svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

“ชิปหาย” วิกฤตการณ์ที่สร้างความเสียหายทั่วโลก

29 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลายท่านอาจเริ่มสังเกตเห็นว่าราคาของอุปกรณ์ไอทีถีบตัวสูง ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการที่มากขึ้นในยุคโควิด แต่ประการสำคัญมาจากชิป ชิ้นส่วนแกนกลางสำคัญของอุตสาหกรรมเริ่มขาดตลาด จนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

Highlights

  • การขาดแคลน ชิป หรือ เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนสำคัญของคอมพิวเตอร์กลายเป็นปัญหาใหญ่ คุกคามอุตสาหกรรมจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อการผลิตหลายตลาด
  • ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการเติบโตของบริษัทผลิตชิป TSMC ของไต้หวัน ที่แซงหน้าธุรกิจโรงงานผลิตชิปของสหรัฐฯ จนเริ่มครองสัดส่วนทางการตลาดจำนวนมากของโลก
  • สงครามการค้าทำให้บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากจึงไม่อาจเข้าถึงข้อมูลและสินค้าของประเทศฝ่ายตรงข้าม กลายเป็นปัญหาต่อทั้งสองฝ่ายในการค้าผลิตสินค้าด้วยเช่นกัน
  • เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ความต้องการสินค้าไอทีขยายตัวทำให้ทุกอย่างระเบิดออก ขีดความสามารถในการผลิตชิปของ TSMC ไม่เพียงพอรองรับตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าถีบตัวสูงและเกิดการโก่งราคา
  • แม้เพิ่มกำลังการผลิตเต็มที่แต่ยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาในเวลาอันสั้น จนอาจทำให้ปัญหาชิปขาดตลาดนี้ยืดยาวไปจนถึงกลางปี 2022 
  • แนวโน้มทิศทางของตลาดชิปน่าจะดีขึ้นในอนาคต เมื่อหลายประเทศเริ่มหันมาสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง ในอนาคตน่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในวงการจนปริมาณมากขึ้นและราคาสินค้าถูกลง

--------------------

          สำหรับคนในแวดวงไอทีคงคุ้นเคยจนเริ่มปลงกับสภาวะนี้ไปแล้ว แต่อีกหลายคนอาจพากันสงสัยถึงราคาสินค้าไอทีจึงทยอยปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ และช่วงหลังยังมีปัญหาสินค้าบางชนิดหาซื้อค่อนข้างยาก กลายเป็นความขาดแคลนในการใช้งานจนทำให้ราคาพุ่งขึ้นไปอีก 

 

          ทั้งหมดนี้ขึ้นมาจากสินค้าประเภท ชิป หรือ เซมิคอนดักเตอร์ ส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขาดตลาด ส่งผลไปถึงตลาดขนาดใหญ่จำนวนมาก ทั้งโทรศัพท์มือถือ, ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, เครื่องเกมคอนโซล ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า

          ความเดือดร้อนนี้ถือเป็นเรื่องทั่วไปและปัญหาแพร่หลายในวงการอีกทั้งกินเวลานานนับปี กระนั้นแนวทางแก้ปัญหาเป็นรูปธรรมยังไม่สามารถทำได้ทันทีต้องรอเวลาอีกสักพัก นั่นทำให้หลายคนที่ต้องการซื้ออุปกรณ์ไอทีในช่วงนี้ต่างเฝ้ารอว่า เมื่อใดสิ่งที่ตนต้องการจะลดราคาลงมาเสียที

“ชิปหาย” วิกฤตการณ์ที่สร้างความเสียหายทั่วโลก ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนไป
          เดิมเราคุ้นเคยกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จากฝั่งสหรัฐฯที่มีบริษัทไอทีและคอมพิวเตอร์จำนวนมาก แน่นอนในส่วนเทคโนโลยีการออกแบบชิปสหรัฐฯยังคงเป็นผู้นำ แต่ในส่วนขั้นตอนหรือโรงงานการผลิตสินค้าอิเล็กโทรนิกส์ที่ใช้กัน เกือบทั้งหมดหากไม่ย้ายฐานการผลิตก็ล้วนจ้างบริษัทภายนอกแทบทั้งสิ้น

