svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

True+Dtac ดีลประวัติศาสตร์แห่งวงการสื่อสารกับปัญหาการผูกขาด

22 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การควบรวมกิจการของ True กับ Dtac ถือเป็นเรื่องสะเทือนวงการโทรคมนาคม และส่งผลกระทบกับทุกคนในประเทศ เพราะในปัจจุบันแทบทุกครัวเรือนล้วนใช้งานโทรศัพท์มือถือแทบทั้งสิ้น วันนี้เราจึงมาเจาะลึกกันว่าเหตุใดการควบรวมกิจการนี้จึงดูจะเป็นปัญหา

Highlights

  • บริษัท True Corporation กับ Total Access Communication(DTAC) ประกาศควบรวมกิจการ นับเป็นดีลสะเทือนวงการจากการจับมือของ 2 ใน 3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่
  • มีข่าวลือจากทั้งสองบริษัทว่าจะเกิดการควบรวมกิจการขึ้นมาพักใหญ่ แต่โดยมากผู้คนยังคิดว่าเป็นข่าวลือ กระทั่งบริษัท เทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นของ DTAC แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์นอร์เวย์ว่าจะมีการควบรวมกิจการกับ True
  • สิ่งนี้ทำให้หุ้นของบริษัทโทรคมนาคมเฟื่องฟูในพริบตา พร้อมกับแรงสั่นสะเทือนระลอกใหญ่ เมื่อทั้งสองค่ายกำลังจะพุ่งแซง AIS ที่ถือเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 มายาวนาน
  • ยังคงมีขั้นตอนอีกมากในการควบรวมกิจการ จากการตั้งบริษัทใหม่เพื่อควบรวม แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับอนุญาตจากทาง กสทช. ที่มีอำนาจในการแทรกแซงการควบรวมครั้งนี้ได้
  • หากการควบรวมครั้งนี้เกิดขึ้นได้สำเร็จ แม้มีความเป็นไปได้ว่าคุณภาพสัญญาณและการให้บริการจะสูงขึ้น แต่อาจทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่แคบลงเช่นกัน

--------------------

          ถือเป็นเรื่องน่าตกใจภายหลังการประกาศข่าวการควบรวมกิจการครั้งสำคัญของ True Corporation กับ Total Access Communication(Dtac) สองในสามค่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือยักษ์ใหญ่ ที่มีจำนวนผู้ใช้บริการเป็นอันดับ 2 และ 3 ของประเทศกำลังจะเป็นหนึ่งเดียวกัน

 

          การรวมตัวกันครั้งนี้ถือเป็นเรื่องช็อกวงการอีกทั้งสร้างความครั่นคร้ามให้ผู้ใช้บริการทั้งสองค่าย โดยเฉพาะฝ่าย Dtac อาจเกิดข้อสงสัยว่า เลขหมายการให้บริการของตนจะเป็นอย่างไรต่อ เมื่อเดิมทีพวกเขาต่างชื่นชอบบริการของทางบริษัท Dtac จึงเลือกใช้บริการสัญญาณมือถือของเจ้านี้

          ดีลนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สะเทือนวงการโทรคมนาคมเพราะหากสำเร็จเกิดขึ้นได้จริง ทั้งสองบริษัทจะทะยานขึ้นเป็นอันดับ 1 ของประเทศ แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง Advanced Info Service(AIS) ไปทันที เช่นเดียวกับผู้ให้บริการเจ้าอื่น เช่น TOT หรือ กสท เองก็ล้วนได้รับผลกระทบ

 

          วันนี้เราจึงขอไล่เรียงเหตุการณ์สักนิดว่ามันเกิดอะไรขึ้น และจะเป็นอย่างไรต่อไปหลัง Dtac กับTrue ทำการควบรวมกัน

True กับ Dtac สองค่ายมือถือที่ควบรวมกิจการ

การรวมตัวของสองยักษ์ใหญ่ที่อาจพลิกโฉมวงการ
          ข่าวการควบรวมกิจการของ True กับ Dtac ไม่ใช่สิ่งเพิ่งเกิดขึ้นแต่ถูกลือมายาวนานในแวดวงนักลงทุนนานนับปี จากข่าวการตั้งใจถอนตัวของผู้ถือหุ้นของทาง Dtac โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2564 โดยหุ้น True ปรับขึ้นกว่า 17% ไม่ต่างจาก Dtac ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 5% ท่ามกลางช่วงเวลาที่ทุกคนเข้าใจว่านั่นเป็นเพียงข่าวลือ

