svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ดูหนังในโรง หรือ ดูอยู่บ้าน? การเติบโตของวงการสตรีมมิ่ง.....

30 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภายหลังการระบาดของโควิด กระแสความนิยมในธุรกิจสตรีมมิ่งนับวันยิ่งมากขึ้น แต่แท้จริงนี่คือวงการที่เติบโตอย่างมั่นคงภายใต้ร่มเงาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ สู่วันที่กลับมาพลิกโฉมและเปลี่ยนแปลงการดูหนังไปตลอดกาล

Highlights

  • การแพร่ระบาดของโควิดทำให้มีการนำภาพยนตร์ใหม่เรื่องดังลงมาสตรีมมิ่งมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้พยุงผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งหลาย จากการที่ผู้ใช้งานบริการสตรีมมิ่งเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
  • แท้จริงนี่ไม่ใช่บริการที่เกิดขึ้นไม่นาน แต่ขยายตัวมาพักใหญ่ภายใต้ร่มเงาของวงการภาพยนตร์นับสิบปี โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากบริษัทที่ทุกคนรู้จักกันดี Netflix
  • ความสำเร็จของ Original Content ของ Netflix ทำให้สตรีมมิ่งเติบโตเป็นทวีคูณ จนค่ายหนังน้อยใหญ่ทั่วโลกให้ความสนใจพัฒนาสตรีมมิ่งของตัวเอง ก่อนเกิดการระบาดของโควิดเสียอีก
  • แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาสู่ข้อขัดแย้งและความไม่เห็นด้วยมากมาย รวมถึงเมื่อมีการนำภาพยนตร์เรื่องใหม่ลงฉายสตรีมมิ่งแทนโรงภาพยนตร์ ยิ่งทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงนำไปสู่การฟ้องร้องใหญ่โต

--------------------

          นับจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดจนทุกคนถูกบังคับให้อยู่ในบ้าน บริการสตรีมมิ่งถือเป็นช่องทางรับชมภาพยนตร์ที่แพร่หลาย ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ด้วยการนำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์จำนวนมากอัดแน่น ช่วยให้ผู้คนได้รับชมรายการมากมายโดยไม่ต้องออกจากบ้าน สามารถก้าวผ่านช่วงเวลากักตัวอันยาวนานร่วมกันมาได้

 

          เช่นเดียวกับบรรดาค่ายหนังเริ่มเล็งเห็นว่าบรรดาสตรีมมิ่งเหล่านี้ดูเป็นทางรอด หลังจากไม่สามารถนำหนังฉายหลังจากโรงภาพยนตร์ถูกสั่งปิด ไม่อาจสร้างรายได้จากสินค้าในมือจนบริษัทติดตัวแดงไปตามกัน จึงเริ่มหาช่องทางระบายภาพยนตร์ค้างสต็อกเพื่อสร้างรายได้และไม่กระทบตารางงานในระยะยาว

          นำไปสู่การขายภาพยนตร์ให้กับบรรดาสตรีมมิ่งรายใหญ่ อย่าง Godzilla vs Kong เองยังได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง มีข่าวว่าสตรีมมิ่งเจ้าดัง Netflix คิดทุ่มเงินกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 6,000 ล้านบาท เพื่อให้ได้รับสิทธิฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่สุดท้ายก็ถูกคว้าไปด้วยน้ำมือของ Warner bros ส่งตรงลง HBO MAX สตรีมมิ่งของทางค่ายแทน
ต้องยอมรับว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบรรดาสตรีมจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นผลพวงจากการระบาดของโควิด กระนั้นการแพร่หลายได้รับความนิยมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการระบาด แต่มาจากการอาศัยเวลาวางรากฐานพร้อมกับข้อถกเถียงในวงการภาพยนตร์มายาวนานไม่แพ้กัน
สองสตรีมมิ่งเจ้ายักษ์ที่ขับเคี่ยวแย่งชิง Godzilla vs Kong การเติบโตของธุรกิจสตรีมมิ่งและต้นกำเนิดของวงการ Netflix
          ชื่อแรกที่ทุกคนคิดเมื่อพูดถึงบริการสตรีมมิ่งรับชมภาพยนตร์ย่อมต้องนึกถึง Netflix บริษัทที่เติบโตมาจากอุตสาหกรรมเช่าแผ่นดีวีดีทางไปรษณีย์ พัฒนาแพลตฟอร์มและเว็บไซต์ตัวเองขึ้นมา จนสามารถสร้างรากฐานธุรกิจใหญ่สะเทือนวงการภาพยนตร์ทั่วโลกในปัจจุบัน
 

