svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

กฎหมายภาษี e-service เรื่องน่ารู้จากสินค้าขึ้นราคาพร้อมความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาในอนาคต

15 ตุลาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กฎหมายภาษี e-service ถือเป็นชื่อที่ถูกหยิบมาพูดถึงอีกครั้ง ภายหลังเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นความเปลี่ยนแปลงก้าวใหญ่ในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มออนไลน์ แม้มูลค่าไม่ได้มากนักแต่ในอนาคตอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทั้งวงการ

Highlights

  • สินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เริ่มขยับราคา ตามกฎหมายภาษี e-service ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นความเปลี่ยนแปลงก้าวใหญ่ในกฎหมายเก็บภาษีของประเทศไทย
  • กฎหมายภาษี e-service คือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์แก่บริษัทต่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ธุรกิจในประเทศที่ต้องเสียภาษีชนิดนี้อยู่ก่อน
  • ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมีเกือบทุกวงการ ตั้งแต่เว็บไซต์ขายของ ธุรกิจโฆษณา เอเจนซี่จองโรงแรมที่พัก ธุรกิจขนส่งสินค้า ไปจนสื่อบันเทิงประเภทต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้
  • แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบแท้จริงน่าจะเป็นผู้บริโภคที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราภาษี ดังที่เกิดขึ้นแล้วกับแพลตฟอร์ม Facebook และ Steam รวมถึงความเป็นไปได้จากการจัดเก็บภาษีอื่นเพิ่มเติมในอนาคตด้วย

--------------------

          คาดว่าบรรดาผู้ใช้บริการเว็บไซต์ทั้งหลายคงเริ่มสังเกตเห็น ว่าสินค้าหรือบริการที่เราซื้อหาใช้งานเริ่มทยอยกันปรับราคาขึ้นมาบางส่วน หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาของทางเว็บไซต์เองแต่แท้จริงไม่ใช่ เมื่อนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากกฎหมายจัดเก็บภาษีฉบับใหม่

 

          โดยประเทศไทยได้ประกาศพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายรัษฎากร (ฉบับที่53) พ.ศ. 2564 ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ผู้ให้บริการจำนวนมากจึงเริ่มปรับเปลี่ยนอัตราให้บริการหรือแนวทางทำธุรกิจตามไปด้วย

 

          แน่นอนว่านี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวใหญ่ของกฎหมายรับการพัฒนาของเทคโนโลยี จากความนิยมของสินค้าและบริการบนโลกออนไลน์ เป็นก้าวแรกแห่งการปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมเท่าทันตามยุคสมัย แม้อาจทำให้ผู้ใช้บริการบางคนไม่ค่อยพอใจนักก็ตาม

          แต่ก่อนอื่นเราคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ากฎหมายภาษี e-service ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้คืออะไร?

ประมวลกฎหมายรัษฎากร (ฉบับที่53) พ.ศ. 2564 ที่มาของกฎหมายภาษี e-service กฎหมายภาษี e-service ต้นทางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
          กฎหมายภาษี e-service คือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแก่บรรดาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มทางอินเตอร์เน็ทจากต่างประเทศ ที่มีรายได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทยมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ผู้ให้บริการเหล่านั้นจำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย นำส่งภาษีจากผู้ซื้อในประเทศให้แก่กรมสรรพากรในอัตรา 7% ของราคาสินค้าหรือบริการ

 

          สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นมาจากการพัฒนาขึ้นของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ท ทำให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศสามารถให้บริการลูกค้าผ่านระบบออนไลน์ เข้าถึงลูกค้าจำนวมากในประเทศและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงบริการมากมายทั้ง เกม เพลง หรือภาพยนตร์ ส่งผลให้การซื้อขายและโฆษณาบนแพลตฟอร์มเหล่านี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

          รายได้และเม็ดเงินที่เกิดขึ้นถูกส่งตรงกลับไปหาบริษัทแม่ในต่างประเทศ ตรงนี้เองที่เป็นความซับซ้อนเมื่อที่ผ่านมาภาครัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้จากธุรกิจเหล่านี้ได้เลย ไม่ว่าในส่วนของภาษีเงินได้หรือภาษีมูลค่าเพิ่มต่างไม่มีกฎหมายออกมารองรับให้จัดเก็บทั้งสิ้น เมื่อธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลภายในประเทศด้วยซ้ำ

 

          นั่นทำให้การแข่งขันทางธุรกิจเกิดความไม่เป็นธรรมจากการที่กิจการในประเทศต้องเสียภาษีตามกฎหมาย เช่นเดียวกับเม็ดเงินมากมายจากรายได้ของผู้ประกอบการต่างประเทศที่ภาครัฐไม่มีโอกาสแตะต้อง นำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ตอบรับโลกสมัยใหม่มากขึ้น

          สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทยแต่ได้รับการปรึกษาหารือใช้งานจากทั่วทุกมุมโลก นานาประเทศได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหานี้ตามคำแนะนำของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(OECD) กำหนดให้บรรดาผู้ประกอบการจดทะเบียนนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแก่หน่วยงานจัดเก็บภาษีในประเทศนั้นๆ เป็นกฎหมายที่ได้การยอมรับมีการบังคับใช้จาก 60 ประเทศทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, นอร์เวย์, มาเลเซีย, สหรัฐฯ ฯลฯ

 

          ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อคราวนี้มาถึงคิวของประเทศไทยมาปรับกฎหมายให้สอดล้อง กลายมาเป็นกฎหมายภาษี e-service ดังกล่าว  อีกทั้งนี่เป็นข้อปฏิบัติและกฎที่บริษัทต่างชาติคุ้นเคยดี สังเกตได้จากการปรับตัวเข้ากับกฎหมายนี้ได้รวดเร็ว เริ่มมีการขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วนับร้อยราย ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น
 
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(OECD) แม่แบบของกฎหมายภาษี e-service ของนานาประเทศ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายภาษี e-service มีอะไรบ้าง?
          คำถามที่ตามมาเมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ย่อมตามมาถึงธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนนี้กฎหมายภาษี e-service ครอบคลุมตั้งแต่ บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือบริการสินทรัพย์ไร้รูปร่างที่ส่งมอบผ่านเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไปจนถึง อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ที่ผู้ให้บริการใช้อำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการทั้งหลายจนทำให้เกิดรายได้

 

          อธิบายแบบนี้อาจเห็นภาพได้ยากไปสักหน่อย แต่ถ้าให้ลงรายละเอียดกฎหมายภาษี e-service จะครอบคลุมธุรกิจและบริการมากมายตั้งแต่

  • ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ เช่น Amazon, Ebay, Alibaba
  • ธุรกิจโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook, Google
  • ธุรกิจเอเจนซี่ให้บริการจองที่พักและโรงแรม เช่น Agoda, Traveloka
  • ธุรกิจขนส่งหรือตัวแทนขนส่งสินค้า เช่น Grab, Food Panda
  • ธุรกิจให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Microsoft, Adobe, Dropbox, Cloud
  • ธุรกิจสื่อบันเทิงผ่านระบบออนไลน์ ทั้งดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เช่น Netflix, Steam, Joox ฯลฯ

 

          จะเห็นได้ว่าครอบคลุมกับการใช้บริการอินเตอร์เน็ทของคนเราเกือบทั้งหมด เรียกว่าทุกเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ล้วนถูกระบุให้ต้องเสียภาษีตามกฎหมายภาษี e-service ทั้งสิ้น โดยกรมสรรพากรคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้แก่ประเทศจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มธุรกิจเหล่านี้ได้มากถึง 5 พันล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

 

           แน่นอนว่านี่ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้ภาครัฐและภาคธุรกิจในประเทศยิ้มหน้าบาน แต่คงเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ใช้บริการยิ้มไม่ออก เพราะเราต่างรู้ดีว่าเมื่อผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหรือมีต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว สุดท้ายผลกระทบจะตกลงมาถึงใคร

 

ผลกระทบต่อผู้ใช้บริการจากกฎหมายภาษี e-service ที่เกิดขึ้น
          เรื่องราคาสินค้าได้รับการชี้แจงจากกรมสรรพากรว่า ขึ้นกับผู้ประกอบการและลูกค้าจะตกลงกันอย่างไร นั่นหมายถึงบรรดาธุรกิจหรือผู้ให้บริการสามารถเรียกเก็บเงินเพิ่มจากบริการของตัวเองตามอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ในส่วนของเว็บไซต์ทั่วไปอย่างเดียว แต่อาจทำให้ราคาสินค้าและบริการปรับตัวขึ้นแม้เราไม่เคยใช้บริการเหล่านั้นสักอย่างเลยก็ตาม

 

          ตัวอย่างเช่น กรณีมีธุรกิจอาศัยช่องทางออนไลน์ในการโฆษณาสินค้าให้เป็นที่รู้จัก เมื่อการโฆษณาถูกเรียกเก็บมากขึ้นต้นทุนย่อมสูงตาม สิ่งนั้นอาจทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มส่งผลกระทบแม้เราไม่ได้เป็นผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มโฆษณาโดยตรง ดังนั้นผลกระทบต่อผู้บริโภคต้องเกิดขึ้นไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
ภายหลังการบังคับใช้ในวันที่ 1 กันยายน 2564 เริ่มมีบริษัทปรับตัวขึ้นราคาสินค้าและบริการสอดรับกฎหมายภาษี e-service แล้วเช่นกัน อย่าง Facebook ที่มีการชี้แจงประเด็นนี้ไว้อย่างละเอียด ว่าจะมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายอีก 7% ตามกฎหมายภาษี e-service เพื่อนำส่งให้กรมสรรพากร