 

          สาเหตุของเรื่องนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วก้าวหน้าขึ้นทุกวัน การพัฒนาไม่หยุดยั้งก่อให้เกิดต้นทุนปริมาณมหาศาลในส่วนเครื่องมือสำหรับใช้ในการผลิตที่สูงตาม ทำให้เจ้าของเทคโนโลยีจำนวนมากไม่สามารถแบกรับไว้ได้ จนต้องทยอยปิดตัวหรือแยกกิจการออกกไปทีละเจ้า เหลือเพียง Intel เจ้าเดียวที่ยังคงโรงงานผลิตในประเทศ

 

          ตรงข้ามกับบริษัทในสหรัฐฯที่ค่าแรงและต้นทุนสูง บริษัทรับจ้างผลิตชิปกลุ่มนี้เติบโตขึ้นพร้อมบริษัทรายย่อยที่มุ่งเน้นแค่กลุ่มวิศวกรโดยไม่ลงทุนด้านอุปกรณ์การผลิต เมื่อบริษัทกลุ่มนี้มีจำนวนมากเริ่มเติบโตขึ้นตามเวลา ทำให้บริษัทผลิตชิปนอกประเทศเฟื่องฟูตามไปด้วย จนสามารถอยู่ในจุดคุ้มทุนจากการรับจ้างผลิตชิปคุณภาพสูงแก่บริษัทจำนวนมาก

 

          บริษัทที่ประสบความสำเร็จจากโมเดลธุรกิจนี้สูงสุดคือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ของไต้หวัน กับ Samsung Semiconductor แห่งเกาหลีใต้ ถือเป็นผู้นำสูงสุดแห่งตลาดการผลิตชิป รองลงจากนั้นคือ Intel แล้วจึงเป็น Semiconductor Manufacturing International Corporation (SMIC) ของจีนตามลำดับ

          เห็นได้ชัดว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ล้วนอยู่ในแถบเอเชีย กลายเป็นการโยกย้ายฐานการผลิตขนาดใหญ่ บริษัทไอทีจำนวนมากจึงต้องพึ่งพาโรงงานนอกประเทศอย่างช่วยไม่ได้ ทำให้เมื่อมีการสั่นคลอนเสถียรภาพการค้าระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากสงครามการค้า

TSMC บริษัทผลิตชิปส่งออกรายใหญ่สุดของโลก

จุดเริ่มต้นของปัญหา - สงครามการค้าสหรัฐกับจีน
          นโยบายสงครามการค้า เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดี โดนัลล์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ โดยการขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจีนจากร้อยละ 10 ขึ้นเป็นร้อยละ 25 ถูกใช้งานกับสินค้าจากจีนมากกว่า 6,000 รายการ แค่ในปีแรกก็เป็นมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(6.5ล้านล้านบาท) ซึ่งทางการจีนจึงออกมาตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีแบบเดียวกัน 

 

          ส่วนนี้มาจากนโยบายชาตินิยมสุดโต่ง และมองต่างชาติโดยเฉพาะจีนที่กลายเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจเป็นศัตรู นั่นทำให้เกิดการแบนบริษัทจีนเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตสินค้าโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Huawei ถูกสั่งห้ามขายสินค้าทั้งหมดในสหรัฐฯ กีดกันไม่ให้บริษัทจากจีนเข้ามามีส่วนแบ่งในประเทศ 

 

          เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โรงงานผลิตชิปของจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯได้ด้วยเช่นกัน ทางบริษัทในสหรัฐฯเองก็ถูกบังคับให้ใช้สินค้าหรือชิปผลิตภายในประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมตลาดในประเทศ และเหตุผลด้านความปลอดภัยจากการจารกรรมข้อมูลไซเบอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ถูกหยิบมาใช้ในการโจมตี Huawei ในครั้งนี้

