svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

10 อภิมหาทอร์นาโดที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

20 ธันวาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติล้วนมีให้มนุษย์อย่างเราพบเห็นอยู่ได้เสมอ และหลายเหตุการณ์สรรค์สร้างจากธรรมชาติ ล้วนอยู่เหนือความควบคุมของมนุษย์ บ้างอาจสร้างความสวยจรรโลงตา บ้างคร่าชีวิตไปนับหมื่นนับพัน

พายุทอร์นาโดเกิดขึ้นได้อย่างไร? พื้นที่แบบไหนเสี่ยงเผชิญ?
          พายุทอร์นาโด คือพายุขนาดใหญ่รูปทรงกรวยกลับด้าน เป็นภัยพิบัติในประเภทพายุฝนฟ้าคะนองที่มีพลังอำนาจในการทำลายล้างสูง ปัจจัยของการเกิดพายุทอร์นาโดคือ กระแสลมเย็นพัดมาปะทะกับกระแสลมร้อน จะสามารถเกิดมวลของอากาศที่หมุนวนและม้วนรวมกันได้ พื้นที่ที่เป็นเขตที่ราบอุณหภูมิสูงที่มีช่องลมช่วยเสริมความเร็วลม และไม่มีภูมิประเทศแบบเทือกเขาที่ช่วยบังลมให้ อาจก่อให้เกิดพายุทอร์นาโดขึ้นได้ 

 

          สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่ภูมิประเทศเอื้อต่อการเกิดพายุทอร์นาโดบนบกเป็นอย่างมาก ภูมิประเทศในบริเวณตอนกลางของประเทศนั้นเป็นที่ราบเสียส่วนใหญ่ ในช่วงฤดูร้อนหรือช่วงที่มีอุณหภูมิสูง พายุทอร์นาโดจึงสามารถเกิดขึ้นได้ อย่างบ่อยครั้งในช่วงตอนกลางของประเทศรวมไปถึงภาคตะวันออกของประเทศเช่น รัฐโอกลาโฮมา รัฐเนบราสก้า รัฐดาโกต้า รัฐแคนซัส รัฐเท็กซัส รัฐโคโลราโด รัฐมิสซูรี เป็นต้น

เศษซากเมืองจาก Tri-State Tornado

1. Tri-State Tornado 
          ในวันที่18 มีนาคม 1925 เกิดเหตุการณ์อภิมหาทอร์นาโดที่ถูกจารึกไว้ว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐและในประวัติศาสตร์โลก ที่ระยะความเสียหายกินพื้นที่เป็นวงกว้างกว่าสามมลรัฐจากมิสซูรี ไปยังอิลลินอยส์ และอินเดียนา หรือราว 320 กิโลเมตร พายุลูกนี้มีกระแสลมประมาณ 480 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความเร็วเฉลี่ยราว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งคร่าชีวิตกว่า 695 ราย
 

          Tri-State Tornado ถูกจัดอันดับให้เป็นพายุทอร์นาโดที่มีความรุนแรงระดับ F5 ตามมาตรวัดฟูจิตะ (มาตราสำหรับวัดระดับความรุนแรงของพายุทอร์นาโด โดยแบ่งเป็น 6 ระดับ ตั้งแต่ F0, F1, F2, F3, F4 ถึง F5 ซึ่ง F0 จะมีระดับความรุนแรงน้อยที่สุด ส่วน F5 จะมีความรุนแรงมากที่สุด)

          จากการคาดคะเนของผู้เชี่ยวชาญ บ้านเรือนเกิดความเสียหายราว 15,000 หลัง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 2,000 คน และหนึ่งในเมืองที่ต้องกลายเป็นเมืองร้างสุดสยอง “พาร์ริช (Parrish)” ในรัฐอิลลินอยส์ ได้รับความเสียหายจากทอร์นาโดลูกนี้มากที่สุด จนหายไปแทบทั้งเมืองและไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้

Great Natchez Tornado 2. Great Natchez Tornado
          ความเลวร้ายของพายุทอร์นาโดที่ติดอันดับสองรองลงมาในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เกิดขึ้นราว 180 ปีที่แล้ว หรือ 20 ปีก่อนเหตุการณ์สงครามกลางเมือง (6 พฤษภาคม 1840 (พ.ศ. 2383)) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าพายุทอร์นาโดลูกนี้มีความรุนแรงถึงระดับ F5 ตามมาตรวัดฟูจิตะ (ระดับสูงสุด พอๆกับ Tri-State Tornado) มีความเร็วลมประมาณ 420-512 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 317 ราย ซึ่งในรายงานระบุว่าสาเหตุของผู้เสียชีวิต 269 ราย เกิดจากเหตุการณ์เรือล่มจมลงไปในแม่น้ำมิสซิสซิปปี แต่ถึงอย่างนั้นหลายภาคส่วนเชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ทางการออกมาแถลงไม่ได้มีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย เนื่องจากยังมีทาสอีกหลายคนที่เสียชีวิตแต่ดันไม่ถูกนับรวมเข้าไปด้วย
ซากปรักหักพังจาก St. Louis Tornado 3. St. Louis Tornado
          รัฐมิสซูรีจัดได้ว่าเป็นรัฐหนึ่งที่เผชิญความเสียหายจากพายุทอร์นาโดอยู่บ่อยครั้ง โดยในวันที่ 27 พฤษภาคม 1896 (พ.ศ. 2439) เมืองเซนต์หลุยส์ ในรัฐมิสซูรีถูกพายุทอร์นาโดที่มีความรุนแรงระดับ F4 ตามมาตรวัดฟูจิตะพัดเข้าถล่ม และด้วยความเร็วลมราวๆ 333-418 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาคารบ้านเรือนกว่า 8,800 หลังคาเรือนเป็นอันต้องเสียหายยับเยิน และคร่าบรรดาผู้เสียชีวิตไปถึง 255 คน

