svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

NASA ส่งเครื่องบิน DC-8 บินโฉบฝุ่นหนาทึบ จ.เชียงใหม่ เก็บข้อมูลวิจัย ปัญหาฝุ่น PM 2.5

18 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

NASA ส่งเครื่องบิน McDonnell Douglas DC-8 ซึ่งมีอายุเก่าแก่ถึง 55 ปี บินโฉบเหนือฟ้าเชียงใหม่ เก็บข้อมูลวิจัยบรรยากาศ และศึกษาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และถือเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนปลดประจำการถาวร

18 มีนาคม 2567 NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า เมื่อเวลา 10.30 น. เครื่องบิน McDonnell Douglas DC-8 หรือ DC-8 ของ NASA ได้ลดระดับต่ำลงบินโฉบเหนือฟ้าเชียงใหม่ ในรูปแบบ missed approach ภายใต้ภารกิจโครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) เพื่อเก็บข้อมูลสำหรับการวิจัยบรรยากาศ และศึกษาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5

หนึ่งในภารกิจสำคัญของโครงการ ASIA-AQ นี้ คือการศึกษาการกระจายตัวของมลพิษตามความสูงต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ ที่เรียกว่า vertical profile ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์ตัวอย่างอากาศระหว่างที่อยู่ระดับความสูงต่าง ๆ โดยตรง (in-situ measurements) นำมาสู่การใช้เครื่องบินที่เต็มไปด้วยเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่สามารถดูดอากาศภายนอกเครื่องบินเข้าไปวิเคราะห์หาองค์ประกอบ ขนาดอนุภาค ความหนาแน่น ฯลฯ ได้ และเครื่องบิน DC-8 ของ NASA (N817NA) เป็นหนึ่งในไม่กี่เครื่องที่สามารถวิเคราะห์ชั้นบรรยากาศเชิงลึกในลักษณะนี้ได้

ความท้าทายอย่างหนึ่งของการเก็บตัวอย่าง vertical profile คือจะต้องบินลดระดับ ตั้งแต่ 11,000 ฟุต ไปจนถึงความสูงเพียง 50 ฟุตจากพื้น ซึ่งการลดระดับลงต่ำใกล้พื้นในระดับนี้นั้น จะสามารถทำได้ในบริเวณเหนือท่าอากาศยานเพียงเท่านั้น เครื่องบิน DC-8 จึงใช้การบินในรูปแบบของ missed approach หรือการจำลองการลงจอดลงบนรันเวย์ แต่ลอยอยู่เหนือจากพื้นเพียง 50 ฟุต (ประมาณ 15 เมตร) ก่อนที่จะทำการไต่ระดับขึ้นไปยัง 11,000 ฟุต (ประมาณ 3.3 กม.) อีกครั้ง เพื่อวัดการกระจายตัวของมลพิษในอากาศ

NASA ส่งเครื่องบิน DC-8 บินโฉบฝุ่นหนาทึบ จ.เชียงใหม่ เก็บข้อมูลวิจัย ปัญหาฝุ่น PM 2.5

การโฉบบินเหนือท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ในภาพนี้ เป็นการ missed approach เหนือจังหวัดเชียงใหม่ในเที่ยวบินที่สองของภารกิจ DC-8 ในประเทศไทย จากเที่ยวบินที่วางแผนไว้ทั้งสิ้น 5 เที่ยวบินระหว่างวันที่ 16-26 มีนาคม 2567

แต่ละเที่ยวบินของเครื่องบิน DC-8 นั้น จะออกบินจากสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง และทำการ missed approach เหนือสนามบินดอนเมือง สุโขทัย เชียงใหม่ แพร่ พิษณุโลก และกลับมา missed approach ยังสนามบินดอนเมืองและอู่ตะเภา ก่อนจะวนกลับไปยังภาคเหนือซ้ำอีกรอบตามลำดับ รวมระยะเวลาบินทั้งสิ้นประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อเก็บข้อมูลเปรียบเทียบสภาพอากาศทั้งในช่วงเช้าและบ่าย เหนือพื้นที่ส่วนต่างๆ ของประเทศไทย

ผู้สนใจสามารถติดตามเส้นทางการบินของ DC-8 ได้จากเว็บไซต์ เช่น flightradar โดยใช้รหัส N817NA และสามารถชมการ missed approach ของเครื่องบินนี้ได้ตามสนามบินที่กล่าวถึงข้างต้น