 

          นี่เองคือจุดเริ่มต้นแห่งปัญหาด้วยโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯเหลือเพียงแค่ของ Intel เพียงเจ้าเดียว อีกทั้งไม่สามารถรองรับเทคโนโลยีการผลิตระดับสูงแบบที่โรงงานของ TSMC และ Sumsung ทำได้ เมื่อสินค้าจากโรงงานผลิตชิปของจีนไม่สามารถส่งนำเข้าสู่สหรัฐฯได้ รวมกับการกวานซื้อกักตุนสินค้าเข้าไปด้วยสถานการณ์จึงยิ่งทวีความสุ่มเสี่ยง

 

          แม้ในสมัยประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะเริ่มมีการผ่อนคลายข้อเรียกร้องเรื่องกำแพงภาษีบ้าง แต่เห็นชัดว่านโยบายของเขาก็ไม่ใช่การยอมอ่อนข้อหรือผ่อนปรนให้ทั้งหมด รวมถึงความหวาดกลัวในกรณี จีนบุกยึดไต้หวัน แพร่สะพัด สหรัฐฯจึงเริ่มหันมาทุ่มเทพัฒนาโรงงานผลิตชิปภายในประเทศเพื่อขยายการลงทุน แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่จะประสบความสำเร็จในเร็ววัน

 

          นั่นทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงเข้ามาซ้ำเติมทุกอย่างจึงระเบิดออกมาอย่างที่เห็น ปัญหาที่เรียกว่า โควิด-19

ทรัมป์ - สีจิ้นผิง สองผู้นำแห่งยุคสงครามการค้า ย่างก้าวแห่งวิกฤตการณ์ - การระบาดของโควิด-19
          ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโรคระบาดในคราวนี้ทำชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตั้งแต่การทำงาน การเข้าสังคม หรือการใช้ชีวิตกลับตาลปัตรจากเดิม การรวมตัวพบหน้าคนหมู่มากกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ธุรกิจจำนวนมากล้มตายจากความเปลี่ยนแปลง แต่ก็มีบางธุรกิจที่ได้รับอานิสงค์เติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยเช่นกัน

 

          มาตรการกักตัวจนถึง Work from home ทำให้ความต้องการใช้งานสินค้าไอทีเพิ่มอย่างก้าวกระโดด ด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตที่จากนี้อุปกรณ์ไอทีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานจนถึงสังสรรค์พูดคุยเพื่อนฝูง เรียกว่าชีวิตคนเราช่วงหนึ่งต่างมาบรรจบกันได้ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยอดขายและส่งออกสินค้าจึงเติบโตกันทั่วหน้าเกือบทุกเจ้า

 

          เมื่อความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นผู้ผลิตทุกเจ้าจึงอยากขยายกำลังการผลิตตามความต้องการ ปัญหามาเกิดตรงนี้เองเมื่อจุดตายของอุปกรณ์ทุกชิ้นต้องการชิปเป็นแกน แต่ทั้งสหรัฐฯและจีนต่างไม่สามารถเข้าถึงสินค้าจากโรงงานของอีกฝ่ายได้จากสงครามการค้า ผลกระทบที่ตามมาจึงเริ่มเกิดขึ้นในตอนนี้เมื่อกำลังการผลิตเริ่มไม่เพียงพอ

 

          อีกทั้งโรงงานหลักสองแห่งที่ทั่วโลกต่างต้องการใช้บริการทั้ง TSMC และ Samsung ต่างประสบปัญหาจากโควิด-19 ทั้งการกักตัว ติดเชื้อของพนักงาน หรือการล็อกดาวน์ ถึงกลับมาทำงานได้หลายที่ก็ต้องลดจำนวนพนักงานให้เหลือระดับต่ำสุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดวงกว้าง ทำให้อัตราการผลิตลดลงจากเดิมที่เคยเป็น

