svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ตอบชัด ซัดเป็นข้อๆ "ทำไม น้ำมันแพง?" สรุปไว้ที่นี่

น้ำมันแพง กระทบทุกภาคส่วน และยังไม่เห็นสัญญาณที่ราคาน้ำมันจะลดลง ประชาชนเดือนร้อน ทวงถามความรับผิดชอบจากกระทรวงพลังงาน

น้ำมันแพง ส่งผลให้ค่ารองชีพเพิ่มขึ้น แนวโน้มราคาสินค้าต่างๆ ขยับตามราคาน้ำมัน และแนวโน้มราคาน้ำมันสูงต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะออกมาช่วยตรึงราคา แต่แรงยื้อนี้ท่าจะฉุดไม่อยู่ ล่าสุด “กระทรวงพลังงาน” ได้ออกมาชี้แจง ทุกปมสงสัย “เนชั่น ออนไลน์” สรุปให้เป็นข้อๆ ดั้งนี้

 

1. ทำไมน้ำมันราคาแพงมากขึ้น

เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 น้ำมันดิบดูไบปรับขึ้นจาก 65.35 เป็นปัจจุบัน 84.34 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมทั้งผลจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับขึ้นจำนวน 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 40 – 60 สต./ลิตร มาอยู่ที่ 31.29 บาท/ลิตร

 

ตอบชัด ซัดเป็นข้อๆ \"ทำไม น้ำมันแพง?\" สรุปไว้ที่นี่

2.ประชาชนเดือดร้อน ช่วยเหลืออะไรบ้าง

กระทรวงพลังงานมีมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร และเพิ่มมาตรการช่วยเหลือในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมัน ดังนี้

 

  • น้ำมันไบโอดีเซล (B100) ได้ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 จาก 38.08 บาท/ลิตร เป็น 46.15 บาท/ลิตร ในเดือนตุลาคม 2564 ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงได้ปรับลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล บี7 และบี10 เป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร และคงสัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซล บี20 เท่าเดิม

 

  • ขอความร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมัน ปรับลดค่าการตลาดจากเดิม อยู่ที่ 1.80 บาท/ลิตร เป็นไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร

3.ทำไมต้องมี biodiesel และ เอทานอล  / ต้นทุนผสม ราคาแพงมาก ทำให้ ราคาน้ำมันแพง / เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มปาล์ม / เคยปรับลดสัดส่วน ผสมในอดีตไหม

การที่มีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมพลังงานทดแทน ช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาพืชผลเกษตรของเกษตรกรไม่ให้ราคาตกต่ำ และทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งยังสามารถลดการนำเข้าน้ำมันได้อีกด้วย

 

ตอบชัด ซัดเป็นข้อๆ \"ทำไม น้ำมันแพง?\" สรุปไว้ที่นี่

 

เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ปรากฏในคําแถลงนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562  ที่กำหนดให้ “..เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ...” 

 

นอกจากนี้ คณะกรรมการปาล์มแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้มีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานให้มีรายได้ที่มั่นคง ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

 

แต่เนื่องจากสถานการณ์ราคาไบโอดีเซลและเอทานอลมีราคาสูงต่างจากกับจากในอดีต กระทรวงพลังงานจำเป็นดำเนินมาตรการปรับลดสัดส่วนการผสมเพื่อให้เกิดความเหมาะสมไม่กระทบประชาชน แต่ก็ยังคงต้องรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้แก่ไบโอดีเซลและเอทานอลไม่ให้กระทบเกษตรกร

 

4. ราคาทะลายปาล์มน้ำมัน ราคาน้ำมันปาล์มดิบ และราคาบี 100  (ย้อนหลัง)

  • ราคาผลปาล์มทะลาย สัปดาห์นี้ (25 ตุลาคม 2564) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.85 บาท เพิ่มขึ้นจาก กิโลกรัมละ 8.58 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 20 ตุลาคม 2564) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 3.15 ราคาน้ำมันปาล์มดิบ สัปดาห์นี้ (25 ตุลาคม 2564) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.25 บาท เพิ่มขึ้นจาก กิโลกรัมละ 43.38 บาท ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 20 ตุลาคม 2564) เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 2

 