 

          จนกระทั่งวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 มีการยืนยันจากสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าบริษัท เทเลนอร์ ของ นอร์เวย์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Dtac ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ออสโลว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจากับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท True Corporation เพื่อสร้างความร่วมมือรวมถึงการเข้าควบรวมกิจการ โดยแถลงการณ์ที่นำมาเผยแพร่ระบุว่า การเจรจายังไม่สิ้นสุดและไม่มีความแน่นอนก่อนมีข้อตกลงใดๆ 

 

          จนในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี่เองที่มีการแถลงข่าวการควบรวมออกมาเป็นทางการ โดยเป็นการสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียม(Equal Partnership) เตรียมการตั้งบริษัทใหม่เพื่อการควบรวมกิจการ รวมถึงมีการโอนและจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นตามอัตราส่วน

          เนื้อหาเหล่านี้คือสิ่งที่ทาง True Corporation แจ้งแก่ตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเช้าที่ผ่านมา นั่นทำให้หุ้นของทั้งสองบริษัทที่จะทำการควบรวมพุ่งสูงขึ้น หุ้น Dtac เพิ่มขึ้นกว่า 10.30% หุ้น True เพิ่มขึ้น 11.57% หรือแม้แต่บริษัทคู่แข่งอย่าง AIS เองก็ยังได้รับอานิสงค์ปรับตัวสูงขึ้นอีก 6.12% เช่นกัน

 

          การเติบโตเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกกับการควบรวมของกิจการขนาดใหญ่ จากสองบริษัทโทรคมนาคมสำคัญในประเทศ กลายเป็นเรื่องสะเทือนไปทั้งวงการโดยเฉพาะคู่แข่งที่เคยครองตลาดเป็นอันดับ 1 เสมอมาอย่าง AIS ที่ถึงคราวต้องสั่นคลอนกันวันนี้ โดยตัวเลขผู้ใช้บริการสามารถแจกแจงออกมาเป็นตัวเลขได้ดังนี้

  • AIS ถือเป็นอันดับ 1 ในปัจจุบัน จากยอดผู้ใช้บริการกว่า 43.7 ล้านเลขหมาย
  • True รองลงมา โดยมีหมายเลขให้บริการในปัจจุบันราว 32 ล้านเลขหมาย
  • Dtac นับว่าน้อยสุดภายในกลุ่ม แต่ก็มียอดผู้ใช้บริการอยู่ 19.3 ล้านเลขหมาย

 

          จะเห็นได้ว่าในปัจจุบัน AIS อาจยังเป็นเจ้าตลาดอันดับหนึ่งในวงการได้จริง แต่ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีหากการควบรวมกิจการนี้สำเร็จลงด้วยดี บริษัทใหม่จากการควบรวม True และ Dtac จะมียอดผู้ใช้บริการถึง 51.3 ล้านเลขหมาย มากในระดับที่ไม่อาจไล่ตามได้อีก ด้วยปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการในประเทศใกล้อิ่มตัว จากการถูกบังคับให้เข้าถึงโทรศัพท์มือถือรวมถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา

 

          ดังนั้นการควบรวมกิจการนี้จึงกลายเป็นแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญที่อาจพลิกโฉมวงการโทรคมนาคมไทยไปตลอดกาล
AIS ค่ายอันดับหนึ่งที่กำลังจะเสียตำแหน่ง
ขั้นตอนก่อนการควบรวมกับปัญหาในข้อกฎหมายด้านการผูกขาด
          ข่าวใหญ่นี้นับว่าน่าตกใจแต่มาพร้อมข้อสงสัยอีกมากทั้งจากสังคมและภาคธุรกิจ จากแถลงการณ์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ขั้นตอนการควบรวมกิจการเริ่มต้นจากการตั้งบริษัทใหม่ที่เริ่มต้นจากการตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมถึงจะมีการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นตามอัตราส่วน

