svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

การวิ่งกับโอกาสทางการศึกษา ต้องอีกสักกี่ก้าวถึงสามารถขจัดความเหลื่อมล้ำ

23 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การเปิดรับบริจาคของ ตูน บอดี้สแลม ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่คราวนี้ผลตอบรับกลับปะปนทั้งเสียงชื่นชมและคัดค้าน บ้างก็บอกว่าเป็นการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส บางคนก็บอกว่าไม่ได้ช่วยแก้ต้นตอปัญหา อะไรทำให้ผู้คนคิดเช่นนั้น เราจะพาไปหาคำตอบกันจากบทความนี้

Highlights

  • เป็นกระแสสังคมอีกครั้งกับ ตูน บอดี้สแลม แต่คราวนี้เสียงกลับแตกเป็นสองฝั่ง เมื่อมีการประกาศรับบริจาคเป็นทุนการศึกษาให้ใช้เรียนต่อชั้นมัธยมปลาย แต่เกิดข้อโต้แย้งว่าทำแบบนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
  • เดิมนี่คือสิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ถูกตัดออกไปในรัฐธรรมนูญปี 2560 อีกทั้งภายหลังจากมีคำสั่งคสช.มาเพิ่มเติมน่าจะพอทุเลาลงบ้าง ปัญหาหลักจึงอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่า
  • ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถือเป็นเรื่องใหญ่ สามารถหยิบประเด็นแยกย่อยออกมาได้มากมายว่าทำไมเด็กคนหนึ่งจึงหลุดจากระบบการศึกษา โดยมีประการสำคัญคือฐานะทางเศรษฐกิจ
  • ซึ่งการบริจาคนี้ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ผิดแต่มันช่วยแก้ปัญหาได้ไม่มาก และไม่สามารถเปลี่ยนภาพรวมใดของปัญหาได้แม้แต่นิดเดียว
  • ผู้เล่นสำคัญที่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวถ้าอยากให้ปัญหานี้ได้รับแก้ไขคือภาครัฐ ที่จำเป็นต้องทีความชัดเจนหรือออกมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษามากกว่านี้

--------------------

          การวิ่งของ อาทิวราห์ คงมาลัย หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ตูน บอดี้สแลม นักร้องที่กลายเป็นกระแสร้อนแรงจากโครงการวิ่งมาราธอน ก้าวคนละก้าว คอยเรี่ยไรเงินบริจาค ซื้ออุปกรณ์ให้แก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลนในปี 2562 จนผู้คนต่างพากันชื่นชมยกย่องการกระทำของเขาในวันนั้น

 

          วันนี้เขากลับมาอีกครั้งในโครงการ ก้าวเพื่อน้องปี 2 หลังประกาศวิ่งเวอร์ชัวรันอีกครั้ง โดยมีระยะทางทั้งหมด 109 กิโลเมตร เป็นเวลา 59 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2565 เงินบริจาคโดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะนำไปมอบเป็นทุนการศึกษาแก่เด็กๆ เพื่อใช้เป็นทุนเรียนต่อชั้นมัธยมปลายและสายอาชีพต่างๆ

          ฟังดูเป็นเรื่องดี แต่ทำให้มีคำถามเกิดขึ้นพร้อมกันว่าการออกวิ่งเพื่อรับบริจาคแบบนี้ มันช่วยแก้ไขหรือขจัดปัญหาเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษาได้สักแค่ไหน เมื่อความพยายามแก้ปัญหาโดยการรับบริจาคเกิดขึ้นทุกปีแต่ไม่ช่วยสถานการณ์ให้ดีขึ้น อีกทั้งกระแสในการเปิดรับบริจาคนานวันยังเสียงแตก แยกเป็นสองฝั่งระหว่างเห็นด้วยกับการทำแบบนี้ไม่ช่วยแก้ปัญหา

ก้าวคนละก้าว ที่เคยประสบความสำเร็จทั่วประเทศ ปัญหาด้านประเด็นทางการศึกษา กับความเหลื่อมล้ำทางสังคม
          การเหลื่อมล้ำทางการศึกษาคือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคมจนพบได้ทั่วไป ในส่วนนี้สามารถแตกย่อยออกมาได้ในหลายประเด็น แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือฐานะทางเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ คือเหตุผลหลักที่ทำให้เด็กจำนวนมากต้องลาออกจากโรงเรียนกลางคันหรือหลุดจากระบบการศึกษา

 

          ในเมื่อความเป็นอยู่ยากลำบากแร้นแค้นชนิดข้าวจะกินยังไม่มี ถึงเวลานั้นใครจะมีแก่ใจมาศึกษาหาความรู้กัน?