          ความโดดเด่นของเน็ตฟลิกในยุคแรกต่างจากบริษัทเช่าดีวีดีในสมัยนั้นคือ ระบบสมาชิกรายเดือนที่ทำให้สมาชิกสามารถรับชมภาพยนตร์โดยจ่ายแค่ค่าสมาชิกรายเดือน แต่ไม่จำกัดจำนวนการยืม ไม่มีค่าปรับ และไม่มีกำหนดส่ง ซึ่งส่วนนี้ได้รับการสืบต่อมาเป็นระบบสมาชิกภายในสตรีมมิ่งจนถึงปัจจุบัน

 

          อีกส่วนที่ทำให้เน็ตฟลิกสามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้กว้างขวาง มาจากพัฒนาการของระบบอินเตอร์เน็ท แต่ที่ต้องชื่นชมเช่นกันคือทัศนวิสัยของผู้บริหารที่ปรับตัวรวดเร็ว เริ่มจากการเข้าสู่ตลาดดีวีดีแทนม้วนวีดีโอ ขยายบริการให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายจากทุกช่องทาง ไม่ว่าจะผ่านเครื่องเกม Xbox, โทรศัพท์มือถือ, คอมพิวเตอร์ และสมาร์ททีวี

          แต่ทั้งหมดยังเทียบไม่ได้กับการตัดสินใจเริ่มสร้าง Original Content ที่สามารถรับชมได้เฉพาะช่องทางของตัวเอง เปลี่ยนผ่านจากเว็บไซต์รับชมภาพยนตร์เข้าถึงง่าย สะดวก มีคุณภาพสูง ให้กลายเป็นตลาดการผลิตภาพยนตร์และซีรีย์คุณภาพมากมาย ดึงดูดความสนใจจากฐานลูกค้าไม่จำกัดแค่ในอเมริกาอย่างเดียวแต่ขยายขอบเขตไปสู่ทั่วทุกมุมโลก

สองซีรีย์ชูโรงของเน็ตฟลิกในช่วงปีแรก ดึงดูดผู้คนด้วย Original Content กับการเติบโตแบบก้าวกระโดด
          ซีรีย์เรื่องแรกที่ถูกนำมาถ่ายทอดให้รับชมคือ House of card ซีรีย์การเมืองเข้มข้นของนักการเมืองเจนสังเวียน โดดเด่นด้านความยอดเยี่ยมและการจิกกัดสังคมได้อย่างเจ็บแสบ รวมถึงเนื้อหาสีเทาหม่น ผลักดันให้ซีรีย์เรื่องนี้ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง จนแม้แต่ประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า พูดถึงในทวิตเตอร์ของเขาเลยทีเดียว

 

          ตามมาด้วยการเซ็นสัญญาจับมือกับทาง Marvel ที่ในขณะนั้นกำลังโด่งดังเป็นพลุแตก จากความสำเร็จของ The Avenger กับรายได้หลักพันล้าน ทำให้เน็ตฟลิกไม่พลาดเซ็นสัญญานำเรื่องราวของฮีโร่มาถ่ายทอด คือกลุ่ม The Defenders เรียกเสียงฮือฮา พร้อมซีรีย์ฮีโร่ยอดเยี่ยมที่สุดเรื่องหนึ่งอย่าง Daredevil เริ่มต้นออกฉายในปี 2015