 

          นอกจากนี้ยังมีการตั้งบริษัทร่วมทุนมูลค่าราว 6 พันล้านบาท มีจุดหมายคือสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีแก่สตาร์ทอัพและธุรกิจภายในประเทศ พร้อมทั้งตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีในภูมิภาค เพื่อตอบรับกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีในตลาดโลก

 

          แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะราบรื่น เหตุการณ์นี้ทำให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เรียกทั้งสองบริษัทเข้าชี้แจง ตามระเบียบแล้วทั้งสองบริษัทต้องรายงานทางกสทช. เพื่อให้มีการตรวจสอบป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดอย่างไม่เป็นธรรม มิเช่นนั้นอาจมีความผิดทางปกครองจนถูกสั่งยกเลิกได้

 

          โดยทั้งสองบริษัทต้องชี้แจงรายละเอียดและทำตามกฎระเบียบ อีกทั้งทางกสทช.เองยังอาจเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะทางมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างต่อสาธารณะ หรือการผูกขาดจนเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ทั้งหมดนี้ต้องผ่านความเห็นชอบจากทางกสทช.ทั้งสิ้น

 

          ตอนนี้เราคงต้องรอดูมาตรการหรือหลักเกณฑ์ที่ตามมา ว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้จะราบรื่นเพียงไร? ถูกกำหนดกฎเกณฑ์อะไรเพิ่มเติมมากขนาดไหน?

กสทช. องค์กรที่ต้องอนุมัติการควบรวมกิจการในครั้งนี้
แนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากตลาดโทรคมนาคมไทย
          สิ่งที่ตามมาหลังการควบรวมของ True และ Dtac คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการ ด้วยพื้นฐานธุรกิจโทรคมนาคมต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล ทั้งสำหรับการวางโครงข่าย พัฒนาสัญญาณ จนถึงค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ การมีเม็ดเงินมากกว่าย่อมหมายถึงสามารถพัฒนาได้มั่นคง เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการมากขึ้นอีกด้วย
แต่ใช่จะมีแต่ข้อดี เดิมเราคุ้นชินการที่ตลาดโทรคมนาคมเป็นการแข่งขันของสามเจ้ายักใหญ่อย่าง AIS True และ Dtac แต่เมื่อผู้ให้บริการคนหนึ่งไปรวมกับคนที่เหลือ นอกจากมูลค่าของบริษัทจะเปลี่ยนไปยังทำให้เกิดความหวั่นใจด้วยว่า สุดท้ายนี่จะเป็นอีกตลาดที่ถูกผูกขาดจากการมีผู้ให้บริการเพียงไม่กี่เจ้า

 

          แน่นอนเรามีทางกสทช.ตรวจสอบป้องกันเรื่องนั้นตามหน้าที่ แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจทำให้ผู้ใช้บริการหรือคนในประเทศรู้สึกดีขึ้นหลังได้ยินข่าวดังกล่าว เพราะมันทำให้ตัวเลือกของผู้ใช้บริการจากเดิมมีอยู่ 3 เจ้าลดลงเหลือ 2 ฟังดูไม่ต่างจากเดิมนัก แค่อาจทำให้คุณภาพการให้บริการและการแข่งขันหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

 

          การมีบริษัทให้บริการลดลงอาจทำให้อัตราการเติบโตของหน้าใหม่ในวงการเป็นเรื่องยาก เดิมธุรกิจโทรคมนาคมต้องอาศัยเม็ดเงินมหาศาลคอยผลักดันจึงจัดตั้งได้ยากอยู่แล้ว การหายไปอีกเจ้าย่อมเป็นการตัดตัวเลือกของผู้บริโภคให้ลดลง ด้วยจากนี้ไม่จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพหรือราคาอีกต่อไปเพราะไม่มีคู่แข่ง ลงท้ายอาจถึงขั้นสูญเสียกลไกตลาดโดยสิ้นเชิง

 