DC-8 หรือ McDonnell Douglas DC-8 มีอายุเก่าแก่ถึง 55 ปี ถูกดัดแปลงให้ติดตั้งเครื่องมือตรวจสภาพอากาศด้วยกันทั้งสิ้นถึง 23 เครื่องมือ สามารถวิเคราะห์ปริมาณขององค์ประกอบในอากาศได้ไม่ต่ำกว่า 28 โมเลกุล พร้อมทั้งเซ็นเซอร์ที่สามารถวิเคราะห์ขนาด ความหนาแน่น ค่าการสะท้อนแสงของละอองลอยในอากาศ ได้ทุกระดับความสูง จึงเปรียบได้กับห้องทดลองสภาพอากาศบินได้เคลื่อนที่ ที่บินในภารกิจสำรวจสภาพอากาศมาแล้วทั่วโลก โดยภารกิจ ASIA-AQ ในไทยนี้เป็นหนึ่งในภารกิจสุดท้ายก่อนที่จะปลดประจำการไปอย่างถาวร

สำหรับรายละเอียดของภารกิจ ASIA-AQ และความร่วมมือระหว่าง NASA และ NARIT ในการวิเคราะห์ วิจัย ทำความเข้าใจเพื่อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในระยะยาวนั้น ติดตามรายละเอียดต่อไปได้ทางเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

NASA จับมือ อว. โดย GISTDA ศึกษาคุณภาพอากาศและการจัดการมลพิษทางอากาศในไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีองค์กรนาซา (NASA) ขึ้นบินสำรวจอากาศบนน่านฟ้าประเทศไทย เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับ พันธมิตรในเอเชีย 5 ราย ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศไทย โดยมี GISTDA ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งทีมร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ไทยเพื่อทำงานร่วมกับ NASA โดยทีมวิชาการประกอบด้วย กรมควบคุมมลพิษ มหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

NASA ส่งเครื่องบิน DC-8 บินโฉบฝุ่นหนาทึบ จ.เชียงใหม่ เก็บข้อมูลวิจัย ปัญหาฝุ่น PM 2.5

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจคุณภาพอากาศในประเทศไทย ช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงปัจจัยที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพอากาศในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการติดตามสถานการณ์การประเมินการปล่อยแก๊สจากแหล่งต่างๆ ปรากฏการณ์ทางเคมี รวมถึงผลกระทบจากด้านการขนส่งประเภทต่างๆ โดยผ่านการสร้างแบบจำลองที่หลากหลายเพื่อใช้สำหรับการออกแบบนโยบายในการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย โดยทำการบินระหว่างวันที่ 16-26 มี.ค. 2567 และหวังว่าจะเผยผลสำรวจและวิเคราะห์ได้ภายใน 1 ปี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ร่วมลงนามความร่วมมือกับ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NASA ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality (ASIA-AQ) เพื่อร่วมกันศึกษาคุณภาพอากาศในประเทศไทย

โดยเมื่อวานนี้ (17 มีนาคม 2567) ทั้งช่วงเช้าและบ่าย นักวิทยาศาสตร์จาก NASA และ นักวิจัย GISTDA ประชุมร่วมกันเพื่อตรวจสอบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้จากการบินสำรวจวันแรก โดยเฉพาะสถานการณ์ของสภาวะอากาศ มลภาวะทางอากาศ รายละเอียดของขนาดฝุ่น รวมถึงสิ่งปกคลุมพื้นดินต่างๆ เพื่อให้การบินสำรวจข้อมูลในครั้งต่อไปเป็นไปอย่างสมบูรณ์ครอบคลุม และครบถ้วนที่สุด

NASA ส่งเครื่องบิน DC-8 บินโฉบฝุ่นหนาทึบ จ.เชียงใหม่ เก็บข้อมูลวิจัย ปัญหาฝุ่น PM 2.5

สำหรับการขึ้นบินวันที่ 2 (18 มีนาคม 2567) จะบินสำรวจและเก็บข้อมูลที่มีลักษณะที่แตกต่างจากการบินในวันแรก ภายใต้สภาวะแวดล้อมด้านอากาศที่ไม่เหมือนกับการบินเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทั้งอุณหภูมิ ปริมาณก๊าซในอากาศ ปริมาณน้ำในอากาศ กระแสลม ทิศทางลม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลที่ได้มีความครอบคลุม และครบถ้วน สำหรับเส้นทางการบินในวันนี้ยังคงเหมือนเดิม

สำหรับเครื่องบินที่ขึ้นปฏิบัติการอีก 1 ลำ คือ เครื่องบิน Gulfstream III จะทำการบินในแนวนอนจากสนามบินอู่ตะเภา ไป-กลับ เป็นระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร

logoline