 

          หลังจากนั้นเน็ตฟลิกก็ไม่ได้หยุดมือยังคงเข็นซีรีย์ออกมามากมาย ด้วยข้อดีในการลงระบบสตรีมมิ่งทำให้พวกเขาไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดเรตเท่าโทรทัศน์ ประกอบกับการปล่อยออกมารวดเดียวทั้งเรื่องหรือซีซั่น ทำให้สามารถคงโทนการดำเนินเรื่องโดยไม่ถูกกระแสสังคมยุ่งเกี่ยวได้แต่ต้นจนจบ สิ่งนี้ถูกใจคอซีรีย์หลายคนจนได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง

 

          การเติบโตของเน็ตฟลิกทวีจำนวนมากขึ้นภายหลังซีรีย์ออริจินอลของพวกเขาเริ่มแพร่หลาย โดยปี 2015 พวกเขาได้กำไร 3,900 ล้านบาท ขยายตัวมากขึ้นในปี 2016 จากกำไร 5,900 ล้านบาท ก่อนพุ่งทะยานในปี 2017 ด้วยกำไรกว่า 17,192 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนขึ้นมาเกือบสามเท่า แสดงให้เห็นว่าเน็ตฟลิกจับตลาดอยู่และมาถูกทางขนาดไหน

 

          ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ค่ายหนังทั่วทุกมุมโลกเล็งเห็นและหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจสตรีมมิ่ง ตั้งแต่สามค่ายยักษ์ใหญ่วงการภาพยนตร์ Disney เปิดตัว Disney+ โดยมีตัวชูโรงด้วยแฟรนไชส์ดังอย่าง Marvel กับ Star wars, Warner Bros มาพร้อมกับ HBO MAX รวมถึง Universal ที่กำลังริเริ่ม Peacock ขึ้นมาเป็นช่องทางของตัวเอง

 

          นอกจากสามค่ายนี้แล้ว Apple บริษัทไอทีระดับโลกยังเริ่มผลักดัน Apple TV+ พร้อมปลุกปั้นซีรีย์คุณภาพขึ้นมา เช่นเดียวกับ Amazon เว็บอีคอมเมิร์ซชื่อดังที่ทุ่มเทให้กับ Amazon prime ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ในการทำซีรีย์ The Lord of The Rings กับทุนสร้างกว่า 465 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกระทั่งฝั่งเอเชียก็มี VIU จากเกาหลี และ WETV จากจีนด้วยเช่นกัน

 

          แต่ภายใต้การเติบโตอย่างก้าวกระโดดและความนิยมเหล่านี้เองก็เกิดข้อขัดแย้งขึ้นมากมายภายในวงการ

สารพัดสตรีมมิ่งที่กระโดดเข้ามาขับเคี่ยวกันในวงการ แรงเสียดทานจากบุคคลชั้นครูและข้อขัดแย้งภายใต้การเติบโตของสตรีมมิ่ง
          ภายใต้สถานการณ์โควิด ทำให้หลายค่ายตัดสินใจผลักดันช่องทางสตรีมมิ่งของตัวเอง ด้วยภาพยนตร์ใหม่หลายต่อหลายเรื่อง เริ่มจากดิสนีย์ด้วยการนำ Mulan ลงแพลตฟอร์ม Disney+ พร้อมฉายในโรงภาพยนตร์ ด้วยการเปิดให้รับชมโดยจ่ายเงินเพิ่ม 30 เหรียญ รวมถึงทางวอร์เนอร์ที่นำ Wonder Woman 1984 มาฉายลง HBO MAX ให้สมาชิกรับชมฟรี สร้างความไม่พอใจแก่ทางโรงภาพยนตร์เพราะพวกเขาต้องสูญเสียรายได้ที่พึงมี

 