 

          ปัจจุบันเรามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วกว่า 43,000 คนในช่วงปี 2563 ส่วนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษยังมีอีกกว่า 1.9 ล้านราย กลุ่มนี้มีความเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา จากสภาพทางเศรษฐกิจรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเรียนเพิ่มสูงขึ้น

 

          นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับเด็กในระบบการศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย ฐานะทางเศรษฐกิจถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดชะตาชีวิตของเด็กแต่ละคนว่า พวกเขาจะมีโอกาสได้รับการศึกษา ต่อยอดความรู้ พัฒนาตัวเองเพิ่มเติมแค่ไหน ซึ่งเรื่องยิ่งทวีความเลวร้ายในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

 

          เมื่อเกิดสถานการณ์ระบาดทำให้คนจำนวนมากตกงาน เด็กหลายคนเมื่อพ่อแม่ขาดรายได้ในการจับจ่ายใช้สอย จึงมีจำนวนมากต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน บางส่วนออกมาช่วยทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว บ้างก็แค่หลุดจากวงโคจรการศึกษาเพราะความขัดสนจนไร้ที่ไป

          แน่นอนตามนโยบายของรัฐบาลหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับทำให้เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษา แต่ต่อให้ไม่มีค่าเล่าเรียนการส่งเด็กคนหนึ่งเรียนหนังสือก็มีค่าใช้จ่ายอีกนานาชนิด เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือ ค่าเครื่องแบบ ค่ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ค่าจัดการเรียนการสอน ฯลฯ ยังไม่รวมค่าเดินทางกรณีเด็กอยู่พื้นที่ห่างไกลยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

 

          ทุกอย่างทวีความเลวร้ายลงเมื่อประเทศไทยและโลกต้องเข้าสู่สถานะเรียนออนไลน์ นั่นทำให้ผู้ปกครองจำเป็นต้องจัดหาเครื่องมือในการเข้าถึงการเรียนการสอนเป็นจำนวนมาก ยิ่งบ้านหลังใดมีเด็กมากค่าใช้จ่ายส่วนนี้มียิ่งเพิ่มขึ้น ไม่รวมค่าโทรศัพท์หรือค่าบริการสัญญาณอินเตอร์เน็ต ยิ่งเพิ่มภาระให้แก่ผู้ปกครองที่ประสบปัญหาทางการเงินเข้าไปอีก

 

          นอกจากนี้ปัญหาจะยิ่งทวีความซับซ้อนเพิ่มเติมเมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมต้น ถ้าเป็นผู้อาศัยภายในตัวเมืองอาจไม่รู้สึกอะไรนัก แต่สำหรับพื้นที่ห่างไกลหรือในชนบทพวกเขาขาดแคลนโรงเรียนเหล่านี้ จำนวนโรงเรียนที่เปิดหลักสูตรการสอนรองรับมีจำนวนน้อยกว่า พวกเขาจึงต้องเดินทางไกลขึ้นเพื่อเข้ามาศึกษาซึ่งถือเป็นอีกค่าใช้จ่ายและความยากลำบากเช่นกัน

 

          ดังนั้นถ้าถามว่าการบริจาคเงินของ ตูน บอดี้สแลม มีส่วนช่วยเหลือความยากจนของผู้คนเหล่านี้หรือไม่ คำตอบคือใช่ การบริจาคและมอบเงินให้ของเขามีส่วนช่วยเด็กกลุ่มหนึ่งให้มีโอกาส เข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นสูงขึ้น เปิดช่องให้สามารถต่อยอดนำไปพัฒนาตัวเองสร้างรายได้เพิ่มเติมในอนาคต

 

          แต่ถามว่านั่นจะช่วยแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อแวดวงการศึกษาและปัญหาทางสังคมได้หรือไม่? หากการวิ่ง 1 ครั้งจะช่วยเด็กได้ 109 คน คิดจากตัวเลขของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา น่าจะต้องวิ่งอีกราว 395 ครั้งจึงช่วยเหลือพวกเขาได้ทั้งหมด หากนับรวมเด็กทั้งหมดที่ยากจนด้วยคงต้องวิ่งถึงราว 17,500 ครั้งจึงจะช่วยทุกคนได้สำเร็จ

 

          นี่คือที่มาแห่งกระแสโต้แย้งภายในโลกอินเตอร์เน็ตว่า ถ้าหากต้องการช่วยเด็กเหล่านี้จริงๆ ควรมีวิธีจัดการแก้ปัญหาดีกว่าที่เป็นอยู่ มากกว่าออกมาเรียกร้องขอรับบริจาคในทุกครั้ง มิเช่นนั้นต้นตอของปัญหาจะไม่มีวันหมดไปและคงเกิดขึ้นซ้ำซากอยู่แบบนี้
เพราะการศึกษาชั้นมัธยมปลายแท้จริงไม่ควรต้องมารับบริจาค แต่ควรเป็นสิทธิที่เด็กทุกคนควรได้รับ
การวิ่งกับโอกาสทางการศึกษา ต้องอีกสักกี่ก้าวถึงสามารถขจัดความเหลื่อมล้ำ
โอกาสทางการศึกษาที่เด็กทุกควรจะมี แต่...
          การออกวิ่งรับบริจาคเพื่อโอกาสในการศึกษาต่อชวนให้ตั้งคำถามโดยเฉพาะในแง่มุมกฎหมาย เมื่ออันที่จริงการศึกษาขั้นพื้นฐานคือสิ่งที่เด็กทุกคนที่มีสัญชาติไทยควรได้รับ และน่าจะมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดกลับขาดหายในส่วนนั้น

