบันการแก้ชงถูกโยกย้ายมาสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของจีนมากขึ้น อีกทั้งบางส่วนยังมีการแผ่ขยายไปถึงสถานที่ทางศาสนาของไทยอีกด้วย

 

3. ปีชงที่เคยมีแค่ปีตรงข้ามกับนักษัตรทวีความซับซ้อนขึ้นกว่าเก่า
          แรกเริ่มปีชงจะเกิดขึ้นแค่ปีนักษัตรเดียวในรอบปีเท่านั้น ถ้าชงกับปีนักษัตรใดก็จะได้รับผลกระทบอยู่ปีเดียว ไม่มีการแบ่งสัดส่วนหรือผลกระทบไปหานักษัตรอื่น แต่ปัจจุบันมีการแบ่งแยกย่อยแตกส่วนลดหลั่นกันไปเป็นระบบ ตั้งแต่ 100% 75% 50% 25% นับว่าขยายการชงไปยังนักษัตรอื่นในแต่ละปีให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

 

4. นอกจากปีนักษัตรแล้วที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กันคือหลักธาตุทั้งห้า
          ความเชื่อเรื่องปีชงสมัยก่อนต้องพิจารณาถึงธาตุทั้งห้า ดิน น้ำ ไฟ ไม้ ทอง ควบคู่ไปด้วย บางครั้งแม้เราอยู่ในปีชงแต่ธาตุอาจไม่ชงก็ได้ เช่น ปีนี้เป็นปีมะเส็งธาตุน้ำ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือปีกุนธาตุไฟที่นับเป็นปีชงเพราะอยู่ในธาตุแพ้ทาง ส่วนปีกุนธาตุดินที่เป็นธาตุชนะทางจะถือว่าไม่ชง ตรงข้ามกับปัจจุบันที่คำนึงถึงแค่ปีนักษัตรโดยละเลยส่วนธาตุทั้งห้าไปจนหมด

 

5. ช่วงเวลาแก้ชงที่เคยสำคัญแต่หมดความหมายไปในปัจจุบัน
          จังหวะเวลาการแก้ชงในสมัยก่อนต้องกระทำหลังตรุษจีนเพราะถือเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านปี หากไหว้ช่วงเวลาก่อนตรุษจีนถือว่ายังไม่ได้เปลี่ยนปีนักษัตรจึงไม่เกิดผล ซึ่งส่วนนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงวันที่เป็นฤกษ์เหมาะสมในการแก้ชงด้วย แต่ในปัจจุบันสามารถแก้ชงได้โดยสะดวกในทุกช่วงเวลาไม่มีการจำกัดแบบแต่ก่อน ไม่ยึดติกับช่วงเวลามงคลตามตำราจีนอีกต่อไป

 

6. ผู้ดำเนินพิธีกรรมแก้ปีชงที่จำกัดลงกว่าแต่ก่อน
          การแก้ชงสมัยก่อนสามารถทำได้ตามบ้านเรือนทั่วไป ขอแค่มีผู้รู้พิธีดำเนินการอย่างถูกต้อง วิธีแก้ชงจึงสามารถตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ตำรา หรือเนื้อความที่ระบุในปฏิทิน แต่ในปัจจุบันการแก้ชงจำกัดอยู่ตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องทำตามขั้นตอนจากสถานที่เหล่านั้นระบุไว้ ตามผู้เชี่ยวชาญในสถานที่นั้นๆ เป็นผู้กำหนด

 

7. การแก้ปีชงที่จัดทำเพื่อความสบายใจ กลายเป็นการขอพรพึ่งพาเทพเจ้า
          ในอดีตหากไม่สะดวกใจในการแก้ชงสามารถเปลี่ยนเป็นการพก ฮู้ หรือ ยันต์ เครื่องรางจีนเพื่อเสริมดวง รวมถึงอาศัยการทำดี มีสติ ระลึกรู้ เพราะต้องการย้ำเตือนให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง แต่ปัจจุบันกลายเป็นข้อบังคับสำหรับคนที่มีความเชื่อเรื่องปีชง ให้ต้องไปแก้ไขกราบไหว้สักการะเทพเจ้า ขอความช่วยเหลือพึ่งพาบารมีเพื่อช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาแทน

 

8. การตลาดและพาณิชย์ที่เปลี่ยนหลักคิดเกี่ยวกับปีชงให้ไม่เหมือนเดิม
          เดิมของไหว้และวัตถุมงคลในการแก้ชงจัดทำขึ้นเพื่อให้ความสบายใจ เป็นไปในเชิงสัญลักษณ์ให้ยึดเหนี่ยวแต่ไม่ใช่กับปัจจุบัน เมื่อชุดไหว้รวมถึงวัตถุมงคลมีหลากหลายมากขึ้น รวมถึงสถานที่แก้ชงที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยว สร้างสถานที่ทั้งหลายให้กลายเป็นแหล่งแก้ชงนำมาเชิดชูเป็นจุดขายเพื่อเหตุผลทางการตลาด จึงนับว่าการแก้ชงมีความเปลี่ยนแปลงจากสังคมไปมากพอสมควร

เมื่อปีชงก้าวเข้าสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น จึงเริ่มมีสินค้าเกี่ยวกับปีชงเป็นจำนวนมาก
          แน่นอนว่าการแก้ชงเป็นความเชื่อส่วนบุคคล แต่จุดหมายแรกเริ่มของปีชงอาจเป็นกุศโลบาย มีขึ้นเพื่อย้ำเตือนผู้คนให้มีสติ ระลึกรู้ พึงระวังในการใช้ชีวิตเป็นหลัก อาจมาจากประสบการณ์ของชาวจีนโบราณที่ว่า แต่ละช่วงวัยหรืออายุตามปีนักษัตรคือช่วงใดของชีวิต สามารถคำนวณได้ว่าช่วงปีใดคือช่วงเวลาเป็นอันตรายจึงอยากให้ลูกหลานระมัดระวังตัวมากขึ้น

 

          เนื้อแท้ปีชงอาจเป็นความหวังดีจากบรรพบุรุษส่งตรงถึงลูกหลานเพื่อให้ไม่ผิดพลาดซ้ำรอยแบบพวกเขาก็เป็นได้

--------------------

ที่มา

logoline