  •  ราคาผลปาล์มน้ำมันและราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ในปี 2564 สูงต่อเนื่องจากปลายปี 2563 เพราะสถานการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมันช่วงต้นปีมีผลผลิตออกน้อย และสต็อกน้ำมันปาล์มต่ำ ราคาผลปาล์ม ในเดือนตุลาคม 2564 สูงถึง 8.15 บาทต่อกิโลกรัม (ตาราง ราคาผลปาล์มดิบ) และน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) อยู่ที่ 41.34 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สถานการณ์น้ำมันปาล์มมาเลเซียก็มีแนวโน้มสูงขี้นต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 เช่นกัน ช่วงกลางปีแม้ราคาชะลอตัวลงบ้าง เมื่อเข้าไตรมาส 3 ราคามีแนวโน้มสูงขึ้นเดือนตุลาคม 2564 ราคาน้ำมันปาล์มดิบมาเลเซีย อยู่ที่ 41.49 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น
     

ตอบชัด ซัดเป็นข้อๆ \"ทำไม น้ำมันแพง?\" สรุปไว้ที่นี่

 

  •  ราคาน้ำมันไบโอดีเซล (B100) ในเดือนตุลาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.55 บาทต่อลิตร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.36 บาทต่อลิตร ราคาไบโอดีเซลปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาวัตถุดิบในประเทศปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มอันดับ 2 ของโลก เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างชาติในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันส่งผลให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศมาเลเซียสูง ทั้งนี้ผลผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศไทยเริ่มน้อยลง แต่โรงสกัดในประเทศยังมีการส่ง CPO ออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ราคา CPO ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลในประเทศปรับตัวสูงขึ้น 
     

ตอบชัด ซัดเป็นข้อๆ \"ทำไม น้ำมันแพง?\" สรุปไว้ที่นี่

 

5. ราคา CPO ตอนนี้ ราคาก็ดี ทำไมไม่ลดสัดส่วน ผสมลง และ ส่งออกไปให้หมด ทำให้ราคาน้ำมันถูกลง และ ชดเชย ส่งออก ถูกกว่า

ในระยะสั้นในเดือนตุลาคม 2564 กระทรวงพลังงาน ได้ปรับลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล บี7 และบี10 เป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร และคงสัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซล บี20 เท่าเดิม

 

และในเดือนพฤศจิกายน 2564 จะกลับไปใช้สัดส่วนเดิมตามนโยบายรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)  ทั้งนี้ ในการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ ขึ้นอยู่กับนโยบายของ กนป. และกระทรวงพาณิชย์

 

6. ทำไมไม่ลดภาษีสรรพสามิต ตั้ง 6 บาท ต่อลิตร เอาไปทำอะไร

ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งรัฐบาลทุกรัฐบาลต้องจัดเก็บเพื่อนำภาษีไปใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และเป็น 40% ของรายได้ประเทศ โดยการจัดเก็บหรือการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาอัตราภาษีที่เหมาะสม

 

7. การตรึงราคา อยู่ที่ 30 บาท ใช่หรือไม่ เป็นเช่นนี้ทุกรัฐบาลหรือไม่

มีการตรึงราคา ที่ 30 บาท/ลิตร ในทุกรัฐบาลตั้งแต่ปี 2551 โดยมีรายละเอียดการเปรียบเทียบการตรึงราคาของแต่ละรัฐบาล ดังตาราง

 

ตารางการเปรียบเทียบการตรึงราคาของแต่ละรัฐบาล

 

8. ราคาน้ำมันขายปลีก / ค่าไฟฟ้า ประเทศต่างๆ ในแถบนี้ ถูก แพง อย่างไร

  • ราคาน้ำมันประเทศไทยแพงกว่ามาเลเซียและประเทศเพื่อนบ้าน

ราคาน้ำมันของประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซียหรือบางประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน ขึ้นอยู่กับแหล่งทรัพยากรพลังงานในประเทศ นโยบายของรัฐบาล โครงสร้างราคาน้ำมัน ต้นทุนการจัดหาน้ำมัน คุณภาพน้ำมัน และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้น้ำมัน ซึ่งโครงสร้างราคาน้ำมันจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ

 

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช่นเดียวกัน แต่ต้นทุนเนื้อน้ำมันดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับค่าขนส่งซึ่งมีความแตกต่างกันตามที่ตั้งของแต่ละประเทศ อีกทั้งคุณภาพน้ำมันของไทย (ยูโร 4) สูงกว่าบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน จึงมีราคาสูงกว่า ทั้งอีกไทยมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล และไบโอดีเซล) ตามนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทน ทำให้ไทยมีราคาสูงกว่า

 

2. ภาษีและกองทุน โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยมีการเก็บภาษีและเงินกองทุน  (กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน

บางประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน อาทิ มาเลเซีย ไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมันดังกล่าวในการบริหารประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิซึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีน้ำมันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการบริหารประเทศ


อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าราคาของประเทศไทยก็ไม่ได้มีราคาสูงหรือต่ำไปกว่ามากตามที่มักมีการกล่าวอ้าง ดังเช่นข้อมูลราคาขายปลีกราคาน้ำมันเชื้อเพลิงณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 