 

          ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 43 ระบุว่า บุคคลมีสิทธิเสมอกันในการรับ "การศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี" ที่รัฐจะต้องจัดให้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 “การศึกษาขั้นพื้นฐาน” หมายถึงการศึกษาชั้นก่อนอุดมศึกษา นั่นทำให้ทุกคนมีสิทธิเรียนตั้งแต่ ป.1 - ม.6 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

          แต่สิทธิส่วนนี้หายไปเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตัดเนื้อหาส่วนนี้ออกไปอยู่ในหมวดหน้าที่รัฐ และเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในมาตรา 54 ที่เปลี่ยนการศึกษา 12 ปีให้เป็นชั้นก่อนวัยเรียน - มัธยมศึกษาปีที่ 3 แทน ทำให้เด็กจำนวนมากเสียสิทธิที่พวกเขาเคยมี กลายเป็นปัญหาเด็กจำนวนมากตกหล่นจากระบบการศึกษาแทน

 

          นี่เป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาทำให้เด็กจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาชั้นมัธยมปลายได้ แม้จะมีการพัฒนากองทุนช่วยเหลือจำนวนมากคอยอุดหนุน แต่เห็นได้ชัดว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นคงไม่ต้องเปิดการวิ่งมาราธอนเพื่อรับบริจาคนำเงินไปช่วยเหลือเด็กพวกนั้นแล้ว

 

          ต่อให้ไม่นับในกรณีนั้นก็ตามจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 28 ปี 2559 ระบุว่า ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 15 ปี และไม่เคยถูกประกาศยกเลิกมาก่อน ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่าในปัจจุบัน มันไม่ได้ถูกบังคับใช้หรือหมดผลทางกฎหมายลงตอนไหน?

 

          หรือถ้าเงินบริจาคที่ได้มาถูกนำไปใช้ทดแทนความลำบากด้านฐานะทางเศรษฐกิจของเด็กกลุ่มนี้ เป็นแนวคิดที่ดีติดเพียงปัญหาจากระบบการศึกษามีอีกหลายอย่าง ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา และไม่แน่ใจว่าการบริจาคเงินแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้หรือไม่?

 

          ทั้งประเด็นด้านคุณภาพในด้านจัดการศึกษาของแต่ละท้องที่ การเข้าถึงทรัพยากรรวมถึงศักยภาพในการเข้าถึงความรู้ของเด็ก การขาดแคลนของครูผู้สอนที่มีความชำนาญในสายวิชานั้นๆ ของแต่ละท้องที่ หรือจะเป็นปัญหาด้านจำนวนโรงเรียนที่เปิดสอนดังที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งหมดคือปมปัญหาอันยุ่งเหยิงที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยเงินเพียงอย่างเดียว
แต่จำเป็นต้องอาศัยการร่วมมือเปลี่ยนแปลงจากหลายภาคส่วนเพื่อให้เด็กๆ มีโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้
การวิ่งกับโอกาสทางการศึกษา ต้องอีกสักกี่ก้าวถึงสามารถขจัดความเหลื่อมล้ำ
          แน่นอนเราไม่ได้จะว่ากล่าวหรือตราหน้าว่าการออกมาวิ่งรณรงค์ด้านการศึกษา ชี้ให้ผู้คนเล็งเห็นปัญหาด้านนี้เป็นเรื่องแย่ หากสามารถช่วยเหลือเด็กสร้างโอกาสให้พวกเขาได้มากขึ้นถือเป็นเรื่องดี สำหรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าเยียวยาเพื่อคลี่คลายเรื่องโดยฉับพลันนั้นจำเป็น แต่ต้องมีวิธีอื่นเพิ่มเติมเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืนกว่านี้

 

          ปัจจุบันมีความพยายามจากหลายช่องทางเพื่อแก้ไขในจุดนั้น ทั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ที่มอบทุนให้กับนักเรียนยากจนพิเศษปีละประมาณ 3,000 บาท, โครงการ TCP ปลุกความรู้สู่โอกาส ที่มีการมอบทุนการศึกษาและช่วยพัฒนาหลักสูตร รวมถึงโครงการทุนการศึกษามากมายที่พอจะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้บ้าง

 

          กระนั้นปัญหาองค์รวมอย่างการศึกษา ก็จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยภาพรวม มิเช่นนั้นต่อให้ภาคประชาชนดิ้นรนหาเงินมาบริจาคสักเท่าไหร่ ออกมาวิ่งกันให้หมดแรงอีกกี่รอบ ก็ไม่น่าเพียงพอในการแก้ปัญหานี้ได้ นอกเสียจากจะเป็นการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ มากพอจะเริ่มผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

 

          และคนที่จะทำเช่นนั้นได้ง่ายดายที่สุดเห็นจะไม่ใช่ใครนอกจากตัวของรัฐเอง

--------------------

ที่มา

logoline