 

          ร้ายแรงไปกว่านั้นคือภัยธรรมชาติยังตรงเข้าซ้ำเติมให้โรงงานไม่สามารถดำเนินไปตามปกติ โดย TSMC จำเป็นต้องใช้น้ำสะอาดจำนวนกว่า 1.56 แสนล้านตันต่อวัน เมื่อประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำจืดจึงไม่มีวัตถุดิบในการผลิต เลี่ยงไม่ได้ที่ทางบริษัทต้องลดอัตราการผลิตลงให้สอดคล้อง จำนวนสินค้าที่ออกมาสู่ตลาดจึงลดลง

 

          นี่กลายเป็นปัญหาร้ายแรงเพราะ TSMC คือบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดการผลิตชิปกว่า 70% เมื่อกำลังการผลิตไม่เพียงพอปัญหาดังกล่าวจึงระเบิดออก กลายเป็นความขาดแคลนลามไปในทุกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งปัญหานี้ไม่มีทีท่าจะจบลงโดยง่าย เมื่อปมปัญหาที่เป็นต้นตอของเรื่องทั้งหลายยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย

 

          แนวคิดในการเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงงานอื่นยังมีอยู่แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อให้เป็น Intel หรือ SMIC ก็ยังไม่สามารถผลิตชิปทรงประสิทธิภาพเทียบเท่า TSMC ได้ ทาง Samsung เองก็รับผลิตชิปในสัดส่วนที่น้อยกว่าเพราะเน้นการผลิตให้สินค้าตัวเองเป็นหลัก ทำให้แบรนด์ใหญ่หลายเจ้าพลาดโอกาสตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างน่าเสียดาย

 

          นอกจากนี้อีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้อุปกรณ์และสินค้าไอทีขาดแคลนอยู่ก่อนอย่าง เหมืองคริปโต หรือการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อค้นหาเหรียญจากสกุลเงินดิจิทัลยังคงได้รับความนิยม จากมูลค่าเหรียญที่นานวันมีแต่เพิ่มขึ้นรวมถึงได้การยอมรับเป็นวงกว้าง สิ่งนี้ซ้ำเติมปัญหาความขาดแคลนที่มีอยู่แล้วให้ร้ายแรงไปขึ้นอีก

 

          ปัจจุบันแนวโน้มและความรุนแรงในการขาดแคลนก็ยังคงอยู่ เห็นได้จากกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือเครื่องเกมคอนโซลยังไม่เต็มประสิทธิภาพ บางส่วนขาดตลาดไม่เพียงพอความต้องการของผู้บริโภค เปิดโอกาสให้มีคนกว้านซื้อนำสินค้าไปโก่งราคายังคงพบเห็นได้ทั่วไป

 

          อีกทั้งจากคำตอบของผู้เชี่ยวชาญหรือบริษัทผู้ผลิตทั้งหลายเราน่าจะต้องอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ไปอีกพักใหญ่
Playstation5 หนึ่งในสินค้าขาดตลาดประจำปี 2021 การแก้ปัญหาและแนวโน้มตลาดการผลิตชิปในอนาคต
          เรื่องนี้ทาง TSMC ได้ออกมาเปิดเผยว่าแม้พวกเขาจะเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น เพิ่มการลงทุนในด้านพื้นที่และอุปกรณ์การผลิต รวมถึงจ้างพนักงานเพิ่มเป็นจำนวนหลายพันคน ลงทุนเพิ่มกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อขยายกำลังการผลิตก็ตาม แต่ปัญหานี้อาจคงอยู่ไปจนถึงไตรมาส 3 ปี 2022 เลยทีเดียว

 