Tupelo Tornado ถล่มเมือง

4.Tupelo Tornado
          พายุทอร์นาโดระดับ F5 ตามมาตราวัดฟูจิตะ ความเร็วลมเกิน 300 ไมล์ต่อชั่วโมงลูกนี้ พัดโหมกระหน่ำเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐมิสซิปซิปปี “ทูเปโล” ในวันที่ 5 1936  (พ.ศ. 2479) คร่าชีวิตผู้คนกว่า 216 ราย และจัดได้ว่าเป็นพายุทอร์นาโดที่รุนแรงติดอันดับ 4 ของสหรัฐฯ

 

          จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต แน่นอนว่าสูงกว่าที่ทางการรายงาน และสาเหตุก็เกิดจากสภาพสังคมในยุคนั้น ที่คนผิวดำเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน จะไม่ถูกนับรวมเข้าไปด้วย โดยหนึ่งในผู้รอดชีวิตที่มีชื่อเสียงและเป็นตำนานมาจนถึงถึงปัจจุบันนั่นก็คือ “เอลวิส เพรสลีย์” ราชาแห่งร็อกแอนด์โรลล์ที่ในขณะนั้นเขามีอายุเพียง1ขวบปี 
10  อภิมหาทอร์นาโดที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ 5. Gainesville Tornado
          ในช่วงวันที่ 5-6 เมษายน 1936 (พ.ศ. 2479) เกิดเหตุการณ์พายุทอร์นาโดเข้าถล่มสหรัฐเป็นจำนวนมาก (12 ลูกเป็นอย่างต่ำในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ) นอกจากทูเปโลแล้ว ความเสียหายยังลากยาวต่อเนื่องมาถึงเมือง เกนส์วิลล์ รัฐจอร์เจียในวันถัดไป มีผู้เสียชีวิตกว่า 203 คน บาดเจ็บกว่า 1,600 คน และมูลค่าความเสียหายราว 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ท้องฟ้าเต็มไปด้วยความมืดหม่น 6. Woodward Tornado
          ช่วงค่ำของวันที่ 9 เมษายน 1947 (พ.ศ. 2490) เวลาประมาณ 2 ทุ่ม พายุทอร์นาโดระดับ F5 ก่อตัวและเคลื่อนที่ขึ้นทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากรัฐเท็กซัส เดินทางเข้ามาสร้างอานุภาพทำลายล้างสูงสุดที่เมืองวูดวาร์ด รัฐโอคลาโฮมา เขตเมืองกว่าร้อยช่วงตึกพังพินาศ ไม่มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าใดๆ สำหรับประชาชน โดยรวมมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 181 คน บาดเจ็บอีกกว่า 1,000 คน 

 