 

ตอบชัด ซัดเป็นข้อๆ \"ทำไม น้ำมันแพง?\" สรุปไว้ที่นี่

 

ราคาค่าไฟฟ้าแพง เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

เมื่อเปรียบเทียบค่าไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ปี 2563 พบว่า ประเทศที่มีค่าไฟฟ้าถูกกว่าไทย ได้แก่

  • เมียนมา  ค่าไฟ 1.23 บาท/หน่วย  (พลังน้ำ 47%, ก๊าซธรรมชาติ 44%)
  • สปป.ลาว  ค่าไฟ 1.80 บาท/หน่วย  (พลังน้ำ 65%, ถ่านหิน 35%)
  • เวียดนาม ค่าไฟ 2.76 บาท/หน่วย  (ถ่านหิน 48%, พลังน้ำ 35%, ก๊าซธรรมชาติ 17%)
  • มาเลเซีย  ค่าไฟ 1.93 บาท/หน่วย  (ถ่านหิน 45%, ก๊าซธรรมชาติ 38%, พลังน้ำ 15%)

 

อัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ

 

9. แนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบัน

รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเคลื่อนไหวขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเครื่องมือในการบริหารราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่ให้กระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน

 

กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีหน้าที่ในการติดตาม กำกับ ดูแลความเหมาะสมของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจัดทำโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับอ้างอิงความเหมาะสมของราคาขายปลีกน้ำมัน โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

 

1. ราคา ณ โรงกลั่น : คือ ราคาเนื้อน้ำมัน ซึ่งอ้างอิงตามราคาตลาดกลางของภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ตลาดสิงคโปร์ เพื่อใช้เปรียบเทียบราคานำเข้าหรือส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ

2. ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต และตามกรอบงบประมาณ เพื่อนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

3.ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บร้อยละ 7 ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีกร้อยละ 7 ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด            

5. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เรื่อง การกำหนดอัตราส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุน และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

6.กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ราชอาณาจักร เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม เพิ่มประสิทธิภาพ  และลดการใช้พลังงานของประเทศ

7.ค่าการตลาด : คือส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ

ซึ่งรวมถึงคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง และสถานีบริการ โดยค่าการตลาดที่เหมาะสมของน้ำมันแต่ละชนิดในปัจจุบันเป็นไปตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563

 

การกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทย

 

10. ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง และการกำกับดูแลค่าการตลาดให้มีความเหมาะสมอย่างไร

ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง มีหลักเกณฑ์พิจารณาจากค่าใช้จ่ายดำเนินการต่างๆ ของผู้ประกอบการ โดยให้มีผลตอบแทนหรือกำไรขั้นต้นเพื่อให้ครอบคลุมการลงทุน  และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาด ดังนี้

 

  1. ค่าใช้จ่ายดำเนินการของสถานีบริการน้ำมัน ประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายสำนักงาน (อาทิ ค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการ ค่าเช่าที่ดิน ค่าประกันภัย ค่าสอบบัญชี) ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมบำรุง)
  2. ค่าใช้จ่ายดำเนินการของผู้ค้าตามมาตรา 7 ประกอบด้วย ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าประกันภัย ค่าใช้จ่ายคลังน้ำมัน ค่าสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย
  3. ค่าลงทุนสถานีบริการ และผลตอบแทนการลงทุน

               

ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ศึกษาความเหมาะสมของค่าการตลาดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น โดยมีค่าการตลาดที่เหมาะสมในช่วงปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.85 บาทต่อลิตร  ต่อมาได้มีการทำงานร่วมกับภาคประชาชน (คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม) ได้มีการทบทวนค่าการตลาดที่เหมาะสมใหม่ โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักทุกผลิตภัณฑ์ไว้ที่ 2.00 บาทต่อลิตร ดังนี้

 

ตอบชัด ซัดเป็นข้อๆ \"ทำไม น้ำมันแพง?\" สรุปไว้ที่นี่

 

11. สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตอนนี้เป็นอย่างไร และในประเทศไทยมีการปรับขึ้นลงอย่างไรบ้าง

ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มสถานการณ์ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากการที่ราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหนุนให้โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันในหลายประเทศ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบอยู่ในภาวะตึงตัว สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

 

ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทย ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ตามในตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่กระทรวงพลังงานได้มีมาตรการเข้าไปตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศต่ำกว่าราคาตามต้นทุนที่ควรเป็นของตลาด โดยกองทุนฯ  ต้องจ่ายเงินชดเชยทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนละ 3,152 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564)

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก