svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำความรู้จัก "โรคแอนแทรกซ์" คืออะไร ใครเสี่ยง และวิธีป้องกัน

28 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ "Nation STORY" ชวนมาทำความรู้จักกับ "โรคแอนแทรกซ์" หรือโรคกาลี อาการเป็นอย่างไร ใครกันที่เสี่ยง แล้วมีวิธีไหนบ้างช่วยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ

"โรคแอนแทรกซ์" โรคติดเชื้อร้ายแรง ที่ทางรัฐบาลไทยประชาสัมพันธ์การเฝ้าระวังโรค หลังจากประเทศเพื่อนบ้าน พบผู้ป่วยโรคนี้ 54 ราย และพบสัตว์ป่วยตาย ช่วงเดือนมีนาคม 2567 
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่เพิ่มการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์ โดยเฉพาะด่านช่องทางเข้าออกที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว หากพบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคแอนแทรกช์ จะมีการสอบสวนโรคและรายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทันที

สำหรับประชาชน หากพบโค-กระบือป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่หรือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญ ห้ามสัมผัสเคลื่อนย้ายซากหรือชำแหละเพื่อการบริโภคโดยเด็ดขาด และหากมีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วยแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ ซึ่งโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ 

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ตั้งแต่ปี 2544 โดยแอนแทรกซ์เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันจากเชื้อ Bacillus anthracis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดหลังสัมผัสเชื้อขณะชำแหละสัตว์ป่วย หรือสัมผัสซากสัตว์ที่ป่วยตาย โดยเฉพาะวัว ควาย หรือสัตว์กินหญ้า มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะแพร่โรคจากคนสู่คน

"นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการอย่างเคร่งครัด ผ่านนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามสถานการณ์ เพื่อป้องกันการสาธารณสุขในประเทศไทยให้เข้มงวด เฝ้าระวังสถานการณ์บริเวณชายแดน โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันดูแลเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย" นายชัย กล่าว

ทำความรู้จัก "โรคแอนแทรกซ์" คืออะไร ใครเสี่ยง และวิธีป้องกัน
รู้จัก "โรคแอนแทรกซ์" ให้มากขึ้น

"โรคแอนแทรกซ์"
เป็นโรคติดต่ออันตรายที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ สุกร สุนัข แมว แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499

อาการที่บ่งบอก

แอนแทรกซ์ เป็นโรคที่ทีมาแต่โบราณกาล ชาวบ้านเรียกว่า "โรคกาลี" สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ แบซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) พบมากในช่วงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล 

สำหรับสัตว์ที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการซึม หายใจเร็ว ลึก หัวใจเต้นเร็ว ไข้สูง (ประมาณ 107 องศาฟาเรนไฮท์) เยื่อชุ่มต่างๆ มีเลือดคั่งหรือมีจุดเลือดออก กล้ามเนื้อสั่นบวมน้ำตามลำตัว น้ำนมลดอย่างรวดเร็ว และอาจมีเลือดปนหรือมีสีเหลืองเข้ม ท้องอืด หากสัตว์เป็นโรคนี้แบบเฉียบพลันจะตายอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง ถ้าแบบรุนแรงจะตายภายใน 1-2 วัน

เมื่อสัตว์ตายจะมีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวาร เช่น จมูก ปาก ทวารหนักหรือแม้แต่ขุมขน ซากสัตว์ที่ตายจะไม่แข็งตัว ขึ้นอืดเร็ว และม้ามขยายใหญ่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของโรคนี้
ทำความรู้จัก "โรคแอนแทรกซ์" คืออะไร ใครเสี่ยง และวิธีป้องกัน
ส่วนโรคแอนแทรกซ์ที่เกิดในคน
มีรายงานว่าผู้ป่วยโรคนี้ทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 95 เป็นชนิดแผลที่ผิวหนัง เริ่มด้วยอาการคันบริเวณที่สัมผัสเชื้อ ตามมาด้วยตุ่มแดง แล้วกลายเป็นตุ่มพองมีนํ้าใส ภายใน 2-6 วัน พอเริ่มยุบ ตรงกลางจะเป็นเนื้อตายสีดำคล้ายแผลบุหรี่จี้ มักไม่ปวดแผล หากปวดมักมาจากการบวมนํ้าที่แผลหรือติดเชื้อแทรกซ้อน แผลที่มักพบจะอยู่บริเวณศีรษะ คอ ต้นแขน และมือ