          ความเสียหายในครั้งนี้ถูกบันทึกว่าเป็นภัยพิบัติจากพายุทอร์นาโดครั้งใหญ่ที่สุดในรัฐโอคลาโฮมา ภายหลังสำนักงานกรมอุตุวิทยา (ปัจจุบันคือกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา) มีการปรับใช้เทคโนโลยีด้านการสื่อสารเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบเตือนภัยและป้องกันภัยสำหรับประชาชนจนสำเร็จเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) 
สภาพความเสียหายจาก Joplin Tornado 
7. Joplin Tornado
          เหตุการณ์พายุทอร์นาโดถล่ม ณ เมืองโจพลิน รัฐมิสซูรี เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2011 หรือ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นพายุที่มีความเร็วลมกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเดินทางของพายุทอร์นาโดลูกนี้แม้จะเพียงแค่ 6 ไมล์หรือ 9 กิโมตร แจ่สร้างความเสียหายได้ยังมหาศาลเมื่อพายุทอร์นาโดลูกนี้พัดผ่าน สังเวยชีวิต 158 ราย ประชาชนกว่า 17,000 คนได้รับผลกระทบ อาคารบ้านเรือนกว่า 7,500 หลังพังในพริบตา รถยนต์ราว 15,000 คันลอยเคว้งสูงเสียดฟ้า ก่อนจะร่วงตกลงมาห่างไปหลายโยชน์เมื่อหมดสิ้นกระแสลม นับเป็นจำนวนผู้เสียที่สูงที่สุดจากพายุทอร์นาโดลูกเดียว นับตั้งแต่ปี 1947 และสร้างความเสียหายมูลค่ากว่า 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 
ความเสียหายจาก Dixie Tornado 
8. Dixie Tornado
          ในวันที่ 24 เมษายน 1908 (พ.ศ. 2451) พายุทอร์นาโด “Dixie” เข้าจู่โจมยังเมืองเอมีท รัฐหลุยเซียนา และเมืองเพอร์วิส ในรัฐมิสซิสซิปปี้ ถือเป็นพายุทอร์นาโดที่มีระดับความรุนแรงระดับ F4 ตามมาตราวัดฟูจิตะ มีผู้บาดเจ็บและไร้ที่พักพิงในทันทีกว่าพันร้าย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท และจำนวนมากที่เป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน แม้รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจะอยู่ที่ 143 ราย แต่ก็ยังมีร่างอีกจำนวนมากที่ไม่ถูกนับรวมเข้าไป พายุทอร์นาโด “Dixie” ลูกนี้รั้งอันดับแปด อภิมหาทอร์นาโดที่เลวร้ายที่สุดในสหรัฐ
New Richmond Tornado กวาดราบเป็นหน้ากลอง
9. New Richmond Tornado
          หน้าประวัติศาสตร์ของรัฐวิสคอนซินต้องถูกบันทึกไว้ ในวันที่ 12 มิถุนายน 1899 (พ.ศ. 2442) เมื่อผู้คนนับพันหลั่งไหลกันเข้ามายังเมืองนิว ริชมอนด์ รัฐวิสคอนซิน เพื่อเข้าร่วมชมการแสดงของคณะละครสัตว์ Gollmars Brothers แต่แล้วในช่วงเย็นประมาณ 16.30 น. ความมืดย่างกลายก่อนจะเริ่มกลืนกินไปทั่วท้องฟ้า พายุทอร์นาโดทรงกรวย ความรุนแรงระดับ F5 พัดพามาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่ตัวเมือง สังหารเหยื่องานเทศกาลและประชาชนในเมือง ราว 117 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 200 ราย 

 

          พายุลูกนี้โหมกระหน่ำ พังตึกกว่า 300 หลังให้เหลือเพียงเศษซาก บรรดารถยนต์ ต้นไม้ และตู้เซฟน้ำหนัก 3000 ปอนด์ต่างลอยเคว้งกลางอากาศ มูลค่าความเสียหายจากทอร์นาโดลูกนี้ที่ทำลายเขตการปกครองไป ประเมินคร่าวๆแล้วกว่า 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ ความเลวร้ายยังไม่จบเพียงเท่านี้ เมื่อผลจากอภิมหาทอร์นาโดยังทำให้เกิดไฟไหม้ลุกลาม บางศพถูกเผาทำลายจนไม่สามารถระบุตัวตนได้ จนนิว ริชมอนด์ ทั้งเมืองต้องบูรณะสร้างขึ้นใหม่หลังจากเสร็จสิ้นเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ 
พายุทอร์นาโดที่ก่อตัวขึ้นยังเมือง Flint-Beecher 
10. Flint-Beecher Tornado
          นับเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติจากพายุทอร์นาโดครั้งสุดท้าย ที่คร่าชีวิตประชาชนชาวอเมริกาได้มากกว่า 100 รายในครั้งเดียว ณ ช่วงยามเย็นอันน่าสยดสยอง ในวันที่ 8 มิถุนายน 1953 (พ.ศ. 2496) พายุทอร์นาโด 8 ลูกได้ก่อตัวในเวลาและบริเวณใกล้เคียงกัน โศกนาฏกรรมก่อตัวขึ้นที่เมืองฟลินท์-บีชเชอร์ ตอนกลางค่อนไปทางตะวันออกของรัฐมิชิแกน เมื่อทอร์นาโดระดับ F5 ลูกหนึ่งมีขนาดราว 730 เมตร เคลื่อนตัวเข้ามายังเมืองฟลินท์-บีชเชอร์ สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรม  อาคาร และบ้านเรือน มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 116 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 844 ราย ในขณะที่ทอร์นาโดอีก 7 ลูกคร่าชีวิตผู้คนในบริเวณใกล้เคียงกันอีก 9 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 52 ราย

 

          กองกำลังทหารของรัฐ หน่วยกาชาด และอาสาสมัครจำนวนมากได้ระดมพลปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในเมืองฟลินท์-บีชเชอร์ในค่ำคืนอันเศร้าสลดนั้น โดยหลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ ประชาชนเมืองฟลินท์ได้ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ผู้ได้รับความเสียหาย รวมไปถึงการสร้างเมืองฟลินท์-บีชเชอร์ขึ้นมาใหม่ ภายใต้แคมเปญ “Red Feather”

--------------------
ข้อมูลอ้างอิง:

logoline