 

          เช่นเดียวกับธุรกิจร้านค้าเกมรายยักษ์อย่าง Steam ที่เริ่มดำเนินการตามกฎหมายภาษี e-service แล้วเช่นกัน โดยมีการแจ้งรายละเอียด สำหรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทำให้ทางเว็บไซต์ต้องปรับราคาเกมเพิ่มตามอัตราภาษีที่กำหนด ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ตามรอยแพลตฟอร์ม Origin ที่มีการปรับเพิ่มราคาเกมไปก่อนหน้านี้

 

          เห็นได้ชัดว่าผลกระทบเกิดขึ้นมาแล้ว บริษัทหลายแห่งต่างเลือกขึ้นราคาสินค้าและบริการ หมายความว่าจากนี้เราจำเป็นต้องจ่ายเงินซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น แม้นั่นเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายแต่ทำให้สงสัยขึ้นมาเหมือนกัน ว่านั่นเป็นการผลักภาระมาให้มาตกอยู่กับประชาชนหรือไม่?
 
รายชื่อประเทศที่มีกฎหมายภาษี e-service และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเวลาซื้อเกมในเว็บไซต์ Steam แนวโน้มในอนาคตจากกฎหมายภาษี e-service ในประเทศไทย
          ปัจจุบันผลกระทบจากกฎหมายภาษี e-service นอกจากการขึ้นราคาของสินค้าและบริการ 7% ฟังดูแล้วไม่ได้ส่งผลกระทบโดยรวมต่อธุรกิจหรือผู้ใช้บริการขนาดนั้น เรายังสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ดังเดิมแค่อาจต้องระวังเรื่องเงินเพิ่มขึ้นเสียหน่อย ทางผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาบ้างแต่คงไม่ได้มากเนื่องจากอัตราการขึ้นไม่ได้สูงนัก

 

          อีกทั้งการประเมินจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า การใช้บริการดิจิตอลจากแพลตฟอร์มต่างชาติมีโอกาสเติบโตมากขึ้นเมื่อสถานการณ์ระบาดคลี่คลาย ภายหลังการระบาดทำให้แพลตฟอร์มบางประเภทที่เกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยวซบเซา โดยอาจขยับจากมูลค่า 7 หมื่นล้านบาทก่อนเกิดการระบาด พุ่งสูงถึง 1 แสนล้านบาทในปี 2567 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 10-15% ต่อปี

 

          กฎหมายภาษี e-service อาจไม่ได้ส่งผลกระทบวงกว้างแต่นี่คืออัตราภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียว ในอนาคตเมื่อมีการออกกฎหมายฉบับใหม่ที่อาจครอบคลุมและขึ้นภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น ผ่านร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษีออนไลน์โดยเฉพาะ เป็นไปได้ว่าอาจเกิดผลกระทบมากขึ้นทั้งกับผู้ใช้บริการหรือคนสร้างรายได้จากช่องทางเหล่านี้

 

          ไม่ว่าจะเป็นบรรดาผู้ประกอบการที่ใช้ช่องทางเหล่านี้โฆษณาประชาสัมพันธ์ต้องแบกรับต้นทุนที่มากขึ้น กลุ่มธุรกิจจัดหาที่พักและร้านอาหารต้องแบ่งอัตราส่วนให้แก่แพลตฟอร์มจนต้องเพิ่มราคาขาย หรือเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งหลายที่อาจถูกลงมาควบคุมกำหนดกฎเกณฑ์ เมื่อมีการร่างกฎหมายในการเก็บภาษีออนไลน์เพิ่มเติมในอนาคต

 

          แน่นอนการเสียภาษีเป็นทั้งหน้าที่และส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ เราหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ไม่ได้อีกทั้งควรเต็มใจให้ความร่วมมือเพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า 

 

          แต่ทำให้อดตั้งคำถามแก่ประชาชนผู้จ่ายภาษีทั้งหลายไม่ได้ว่าเม็ดเงินส่วนนี้ นอกจากเก็บเข้าเป็นรายได้ให้ส่วนกลางมันถูกส่งกลับมาถึงมือเราหรือพัฒนาวงการเหล่านี้แค่ไหน?

 

เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช

--------------------
ที่มา:

logoline