svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ฟาบริซิโอ โรมาโน จากนักข่าวโนเนม สู่กูรูตลาดนักเตะอันดับหนึ่งคนปัจจุบัน

11 พฤศจิกายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทุกวันนี้ คงมีน้อยคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อ ฟาบริซิโอ โรมาโน นักข่าวหนุ่มชาวอิตาเลียน เจ้าของประโยค ‘Here we go.’ เพราะเมื่อต้องการคำยืนยันสำหรับข่าวสำคัญของวงการ โรมาโน คือ “เบอร์หนึ่ง” คนปัจจุบัน

Highlights

  • ในเวลาสั้น ๆ แค่สองปีเศษ Here we go. ก็กลายเป็นประโยคยอดฮิตในวงการฟุตบอล สำหรับยืนยันเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่แม้แต่ เคลาดิโอ รานิเอรี ยังพูดประโยคนี้ ในวันเปิดตัวกับ ซามพ์โดเรีย
  • ฟาบริซิโอ โรมาโน นักข่าวหนุ่มชาวอิตาเลียนคือเจ้าของประโยคนั้น และความแน่นอนที่หาได้ยากในยุคโซเชียลมีเดีย ทำให้เจ้าตัวกลายเป็น “เบอร์หนึ่ง” ในด้านนี้โดยปริยาย
  • นักข่าววัย 28 ปีทำอย่างไร ถึงใช้เวลาสั้น ๆ สร้างชื่อจนเป็นที่ยอมรับได้ขนาดนี้

--------------------

          ในยุคสมัยที่มีคนสถาปนาตัวเองเป็นสื่อมากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต

 

          หลายครั้งที่เรื่องราวซึ่งปรากฏบนหน้าจออาจเป็นแค่ส่วนหนึ่งของข้อมูล หรือความเห็น แต่ไม่ใช่ “ความจริง” เสมอไป

 

          การจะพิสูจน์ตัวเองให้เป็นที่ยอมรับจากผู้คนในวงกว้างได้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ว่าจะวงการไหน

 

          ในช่วง 2-3 ปีมานี้ วลีเด็ดอย่าง ‘Here we go.’ กลายเป็นเหมือนตราประทับยืนยันความน่าเชื่อถือของข่าวการซื้อขายผู้เล่นในวงการฟุตบอลยุโรปไปแล้ว

 

          และทุกครั้งที่ได้ยินหรือได้เห็น ชื่อแรกที่คอฟุตบอลทั่วโลกจะนึกถึงก็คือ ฟาบริซิโอ โรมาโน ผู้สื่อข่าวชาวอิตาเลียนที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือที่สุด” ในตลาดนักเตะปัจจุบัน

 

          อย่างไรก็ตาม กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ โรมาโน เองก็ต้องใช้เวลานานนับสิบปีเล่นกัน เพื่อสร้างคอนเนกชั่นและความน่าเชื่อถือ ทั้งจากสโมสร เอเยนต์นักเตะ จนถึงแฟนบอลอย่างเรา ๆ อย่างทุกวันนี้

 

ฟาบริซิโอ? ใคร?

Here we go. คือวลีที่เหมือนตราประทับทุกดีลสำคัญของวงการฟุตบอลยุคนี้ / ภาพจาก Instagram / @ fabrizioromano

          โรมาโน ก็เหมือนกับเด็กหนุ่มอิตาเลียนคนอื่น ๆ ที่หลงใหลในกีฬาฟุตบอล แต่บนเส้นทางที่ต่างออกไป

 

          เพราะแทนที่จะลงสนามไปเพื่อพิสูจน์ฝีเท้ากับคู่แข่ง ความต้องการของเจ้าตัวคือการเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ

 

          ย้อนกลับไปเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว โรมาโน ในวัย 17 ปี เริ่มต้นในฐานะนักข่าวสมัครเล่น ที่เนเปิลส์ บ้านเกิด 

          เจ้าตัวมองว่าความโชคดีครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต คือการย้ายไปใช้ชีวิตในมิลานในปีถัดมา เพื่อทำงานให้กับ Sky Italy เพราะที่นี่คือเมืองสำคัญของวงการฟุตบอลอิตาลี และยุโรป

 

          แต่ด้วยความที่อายุยังน้อย และไม่เป็นที่รู้จักของคนในวงการ การจะเข้าถึงข่าววงในได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

          สิ่งที่ โรมาโน พยายามสร้างให้เกิดขึ้น คือคอนเนกชั่นกับผู้คน การได้เป็นนักข่าวของ Sky Italy คือใบเบิกทางแรก แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความอดทนมหาศาล

 

