svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ราคาน้ำมันไทย แพงไปหรือรายได้ไม่สอดคล้อง?

18 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“น้ำมันแพง” อีกหนึ่งปัญหาที่กระทบปากท้องประชาชนคนไทยเขาให้อย่างจัง เพราะนอกจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นจนกระทบมายังประเทศเราแล้ว รายได้ขั้นต่ำและค่าครองชีพของคนในประเทศยังสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศที่เคยส่งออกน้ำมันดิบหลายประเทศเริ่มมีการปรับลดกำลังการผลิต จนกระทั่งสถานการณ์โรคระบาดในหลายพื้นที่ทั่วโลกเริ่มคลี่คลายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ปริมาณความต้องการในการใช้เชื้อเพลิงจึงเริ่มกลับมาทะยานสูงขึ้น ในทางกลับกันกำลังการผลิตยังไม่สามารถปรับตัวให้กลับมาเท่าเดิมได้ แน่นอนว่าด้วยกลไกตลาดเมื่อความต้องการมีปริมาณที่สูงกว่าปริมาณสินค้า จึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ดันให้ราคาน้ำมันโลกถีบตัวสูงขึ้น จนอยู่ในระดับ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือราว 2,600-3,000 บาท

 

หากเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน ราคาน้ำมันไทยเรียกได้ว่ามีราคาสูงกว่ามาก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย ทั้ง นโยบายของรัฐบาล โครงสร้างราคาน้ำมัน เช่น แหล่งทรัพยากร คุณภาพน้ำมัน ต้นทุนการจัดหาน้ำมัน และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้น้ำมัน

ราคาน้ำมันไทย แพงไปหรือรายได้ไม่สอดคล้อง? การเก็บภาษีและเงินกองทุนในโครงสร้างราคาน้ำมันของไทย ยังส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีราคาที่สูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน ประเทศเพื่อนบ้านจากภูมิภาคอาเซียนอย่าง มาเลเซีย ไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากในประเทศมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมันดังกล่าว สามารถจัดการบริหารประเทศได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ตัดภาพมาที่ประเทศไทยที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิจึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเรียกจัดเก็บภาษีน้ำมันเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการบริหารประเทศ

จากเหตุการณ์การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโลกที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคอย่างเราๆต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพภายหลังสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น แถมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกยังปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกลไกการทำงานของตลาด 

 

เหลียวกลับมามองที่ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของไทยที่ยังยืนหยัดอยู่ที่ 313 บาทต่อหัว ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลพุ่งขี้นไปเกือบลิตรละ 30 ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินแทบจะแตะ 40 บาทต่อลิตร คำถามที่เกิดขึ้นคือคนไทยจะใช้ชีวิตอย่างไรในเมื่อรายได้สวนทางกับค่าใช้จ่ายโดยสิ้นเชิง

ราคาน้ำมันไทย แพงไปหรือรายได้ไม่สอดคล้อง?

ในขณะเดียวกันประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของเราอย่างมาเลเซีย ที่แม้รายได้ขั้นต่ำต่อหัวไม่ต่างจากเรามากนัก เฉลี่ยอยู่ที่ 395 บาทต่อวัน แต่ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ลิตรละ 16 บาทเท่านั้น เรียกได้ว่าถูกกว่าเราเกือบเท่าตัวในขณะที่รายได้ต่อหัวเขาก็ยังได้มากกว่า

 

ประเทศผู้นำระดับโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ที่รายได้ขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1,896 บาท หรือ 237 บาทต่อชั่วโมง แต่ราคาน้ำมันในประเทศมหาอำนาจแห่งนี้ยังคงอยู่ที่ 32.50 บาทต่อลิตรเท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน)  

 

เป็นที่น่าเคลือบแคลงใจว่าประชาชนชาวไทยยังคงต้องทนใช้ชีวิตท่ามกลางวิกฤตสินค้าแพง ในขณะที่รายได้ยังคงเท่าเดิม อย่างนั้นหรือ? การแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งเรื่องปากท้องและเศรษฐกิจ ยังคงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าหลังจากนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว จะออกมาแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างไร

logoline