svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Did you know? ฝุ่น PM2.5 ในอินเดียพุ่งทะลุ 999 - เกินกว่าจะวัดได้

11 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สถานการณ์ฝุ่นละอองคือเรื่องที่คนไทยคุ้นเคย ทั้งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯหรือแถบภาคเหนือที่ค่ามลพิษพุ่งสูงแทบทุกปี แต่ยังเทียบไม่ได้กับค่ามลพิษภายในอินเดียที่กำลังพุ่งสูงในตอนนี้ จนค่าฝุ่นละอองภายในกรุงนิวเดลีพุ่งทะลุขีดเกินกว่าจะวัดได้

          ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2564 กรุงนิวเดลีของอินเดียถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันปกคลุมทั่วทั้งเมือง รวมถึงค่าฝุ่น PM2.5 ในนิวเดลีสูงทะลุ 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในบางพื้นที่ยังพุ่งไปถึง 999 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งเป็นค่าสูงสุดเท่าที่เครื่องมือจะวัดได้ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างร้ายแรง

 

          นับเป็นค่าฝุ่น PM2.5 สูงเป็นประวัติการณ์ ฝุ่นควันที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อดวงตาและทางเดินหายใจของผู้คนจำนวนมาก อีกทั้งยังทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นหลายครั้งในทางหลวง ในเวลาแค่วันเดียวยังเกิดรถชนกันถึง 6 คัน จากทัศนวิสัยที่ลดต่ำหลังถูกปกคลุมด้วยหมอกควัน

 

          สถานการณ์ฝุ่นควันที่เลวร้ายเป็นผลมาจากเทศกาล ดิวาลี ตามความเชื่อของฮินดู เป็นเทศกาลแห่งแสงสว่างของชาวอินเดีย ถือเป็นวันที่พระรามกลับอาณาจักรหลังถูกเนรเทศยาวนานถึง 14 ปี ก่อเกิดเป็นงานฉลองที่รวมตัวคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง เข้าเฉลิมฉลองในงานเทศกาลที่เจิดจ้าไปด้วยแสงสว่าง

 

          ตลอดคืนจะมีการเล่นพลุแสดงดอกไม้ไฟตระการตา รวมถึงจุดตะเกียงน้ำมันดินส่องสว่างทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะในเมืองอโยธยาที่ถือเป็นสถานที่ประสูติของพระราม มีรายงานว่าตะเกียงดินเผาภายในเมืองถูกจุดขึ้นมาที่ริมฝั่งแม่น้ำสรยุพร้อมกันถึง 900,000 ดวงเลยทีเดียว

สถานการณ์ฝุ่นละอองในอินเดีย

          ปัญหาที่ตามมาคืออัตราการเผาไหม้เป็นจำนวนมาก ทั้งจากพลุและดอกไม้ไฟในงานเทศกาล รวมถึงตะเกียงน้ำมันที่เรียงรายทำให้ค่ามลพิษทางอากาศยิ่งพุ่งสูง เมื่อรวมกับการเผาไร่ปรับหน้าดินในช่วงฤดูหนาวของเกษตรกรเข้าไปด้วย ค่ามลพิษในนิวเดลีไปจนทั่วประเทศจึงพุ่งทะยานเกินจินตนาการ

 

          เดิมทีปัญหาฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศของอินเดียคือสิ่งที่พูดถูกถึงมาหลายครั้ง หลังนิวเดลีเมืองหลวงครองตำแหน่งมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลกถึง 3 ปีซ้อน โดยมีค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองตลอดทั้งปีอยู่ที่ 84.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รวมถึงการติด 35 จาก 50 อันดับเมืองมลพิษสูงสุด ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลกโดยปริยาย

 

          สาเหตุของค่ามลพิษเหล่านี้มาจากการเผาเพื่อปรับหน้าที่จากพื้นที่ทางการเกษตร รวมกับอากาศเย็นลงในหน้าหนาวคอยกักฝุ่นละอองไว้ ทำให้อินเดียมีค่า PM2.5 เกินมาตรฐานในระดับเป็นอันตรายมายาวนาน ผลกระทบที่ตามมาคือโรคทางเดินหายใจร้ายแรงต่อเด็กและผู้สูงอายุ จากการประเมินคาดว่าอายุเฉลี่ยชาวอินเดียสั้นลงไปร่วม 9 ปีเลยทีเดียว

 

          แน่นอนว่าที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียเองไม่ได้นิ่งนอนใจ เกิดความพยายามในการแก้ไขปัญหามาสักพัก อย่างในปี 2019 มีโครงการอากาศสะอาดแห่งชาติเพื่อลดระดับมลพิษในอากาศ แต่สถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นก็เป็นการยืนยันได้ชัดเจน ว่าผลลัพธ์จากโครงการและความร่วมมือจากประชาชนในประเทศเป็นเช่นไร
สถานการณ์ฝุ่นละอองในอินเดีย

logoline