          โรมาโน ต้องคอยไปดักพบคนในวงการที่ “น่าจะ” เป็นแหล่งข่าว เช่น เอเยนต์นักเตะ ผู้อำนวยการกีฬา หรือเจ้าหน้าที่สโมสร ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งโรงแรม บาร์ หรือภัตตาคารหรูในตัวเมือง เพื่อให้อีกฝ่ายเริ่มคุ้นหน้า และไว้ใจพอที่จะให้ข้อมูลสำคัญ

 

          ซึ่งไม่ใช่แค่สโมสรในอิตาลีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสโมสรในลีกชั้นนำ จากอังกฤษ สเปน หรืออเมริกาใต้ ทุกครั้งที่มีโอกาส

 

เคล็ดวิชาจากอาจารย์
จานลูกา ดิ มาร์ซิโอ (ขวา) อาจารย์ของ โรมาโน / ภาพจาก Instagram @gianlucadimarzio

          แน่นอนว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่เด็กอายุ 18 จะเริ่มต้นทุกอย่างด้วยตัวเอง

 

          โชคดีเป็นของ โรมาโน ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจาก จานลูกา ดิ มาร์ซิโอ ผู้สื่อข่าวรุ่นใหญ่ชาวอิตาเลียน และลูกชายของ จานนี ดิ มาร์ซิโอ อดีตเฮดโค้ชของ นาโปลี ในทศวรรษที่ 70

 

          นอกจากสอนแนวทางในการทำงาน ดิ มาร์ซิโอ ยังเป็นผู้แนะนำให้ โรมาโน รู้จักคนในแวดวงฟุตบอล เพื่อคอนเนกชั่นที่กว้างขึ้นในการทำงาน

 

          “เขาสอนผมว่าอย่ารอเช็กข่าวจากสโมสรอย่างเดียว แต่ยังต้องติดตามกับเอเยนต์ หรือคนที่อยู่เบื้องหลังด้วย”

 

          “เคล็ดลับคือคุณต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน”

 

          อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนในชีวิตของ โรมาโน คือการได้ย้ายไปทำงานให้ บาร์เซโลนา เพื่อเขียนข่าวการย้ายของผู้เล่นเยาวชน และเป็นที่นี่เองที่ทำให้คอนเนกชั่นของเจ้าตัวกว้างขึ้นกว่าแค่วงการฟุตบอลอิตาลี

Here we go. Zlatan
ซลาตัน อิบราฮิโมวิช คือดีลแรก ๆ ที่สร้างชื่อให้ โรมาโน / ภาพจาก Twitter
          ชื่อของ โรมาโน เริ่มเป็นที่สนใจของผู้คน เมื่อเป็นรายแรก ๆ ที่รายงานความเคลื่อนไหวของ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ว่าจะย้ายมาเล่นให้ เอซี มิลาน ในปี 2019

 

          รวมถึงเป็นรายแรก ๆ ที่ให้ข้อมูลเรื่อง คาร์โล อันเชลอตติ ตอบรับงานคุม เอฟเวอร์ตัน และ เคลาดิโอ รานิเอรี กับ ซามพ์โดเรีย ด้วย

 

          ไปจนการให้ข่าวว่า ซีเนดีน ซีดาน เตรียมลาออกจาก เรอัล มาดริด และการย้ายกลับไป ปาร์มา ของ จานลุยจิ บุฟฟ่อน ในซัมเมอร์ปีถัดมา

 

เผยแต่ข้อมูล ไม่เผยแหล่งข่าว

          ในอุตสาหกรรมที่ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ "ข้อมูลวงใน" ที่จะสร้างแตกต่างนั้น สำคัญมาก และส่วนใหญ่ควรถูกเก็บไว้เป็นความลับ

 

          การเผยแพร่เรื่องบางอย่างออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือก่อนเวลาเหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาได้

 

          แต่ด้วยคอนเนกชั่นที่มี และความแน่นแฟ้น ทำให้ โรมาโน ได้รับอนุญาตจากแหล่งข่าวเหล่านั้น ให้เปิดเผยข้อมูลได้ "แต่" ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้

 

          ซึ่งเจ้าตัวก็พูดแบบติดตลกว่าถ้าชื่อของแหล่งข่าวหลุดออกไปจริง ๆ ตนคงจะเป็นคนแรกที่โดนฆ่าทิ้ง

 

ไม่ต้องเร็วที่สุด แต่แน่นอนที่สุด

          หลักการทำงานของ โรมาโน แม้จะอยู่ในยุคที่ข่าวสารเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วบนโลกอินเทอร์เนต

 

          แต่เจ้าตัวกลับเลือกที่จะทำงานด้วยแนวคิด 'slow jounalism' คือความแน่นอนต้องมาก่อน

 

          โรมาโน จะไม่พูดถึงการซื้อขาย จนกว่าจะมั่นใจได้ 100% ว่าข่าวนั้นถูกต้อง และตราบใดที่ยังไม่แน่ใจ จะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเด็ดขาด