นอกจากผิวหนัง โรคแอนแทรกซ์ ยังเกิดขึ้นได้ที่บริเวณอื่นด้วย เช่น

ทางเดินหายใจ

  • โดยเริ่มด้วยอาการคล้ายการติดเชื้อของระบบหายใจส่วนบนที่ไม่รุนแรง เช่น ไข้ ปวดเมื่อยไอเล็กน้อย หรือเจ็บหน้าอก ซึ่งไม่มีลักษณะจำเพาะ ต่อมา จะมีอาการหายใจขัดอย่างเฉียบพลัน และหายใจลำบากอย่างรุนแรง เกิดภาวะออกซิเจนลดตํ่าลง และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด


ทางเดินอาหาร

  • สาเหตุเกิดจากการกินเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ โดยเฉพาะอาหารที่กินดิบๆ หรือไม่สุกเพียงพอ เช่น ลาบ ลู่ เชื้อจะเจริญเติบโตและทำให้เกิดแผลเนื้อตายในกระเพาะอาหาร ลำไส้ อาการของผู้ป่วย จะมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง บางครั้งมีมูกเลือดปนและมีอาการขาดน้ำอย่างรวดเร็ว บางรายอาจช็อก และถึงแก่ชีวิตได้

ในปากและคอหอย

  • ติดได้จากการกินเช่นเดียวกับแอนแทรกซ์ที่ทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บคอ คอบวม แข็งตึง และกลืนอาหารลำบาก เพราะมีแผลเนื้อตายที่คอและคอหอย

สาเหตุของโรค และช่วงที่พบบ่อย

อุบัติการณ์ของโรคที่เกิดขึ้นเกือบทุกครั้งมักจะเกิดขึ้นในสัตว์ก่อน แล้วคนจึงไปติดเชื้อเข้ามา โดย "โรคแอนแทรกซ์ผิวหนัง" จะเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล ส่วน "แอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ" เกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นมีโรค

สำหรับ "แอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหาร" มีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ 

โรคแอนแทรกซ์ พบมากในช่วงเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล สัตว์ที่เป็นโรคนี้ส่วนมากเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนอยู่เข้าไป นอกจากนี้ สัตว์จะเป็นโรคนี้โดยเชื้อเข้าทางบาดแผลได้ด้วย 

ใครเสี่ยงกับโรคนี้?

ปัจจัยสำคัญของการติดโรคแอนแทรกซ์ คือการสัมผัสเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงป็นโรคนี้ ได้แก่

  • เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ 
  • คนชำแหละเนื้อ
  • สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย
  • เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการ

ทำความรู้จัก "โรคแอนแทรกซ์" คืออะไร ใครเสี่ยง และวิธีป้องกัน

การควบคุมและป้องกัน

  • แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง
  • ฝังหรือเผาซากสัตว์ตลอดจนดินบริเวณที่สัตว์ตาย การฝังควรขุดหลุมลึกประมาณ 2 เมตร โรยปูนขาวบนตัวสัตว์ก่อนกลบดิน
  • ใช้นำยา ฟอร์มาลิน หรือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ 5-10% ราดฆ่าเชื้อ
  • กักดูอาการสัตว์ที่รวมฝูงกับสัตว์ป่วยหรือตาย
  • ฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ โดยเฉพาะโค กระบือ ทุกปี 

ทำความรู้จัก "โรคแอนแทรกซ์" คืออะไร ใครเสี่ยง และวิธีป้องกัน
ข้อแนะนำและควรระวังเพิ่มเติม

  • หลีกเลี่ยงสัมผัสผิวหนังของสัตว์ต่าง ๆ
  • ไม่ควรรับประทานเนื้อสัตว์แบบดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
  • หากพบสัตว์ป่วยตาย สงสัยเป็นโรคแอนแทรกซ์ ให้รีบแจ้งหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นท้องที่ทันที
  • ไม่ควรเปิดชำแหละซากสัตว์ที่ตาย เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ
  • หากมีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วยแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์

ทำความรู้จัก "โรคแอนแทรกซ์" คืออะไร ใครเสี่ยง และวิธีป้องกัน
อย่างที่กล่าวไปตอนต้น ประเทศไทยไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ตั้งแต่ปี 2544 แต่ที่ผ่านมาก็มีข่าวของโรคนี้ เช่นในประเทศเพื่อนบ้าน การตระหนักรู้เพื่อป้องกันโรค จึงสำคัญ เพื่อไม่ให้โรคร้ายแรงนี้เข้ามาแพร่ระบาดในบ้านเรา รวมถึง เป็นการช่วยกัน เพื่อสุขอนามัยที่ดีด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก : 
https://www.komchadluek.net/hot-social/Social/570369
https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=1
https://niah.dld.go.th/webnew/knowledge/knowledge-major-diseases-in-animals/animal-diseasesto-humans/anthrax
https://www.thaipbs.or.th/now/content/928
https://www.pidst.or.th/A249.html
https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/258

logoline