svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดภาพ "เสือไฟ" สัตว์ป่าหายาก โผล่อวดโฉมผ่านกล้องดักถ่าย

30 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยภาพ "เสือไฟ" โผล่โชว์ตัวผ่านกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า พร้อมรู้จักสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้ กับภัยที่กำลังคุกคามพวกเขา

เรื่องเล่าสัตว์โลก โดย Nation STORY ขอพาไปรู้จักกับ "เสือไฟ" สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ โดยวันนี้ (30 เม.ย. 67) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ผ่านเพจ โดยอุทยานฯ แห่งหนึ่ง เปิดภาพเสือไฟ กำลังเดินผ่านกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า (camera trap) ของเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนเชิงคุณภาพติดตั้งไว้ในพื้นที่

รู้จัก "เสือไฟ"

"เสือไฟ"
 ชื่อภาษาอังกฤษ : Asiatic Golden Cat (Temminck’s Cat) ชื่อวิทยาศาสตร์ : Catopuma temminckii จัดเป็นแมวป่าขนาดกลาง เป็นสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์ มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ (IUCN) จัดอยู่ในหมวด NT หรือ ใกล้ถูกคุกคาม

เสือไฟ ภาพจาก FB กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อ้างอิงข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ โลกสีเขียว ระบุไว้ว่า เสือไฟเป็นเสือขนาดกลาง รูปร่างบึกบึน ขาค่อนข้างยาว ลำตัวสีเรียบ มีลวดลายน้อย มีสีพื้นน้ำตาลแดงจนถึงแดงอย่างเก้ง บางตัวอาจมีสีดำ หรือน้ำตาล หรือเทา มีเสือไฟดำแบบเมลานิบ้างแต่พบได้น้อย โดยมีขนสีน้ำตาลแกมแดง มีเส้นสีดำ 2-3 เส้นยาวลงมาที่หน้าผาก ปลายหางด้านล่างเป็นสีขาว นอกจากนี้ เสือไฟยังเป็นเสือที่ชาวล้านนาในอดีตเชื่อว่าเป็น "พญาเสือ" เนื่องจากพฤติกรรมดุร้ายมากกว่าเสือขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเสือไฟจะมีลวดลายน้อย แต่รูปแบบลายของเขาก็ดูคล้ายกับลายของ "แมวดาว" โดยมีลักษณะที่เด่นชัดคือ แต้มสีขาวกับขีดดำบริเวณแก้ม และเส้นจากหัวตาไปถึงกระหม่อม ด้านล่างลำตัวและขาด้านในมีสีขาว ปลายหางด้านล่างสีขาว หูสั้นกลม หลังหูสีดำและมีจุดขาวอยู่กลางหลังหู ตามักมีสีเขียวอมเทาหรือสีเหลืองอำพัน ปลายหางด้านใต้จะมีริ้วสีขาว

ขณะที่ลำตัวมีความยาวราว 75-105 เซนติเมตร น้ำหนัก 12-15 กิโลกรัม ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียอย่างเห็นได้ชัด

เสือไฟ ภาพจาก FB กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ถิ่นอาศัย

"เสือไฟ" ชอบอาศัยอยู่ในป่าฝนเขตศูนย์สูตร หรือป่ากึ่งศูนย์สูตร บางครั้งก็อาจพบบริเวณป่าเปิด ป่าละเมาะ และป่าหญ้า รวมถึงป่าที่เป็นดงหิน ในบางพื้นที่ของประเทศจีนเรียกเสือชนิดนี้ว่า "เสือหิน" ที่แถบเทือกเขาหิมาลัยในอินเดียและสิกขิมเคยพบที่ระดับความสูงถึง 3,050 เมตร อาณาเขตตั้งแต่เนปาล อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ไทย มาเลเซีย และสุมาตรา

ชอบอยู่บนพื้นดิน แม้ปีนต้นไม้เก่ง

เสือไฟ เป็นสัตว์ป่าที่หากินในตอนกลางคืน เขาล่าเหยื่อหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์จำพวกหนู นก กระต่ายป่า สัตว์เลื้อยคลาน แมลง รวมถึง อาจล่าสัตว์ใหญ่กว่าตัวเองได้ด้วย เช่น เก้ง กวางป่าและหมูป่า ฯลฯ

ส่วนพฤติกรรม เสือไฟ อาศัยอยู่บนพื้นดิน ไม่ขึ้นต้นไม้ แม้เขาเป็นสัตว์ที่ปีนต้นไม้เก่ง แต่ก็ชอบที่จะอยู่บนพื้นดินมากกว่า (สามารถขึ้นต้นไม้ได้ดีเมื่อจำเป็น) ตอนเดินเขาจะยกหางขึ้นสูง สามารถผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปี ระยะตั้งท้องนาน 95 วัน ออกลูกครั้งละ 1-2 ตัว 

ภัยหลายด้าน

เสือไฟ ก็เหมือนกับสัตว์ป่าอีกหลายชนิด ที่ต้องประสบปัญหาถูกคุกคามจากภัยหลายด้าน โดยภัยร้ายแรงที่สุดที่เสือไฟเผชิญ คือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย รองลงมาคือ การล่าเพื่อเอาหนังและกระดูก นอกจากนี้ บางครั้งเสือไฟก็ถูกชาวบ้านสังหารเมื่อไปจับสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม เช่น แกะ แพะ รวมถึงลูกควาย กิน 

ด้วยเหตุนี้เอง ในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ "ไซเตส" จึงจัดเสือไฟไว้ในบัญชีหมายเลข 1 

โดยบัญชี 1 ไซเตส หมายถึง เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆ ด้วย
เสือไฟ ภาพจาก FB กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช



ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : 
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
โลกสีเขียว
สวนสัตว์เขาเขียว จ.ชลบุรี
กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา 
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว Phu Khieo Wildlife Sanctuary
อุทยานแห่งชาติเขาสก
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี

logoline