ก่อนการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก "ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ" เวอร์ชันใหม่ที่มี 32 ทีมจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 14 มิถุนายน – 13 กรกฎาคม ที่สหรัฐอเมริกา สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักมาตลอดถึงการปรับรูปแบบในครั้งนี้
และเหลือเวลาอีกแค่ไม่ถึงสัปดาห์ แต่ทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวยังไม่สามารถปลุกกระแสความนิยมขึ้นมาได้
และนี่คือ 4 ประเด็นที่การแข่งขันครั้งนี้ถูกวิจารณ์หนักจนอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง
การที่ฟีฟ่าตัดสินใจขยายจำนวนทีมจาก 6 หรือ 8 ทีมเป็น 32 ทีมในฟุตบอลสโมสรโลกครั้งนี้ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะสหภาพนักฟุตบอลนานาชาติ (FIFPRO) และ World Leagues Forum (WLF) ที่มองว่าเป็นการเพิ่มภาระโดยไม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพกายใจของนักเตะ
จากรายงานล่าสุดของ FIFPRO และ Football Benchmark เผยว่านักเตะอย่าง เฟเดริโก้ วัลเวร์เด้ จากเรอัล มาดริด ลงเล่นต่อเนื่องถึง 43 นัดโดยมีเวลาฟื้นฟูร่างกายน้อยกว่า 5 วัน และคาดว่าอาจต้องเล่นถึง 78 นัดภายในฤดูกาลเดียว คิดเป็นเวลากว่า 7,000 นาที
นอกจากนี้ WLF ยังตำหนิว่าฟีฟ่าไม่ให้ความสำคัญกับลีกระดับชาติ และจัดตารางทับช่วงพักเบรกก่อนเปิดฤดูกาลใหม่ในเดือนสิงหาคม
แม้การเพิ่มทีมจะเปิดโอกาสให้สโมสรจากเอเชียหรือแอฟริกาได้ร่วมเวที แต่ความแข็งแกร่งที่แตกต่างกันมากยังคงเป็นปัญหา ตัวอย่างเช่น กลุ่ม G ที่มีทั้งแมนฯ ซิตี้, ยูเวนตุส, วีดัด คาซาบลังกา และ อัล ไอน์ ซึ่งเราสามารถรู้ทีมที่จะผ่านเข้ารอบได้ตั้งแต่ยังไม่ลงสนามด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาทีมจากยุโรปและอเมริกาใต้ครองแชมป์ไปถึง 20 ครั้ง ขณะที่ทีมจากทวีปอื่น เพียงแค่ผ่านเข้าชิงยังยาก
แม้แฟนบอลจะได้ชม ลิโอเนล เมสซี และคีเลียน เอ็มบัปเป้ จากรายการนี้ แต่ซูเปอร์สตาร์หลายคนจะพลาดลงโชว์ฝีเท้า เช่น โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ที่คว้าทั้งดาวซัลโวและนักเตะแห่งปีในพรีเมียร์ลีก แต่ไม่ได้ติดทีมเพราะลิเวอร์พูลไม่ได้สิทธิ์จากโควตาสโมสรอังกฤษ
ลามีน ยามาล เจ้าหนูมหัศจรรย์ของบาร์เซโลนา ก็พลาดรายการนี้ แม้ทีมคว้าแชมป์ลาลีกา เพราะไม่ติดอันดับคะแนนสะสม 4 ปีตามระบบจัดอันดับของฟีฟ่า เช่นเดียวกับนาโปลีที่พึ่งคว้าแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา ฤดูกาลล่าสุด
ฟีฟ่ายังให้สิทธิ์พิเศษกับสโมสรเจ้าภาพ โดยเลือก อินเตอร์ ไมอามี แม้ทีมตกรอบเพลย์ออฟลีกสหรัฐฯตั้งแต่รอบแรก จนทำให้นักวิจารณ์มองว่าเป็นความพยายามของฟีฟ่าที่อยากให้เมสซีลงเล่นเพื่อดึงความสนใจเท่านั้น
ฟุตบอลสโมสรโลกครั้งนี้ยังถือเป็นการทดลองระบบก่อนฟุตบอลโลก 2026 ที่สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับแคนาดาและเม็กซิโก โดยจะใช้สนามเดียวกันหลายแห่ง เช่น เมทไลฟ์ สเตเดียม ในนิวเจอร์ซีย์, เมอร์เซเดส-เบนซ์สเตเดียม ที่แอตแลนตา, ลินคอล์น ไฟแนนเชียล ฟิลด์ ที่ฟิลาเดลเฟีย และ ฮาด ร็อก สเตเดียม ที่ไมอามี
อย่างไรก็ตาม การขายตั๋วในตอนนี้ยังถือว่าล่าช้า โดยมีตั๋วสำหรับแฟนสโมสร, ตั๋วทั่วไป และบัตร VIP ที่ยังว่างอยู่อีกเพียบบนเว็บไซต์ของฟีฟ่า ทั้งที่ใกล้ถึงวันเปิดสนามเต็มที
จึงเป็นการบ้านของสหรัฐฯ ที่จะต้องพยายามหาวิธีปลุกกระแส "ซ็อคเกอร์" ซึ่งไม่ใช่กีฬายอดนิยมของพวกเขาให้ได้ในช่วงเวลาที่เหลือ ก่อนศึกฟุตบอลโลก 2026 จะเริ่มขึ้น
เมื่อพิจารณาทั้ง 4 ประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก จะเห็นได้ว่าแม้ "ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ" เวอร์ชันใหม่นี้จะมีเจตนาในการขยายเวทีการแข่งขันให้ครอบคลุมทั่วโลก แต่สิ่งที่สะท้อนกลับมากลับเต็มไปด้วยข้อกังวลทั้งเรื่องสุขภาพนักเตะ ความสมดุลของเกม คุณภาพของทีม และการตลาดแบบเร่งรีบ
หากฟีฟ่าไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม ทัวร์นาเมนต์ที่ควรจะเป็นการเฉลิมฉลองของฟุตบอลสโมสรโลก อาจกลายเป็นภาพสะท้อนขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับรายได้มากกว่าจิตวิญญาณของเกมลูกหนัง