          นั่นทำให้หลายชาติรวมถึงบริษัทจำนวนมากเริ่มรู้ตัวว่า พวกเขาไม่สามารถฝากฝังอนาคตของบริษัทและประเทศไว้กับบริษัทต่างชาติแห่งเดียว หลายแห่งจึงเริ่มเกิดการกระตุ้นการลงทุนด้านโรงงานผลิตชิปเป็นจำนวนมาก จากความต้องการภายในตลาดชิปในปัจจุบันที่มีแต่จะเพิ่มขึ้น

 

          เริ่มตั้งแต่เจ้ายักษ์เดิมอย่าง TSMC เองมีแผนจะลงทุนถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการผลิตชิป สหรัฐฯเองก็สนับสนุนการลงทุนเป็นจำนวนกว่า 5.2 หมื่นล้านดดอลลาร์ สนับสนุนในการจัดตั้งสถาบันวิจัย ออกแบบ รวมถึงผลิตชิปในประเทศ ซึ่งปัจจุบันงบประมาณดังกล่าวกำลังจะได้รับการอนุมัติในไม่ช้า

 

          ฝรั่งเศสและเยอรมนีเองก็มีความสนใจลงทุนธุรกิจในส่วนนี้ พวกเขาเริ่มเจรจากับบริษัท Intel เพื่อการสนับสนุนทางภาษี รวมถึงร่วมลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตชิป เช่นเดียวกับทางญี่ปุ่นที่ดึงบริษัท TSMC ให้เริ่มตั้งโรงงานในเมืองคุมาโมโตะได้สำเร็จ แสดงให้เห็นท่าทีกระตือรือร้นในการกระโจนลงร่วมในธุรกิจนี้ทั่วหน้า

 

          แม้แต่จีนเองที่ปัจจุบันบริษัทชั้นนำอย่าง SMIC ภายหลังสงครามการค้าทำให้เทคโนโลยีการผลิตติดขัดไปมาก ด้วยสิทธิบัตรจำนวนมากถูกผูกติดจากฝั่งสหรัฐฯจนไม่อาจชดเชยได้ในเวลาอันสั้น แต่การสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเองก็ทำให้บริษัทนี้น่าจับตาเช่นกันว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าบริษัทจากจีนจะสามารถพัฒนาศักยภาพเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้หรือไม่

 

          แต่ที่แน่ใจคือในวันหน้าปัญหาเมื่อใดที่โรงงานทั้งหมดพร้อมสรรพสำหรับใช้งาน เราจะหมดปัญหาชิปขาดตลาดโดยสิ้นเชิง

โอกาสครั้งสำคัญของ Intel ในการได้รับผู้สนับสนุนครั้งใหญ่           ได้เห็นกันไปแล้วว่าทั่วโลกกำลังรุดหน้ากระโจนลงมาในอุตสาหกรรมผลิตชิปอย่างพร้อมเพรียง น่าสนใจอย่างยิ่งว่าในอนาคตการแข่งขันเป็นวงกว้างจะยกระดับการพัฒนาชิปไปถึงไหน แต่การแข่งขันเช่นนี้สุดท้ายผลประโยชน์จะกลับมาตกอยู่ที่ผู้บริโภค เพราะเมื่อมีการแข่งขันดุเดือนเป็นวงกว้าง ชิปจะถูกพัฒนามากขึ้นในราคาที่ถูกลงตามกลไกตลาด

 

          น่าสนใจอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีการผลิตและคุณภาพของชิปจะสามารถไปได้ถึงไหน ไต้หวันกับเกาหลีใต้จะสามารถครองตลาดนี้ได้ดังเดิมหรือไม่ เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯรวมถึงจีนกระโดดมาร่วมวง รวมถึงประเทศอื่นจะยกระดับโรงงานให้สามารถทัดเทียมมหาอำนาจทางการผลิตตอนนี้ได้กี่ราย

 

​​​​​​​          แต่ตอนนี้เราคงต้องภาวนาให้สถานการณ์ชิปขาดแคลนคลี่คลายในเร็ววัน เพื่อเบาบางปัญหาที่เจอกันตอนนี้ไปก่อน

--------------------

ที่มา

logoline