          แต่กระแสการต่อต้าสตรีมมิ่งเองก็เริ่มมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว ตั้งแต่ในปี 2019 กับผู้กำกับระดับตำนาน Steven Spielberg แสดงไม่เห็นด้วยกับการให้ภาพยนตร์จากเน็ตฟลิกเข้าชิง Oscar แต่ควรไปชิงรางวัล Emmy สำหรับโทรทัศน์มากกว่า เพราะเขารู้สึกว่างานถ่ายทำของเน็ตฟลิกถูกสร้างขึ้นมาบนเล็กเป็นหลัก แม้ภายหลังแนวคิดจะเปลี่ยนไปทำให้สตีลเบิร์กหันมาเซ็นสัญญาร่วมงานกับเน็ตฟลิกในช่วงปี 2021 ก็ตาม

 

          นั่นไม่ได้ทำให้ข้อขัดแย้งจากทางฝั่งคนวงการภาพยนตร์ลดลง การนำภาพยนตร์เข้าฉายโรงพร้อมลงสตรีมมิ่งหรือคล้อยหลังไปไม่กี่วัน เป็นสิ่งที่โรงภาพยนตร์พากันโอดครวญแสดงความคิดไม่เห็นด้วย เพราะนั่นทำให้รายได้ของภาพยนตร์หลายเรื่องลดลง อย่างกรณีของ The Irishman ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่ได้เข้าชิงออสการ์นับสิบรางวัล กลับไม่สามารถทำเงินได้มากนัก เพราะมีการลงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเน็ตฟลิกหลังเข้าฉายไม่ถึงเดือน

คริสโตเฟอร์ โนแลน อดีตผู้กำกับมือฉมังของวอร์เนอร์ที่หันหลังให้กับค่ายหลังประกาศนโยบายใหม่           ประเด็นนี้เองก็เกิดขึ้นกับบริษัท Warner Bros ในช่วงปลายปี 2020 สถานการณ์ระบาดของโควิดยังไม่น่าวางใจ วัคซีนถูกผลิตออกมาไม่นานและยอดการฉีดยังมีจำนวนน้อย ทำให้ทางบริษัทตัดสินใจดำเนินนโยบายใหม่ โดยการนำภาพยนตร์ที่มีกำหนดฉายในปี 2021 ทั้งหมดลงสตรีมมิ่ง HBO MAX ควบคู่ไปกับการฉายในโรงภาพยนตร์ด้วย

 

          การประกาศในครั้งนั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่โตนอกจากบรรดาโรงภาพยนตร์ออกมาแสดงความไม่พอใจ ทางค่าย Legendary ที่ผลิตภาพยนตร์ Godzilla vs Kong และ Dune รับทราบเรื่องที่ทางวอร์เนอร์จะนำภาพยนตร์ลงสตรีมมิ่งก่อนหน้าสื่อไม่กี่ชั่วโมง โดยไม่มีการตกลงหรือพูดคุยกันมาก่อนทำให้เกือบเกิดการฟ้องร้องคดีความ

 

          เช่นเดียวกับบรรดาผู้กำกับชื่อดังมากมายที่ร่วมงานกับบริษัทออกมาแสดงความไม่พอใจกันล้นหลาม ตั้งแต่ Jame Gunn ผู้กำกับ The Suicide Squad, Denis Villeneuve ผู้กำกับภาพยนตร์ไซไฟ Dune, Lana Wachowski เจ้าของผลงานชื่อก้องโลกกลับมารับหน้าที่ใน The Matrix4 หรือแม้แต่ Christopher Nolan ผู้กำกับคู่บุญทำผลงานโด่งดังกับทางค่ายมายาวนาน ออกมาต่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้แบบไม่ไว้หน้า ก่อนโบกมือลาไปหาค่าย Universal Pictures แทน