 

          โรมาโน เล่าว่าในวัน ๆ หนึ่ง เขาจะโทรศัพท์ไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูล ยังไม่นับการเดินทางไปที่โรงแรม หรือสำนักงานใหญ่ของสโมสรต่าง ๆ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากเอเยนต์นักเตะ หรือผู้อำนวยการสโมสร

 

ปีศาจสำหรับแฟนบอล เทวดาของสโมสร
มิโน ไรโอลา ซูเปอร์เอเยนต์ที่สนิทสนมกับ โรมาโน           เป็นธรรมดาของการคลุกคลีในตลาดนักเตะที่ โรมาโน จะต้องใกล้ชิดและข้องแวะกับบรรดาผู้อยู่เบื้องหลังการย้ายทีม

 

          โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกเรียกว่าซูเปอร์เอเยนต์ ซึ่งมีคอนเนกชั่นหรืออิทธิพลกับเหล่าซูเปอร์สตาร์ในมือ

 

          ไม่ว่าจะเป็น มิโน ไรโอลา (เออร์ลิง ฮาลันด์, มัทเธียส เดอ ลิจท์, ปอล ป็อกบา และ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช)

 

          จอร์จ เมนเดส (โชเซ มูรินโญ และ คริสเตียโน โรนัลโด) หรือ ปินี ซาฮาวี (โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี)

 

          คนกลุ่มนี้มักถูกแฟนบอลก่นด่าว่าเป็นพวกที่คอยสูบเลือดสูบเนื้อสโมสร อยู่เบื้องหลังการขบถของนักเตะในอาณัติ หรือทำให้การเซ็นสัญญายุ่งยากกว่าที่ควรจะเป็น

 

          แต่ โรมาโน ก็พร้อมจะนำเสนออีกด้านที่หลายคนไม่ได้เห็น โดยเฉพาะการมองผ่านมุมผู้บริหารสโมสรว่าคนเหล่านี้ หลายครั้งช่วยนำสิ่งที่สโมสรต้องการมาให้

 

          โรมาโน ซึ่งยอมรับแบบไม่อ้อมค้อม ว่าสนิทกับ ไรโอลา บอกว่าคนเหล่านี้คงไม่ใช่เทวดาหรือนักบุญมาโปรดแบบ 100% และบางครั้งก็เป็นตัวปัญหาจริง ๆ จากการมีอำนาจ มีคอนเนกชั่น และมีบทบาทในการตัดสินใจมากแต่ถ้าปราศจากเอเยนต์แล้ว การที่สโมสรจะบรรลุข้อตกลงต่าง ๆ ในการเซ็นสัญญากับนักเตะซักคน จะเป็นเรื่องยุ่งยากมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่สื่อส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึง หรือเลือกนำเสนอด้านลบมากกว่า

สร้างชื่อบนโลกโซเชียล
ทวิตเตอร์ของ โรมาโน ที่มีผู้ติดตามมากกว่านักกีฬาดังๆ หลายคน

          นอกจากเหล่าซูเปอร์เอเยนต์แล้ว นักข่าวยุคใหม่อย่าง โรมาโน เองก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการขับเคลื่อนวงการฟุตบอลยุคนี้ ผ่านสื่ออย่าง โซเชียลมีเดีย

 

          โรมาโน ในวัย 28 ปี ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในยุคนี้อย่างคุ้มค่า จนเป็นที่รู้จักของคนไปทั่วโลก ไม่เฉพาะในอิตาลี หรือยุโรป

 

          เจ้าตัวมีผู้ติดตามบน Twitter (@FabrizioRomano) เกือบ 6 ล้านคน และบน Instagram มากกว่า 5 ล้านคน (มากกว่านักกีฬาดัง ๆ บางคนด้วยซ้ำ) และอีก 6 แสนคนบน YouTube และ 4 แสนคนบน Twitch

 

          ในมุมของ โรมาโน หัวใจสำคัญของการสร้างฐานผู้ติดตามจนเติบโตได้ขนาดนี้ คือนอกจากข้อมูลที่เชื่อถือได้แล้ว ยังต้องมีเรื่องการปฏิสัมพันธ์ด้วย

 

          "ผมไม่จำเป็นต้องขายหนังสือพิมพ์หรือรายการทีวี ที่ผมต้องทำ คือแสดงให้คนเหล่านั้นเชื่อว่าข้อมูลจากผมถูกต้อง"

 

          โรมาโน มองว่าข้อดีของตลาดซื้อขายนักเตะคือ เขาสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับแฟนกีฬาที่ติดตามได้ เพราะถ้าปราศจากคนกลุ่มนี้แล้ว กีฬาจะเป็นเรื่องน่าเบื่อมาก

 