          ยิ่งทุกวันนี้ความสำคัญของโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงโลกออนไลน์ทวีคูณขึ้นทุกวัน หากเกิดการผูกขาดหรือหยุดการพัฒนาตรงส่วนนี้จริง อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับภาระอย่างรุนแรง เมื่อภาคธุรกิจส่วนมากเริ่มผันตัวมาอยู่และพึ่งพิงโลกออนไลน์มากขึ้นทุกที จนในอนาคตถึงเกิดการผูกขาดขึ้นจริงก็อาจไม่มีทางเลือกให้ผู้ใช้บริการอีกต่อไป

 

          หลายท่านอาจมองว่าเรื่องนี้เล็กน้อยแต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ตัวอย่างที่น่าหยิบมาพูดถึงคือธุรกิจโรงภาพยนตร์ เกิดขึ้นกับในช่วงกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งจากการขึ้นราคาค่าเข้าชมภาพยนตร์เรื่องดัง ทั้ง Black widow, Shang-chi หรือ Fast&Furious9  โดยไม่มีเกณฑ์มากำหนดควบคุมราคาในส่วนนี้หากผู้ชมก็ได้แต่ก้มหน้ายอมรับ จากการที่ธุรกิจนี้ถูกครอบครองด้วยเจ้าตลาดอย่าง Major cineplex และ SF Cinema เพียงแค่สองแห่ง

 

          และเมื่อดูจากแนวโน้มในการอนุมัติของระบบราชการไทยอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า(กขค.) ที่เคยอนุมัติให้ทาง CP หรือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซื้อหุ้น เทสโก้ โลตัส ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการผูกขาดด้วยแล้ว ภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือก็ยิ่งลดต่ำจนผู้คนพากันเคลือบแคลงกสทช.ด้วยเช่นกัน

 

          ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไรการแข่งขันในธุรกิจนี้จึงยังยุติธรรมแก่ผู้รับบริการเหมือนเดิมล่ะ?
Major cineplex และ SF Cinema ตัวอย่างธุรกิจที่ถูกผูกขาดโดยผู้ให้บริการ 2 เจ้า

ตัวอย่างกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
          แน่นอนในต่างประเทศเคยเกิดกรณีนี้ขึ้นกับธุรกิจในกลุ่มโทรคมนาคม อย่างกรณีอิตาลีการควบรวมกิจการของ Wind และ H3G เป็น Wind Tre ลดจำนวนผู้ให้บริการจาก 4 เหลือ 3 ราย ทางคณะกรรมาธิการยุโรปจึงเสนอให้ทั้งสองบริษัทมอบคลื่นสัญญาณ โครงข่าย รวมถึงเปิดโรมมิ่งให้ผู้บริการรายที่ 4 มีโอกาสเข้ามาในตลาด ซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ Illiad บริษัทโทรคมนาคมจากฝรั่งเศสนั่นเอง

 

          โมเดลนี้ยังถูกนำไปใช้ในสหรัฐฯในการควบรวม T-Mobile กับ Sprint ที่มีการแยกบริษัทบางส่วน รวมถึงแบ่งเครือข่ายเดิมที่มีอยู่ของทั้งสองบริษัทให้แก่ Dish บริษัททีวีดาวเทียมผู้ให้บริการเจ้าใหม่ อนุญาตให้ใช้งานสัญญาณและโครงข่ายของพวกเขาไปอย่างน้อย 7 ปี เพื่อไม่ให้เป็นการลดจำนวนผู้ให้บริการ สร้างทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการไปในตัว
แน่นอนไม่ได้หมายความว่าวิธีการนี้ของอิตาลีและสหรัฐฯยอดเยี่ยมไร้ที่ติด คาดว่า Dish ที่เข้ามารับช่วงคงไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าเดิมในเร็ววันหรือมีบทบาทมากนัก ซึ่งอาจทำให้การแข่งขันไม่กลับมาดุเดือดเหมือนเดิมแบบที่ตั้งใจในทีแรก

 

          แต่อย่างน้อยก็เป็นความพยายามในการรองรับและลดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเท่าที่ทำได้ ประวิงเวลาออกไปชั่วคราวให้ผู้บริโภคมีโอกาสปรับตัวหายใจหายคอได้คล่องขึ้น ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าเราจะมีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านั้นจากทางกสทช.หรือไม่?

--------------------
ที่มา

logoline