ประเด็นฟ้องร้องของ สการ์เล็ต โจฮันสัน ที่ดุเดือดไม่แพ้เนื้อหาในภาพยนตร์           หรืออย่างในกรณีล่าสุดกับประเด็นร้อนของทาง Disney การฟ้องร้องของ Scarlett Johansson นักแสดงหญิงชื่อดังจากประเด็นภาพยนตร์ Black Widow หลังจากดิสนี่ย์นำภาพยนตร์ฉายลงสตรีมมิ่งของบริษัท ทั้งที่ตัวนักแสดงยอมลดค่าเหนื่อยโดยนำรายได้ไปผูกกับกำไรจากการขายตั๋วในโรงภาพยนตร์ แต่การฉายลงสตรีมมิ่งคือสิ่งที่ไม่มีการตกลงกับนักแสดงไว้ล่วงหน้า นั่นทำให้รายได้ของเธอลดลงนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นคดีความในที่สุด

 

          ข้อขัดแย้งดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงเรื่องระหว่างนักแสดงกับค่ายหนังอีกต่อไป เมื่อทางดิสนีย์ออกมาต่อว่าการกระทำของเธอคือเรื่องน่าเศร้า ไร้ประโยชน์ ไม่ใส่ใจผลกระทบจากโรคระบาด นำไปสู่การโต้เถียงจากทนายคู่กรณีว่า แท้จริงสิ่งที่ดิสนีย์ต้องการมีเพียงการเพิ่มยอดสมัครสมาชิกสตรีมมิ่งและหุ้นของพวกเขา เพื่อกอบโกยรายได้โดยไม่ต้องมาแบ่งปันกับโรงภาพยนตร์เท่านั้นเอง

 

          น่าดูชมว่าข้อขัดแย้งดังกล่าวจะจบลงเช่นไร แม้ทางค่ายหนังอยากพูดคุยและจบเรื่องนี้เป็นการลับ แต่ทางนักแสดงกลับต้องการให้มีการไต่สวนดำเนินคดีในคราวนี้อย่างโปร่งใส เปิดเผยเหตุการณ์ทั้งหมดต่อหน้าสาธารณะชนมากกว่า

Shang-Chi กับความหวังครั้งใหม่ของโรงภาพยนตร์           แน่นอนว่าข้อขัดแย้งเหล่านี้จะยังดำเนินต่อไปด้วยธุรกิจสตรีมมิ่งยังเป็นของใหม่ในวงการ โลกที่เปลี่ยนไปภายหลังการระบาดของโควิดเองทำให้ยากจะคาดเดา ว่าจากนี้วงการภาพยนตร์จะขับเคลื่อนไปในทิศทางไหน สตรีมมิ่งคือแนวทางใหม่เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ชม หรือมาซ้ำเติมการตอกฝาโลงธุรกิจโรงภาพยนตร์เองก็ไม่อาจทราบ

 

          แต่ใช่ว่าทุกความขัดแย้งต้องแตกหักกันเสมอไป อย่างกรณี Godzilla vs Kong ที่สุดท้ายสองบริษัทก็สามารถตกลงทำความเข้าใจ ยอมให้ปล่อยภาพยนตร์ฉายในโรงพร้อมลง HBO MAX ได้ จบรายได้ในโรงภาพยนตร์กว่า 100 ล้านเหรียญ ทั้งที่สถานการณ์ระบาดในสหรัฐฯขณะนั้นยังไม่ทุเลานักถือเป็นสัญญาณดี

 

          รวมถึงกระแสของ Shang-Chi ภาพยนตร์ฮีโร่เรื่องใหม่ของมาร์เวล ที่ปล่อยฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์ก่อน ก็ทำรายได้เปิดตัวในประเทศอาทิตย์แรกกว่า 100 ล้านเหรียญ และยังกวาดโกยรายได้ไปอย่างมั่นคงทำให้รายได้รวมทั่วโลกพุ่งไปถึง 300 ล้านเหรียญก็เป็นข้อพิสูจน์ได้เช่นกัน

 

          ว่าต่อให้มีบริการสะดวกสบายในการรับชมขึ้นเพียงไร คนเรายังโหยหาวิถีชีวิตดั้งเดิมก่อนเกิดโรคระบาดอยู่ดี

 

เกรียงไกร เรืองทรัพย์เดช

--------------------
ที่มา:

logoline