          เขายกตัวอย่างกรณีของ เจดอน ซานโช ปีกทีมชาติอังกฤษ ที่เป็นข่าวกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นานหลายปี และใช้เวลาในการเจรจาระหว่างสองสโมสรนานเกือบ 18 เดือน

 

          แต่แฟนบอลก็ไม่เคยเบื่อกับเรื่องเหล่านี้ และมักถามเขาอยู่เป็นระยะ กระทั่งดีลนี้ลุล่วง

 

          เมื่อแฟนบอลไม่เบื่อที่จะถาม เขาก็ไม่เบื่อที่ต้องตอบคำถามเดิม ๆ ซ้ำ เพราะมองว่านี่คือส่วนหนึ่งของแพสชั่นที่แฟน ๆ มีต่อสโมสร และเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จัก

 

          แม้บางครั้งจะมีปฏิกิริยาทางลบกลับมาบ้าง โดยเฉพาะเมื่อการเซ็นสัญญาไม่เป็นอย่างที่แฟน ๆ ต้องการ

ไม่แน่นอนเสมอไป
ดาบิด ซิลบา หนึ่งในเคสที่ย้ำกับ โรมาโน ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน / ภาพจาก Marca

          โรมาโน ย้ำว่าบทบาทของตนเป็นเพียงผู้ถ่ายทอดเหตุการณ์ ซึ่งบางครั้งก็อาจเกิดพลิกผันได้

 

          เหมือนกรณีของ ดาบิด ซิลบา ที่เตรียมย้ายจาก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ไป ลาซิโอ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

 

          การเจรจาเป็นไปด้วยดี เหลือเพียงรอการเดินทางไปตรวจร่างกาย

 

          แต่ทุกอย่างก็พลิกในนาทีสุดท้าย เมื่อ ซิลบา เลือกย้ายไป เรอัล โซเซียดาด ด้วยเหตุผลด้านครอบครัว จนทำให้ โรมาโน ที่ 'Here we go.' ไปแล้ว โดนแฟน ๆ ลาซิโอ ถล่มยับ

 

          โชคดีที่ผู้อำนวยการสโมสร ลาซิโอ ให้สัมภาษณ์อธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น จนทุกคนเข้าใจได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

 

          "ผมไม่ใช่ ดาบิด ซิลบา และก็ไม่มีอำนาจควบคุมอะไรได้ด้วย"

 

          โรมาโน ยกตัวอย่างกรณีของ ลิโอเนล เมสซี ในซัมเมอร์นี้ ว่าเป็นอีกเคสที่ไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำงาน

 

          ทั้งในแง่ของการที่นักเตะและต้นสังกัดเก่า ต่างก็เป็นไอคอนของวงการ การจะให้ข่าวที่เชื่อถือได้แต่ละครั้งจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง

 

          แต่กลับกัน ก็มีข่าวปลอมเกิดขึ้นเต็มไปหมด ในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น เมสซี ยังพักผ่อนอยู่ที่อิบิซาบ้าง หรือไปถึงปารีสแล้วบ้าง แม้แต่เรื่องที่ว่า บาร์เซโลนา พยายามเสนอสัญญาฉบับใหม่ให้

มุมมองต่อนักฟุตบอลรุ่นใหม่

          โรมาโน เลือกที่จะไม่พูดถึงฝีเท้าว่าใครคือนักเตะที่น่าสนใจ แต่ในมุมของคนที่คลุกคลีกับวงการฟุตบอลมาพอตัว

 

          เจ้าตัวรู้สึกว่านักฟุตบอลรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะในยุโรปหรืออเมริกาใต้ เผลอตัวไปกับความสำเร็จหรือชื่อเสียงที่เพิ่งได้มา จนละเลยสิ่งที่ควรทำในฐานะมืออาชีพ ทั้งที่ทุกวันนี้ สโมสรและเอเยนต์ชั้นนำ ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

 

          "เมื่อคุณมีชื่อเสียงหรือมีเงินมากตั้งแต่อายุยังน้อย คุณคงคิดว่าสามารถมีทุกสิ่งที่ต้องการได้ แต่สิ่งที่ขาดไป ก็คือความเป็นมืออาชีพ"

 

          เพราะความเป็นมืออาชีพนี่เองที่ทำให้ โรมาโน มีวันนี้

 

          "การเป็นนักข่าวก็ไม่ง่ายเหมือนกัน ผมมักจะถูกถามว่าข่าวไหนเป็นความจริง และอยากให้ช่วยยืนยัน แต่ผมจะพูดต่อเมื่อแน่ใจแล้วเท่านั้น ผมไม่อยากให้ข่าวเท็จ และก็ไม่อยากปฏิเสธว่าข่าวไหนไม่จริงเช่นกัน"

--------------------

SOURCE:

logoline