svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ทำทะเลจีนใต้ระอุรอบใหม่

กลายเป็นคู่พิพาทรายวันในทะเลจีนใต้ไปแล้วระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ ทั้งจากการกระทบกระทั่งกันในพื้นที่พิพาท ไปจนถึงการซ้อมรบร่วมล่าสุดกับสหรัฐฯ และล่าสุดสหรัฐฯ ยังกระตุกหนวดมังกรด้วยการติดตั้งระบบยิงขีปนาวุธพิสัยกลางให้ฟิลิปปินส์อีกด้วย

ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ได้สิ้นสุดการซ้อมรบร่วมครั้งใหญ่ มีทหารเข้าร่วมมากกว่า 17,000 คน สนับสนุนโดยเครื่องบินสอดแนมของกองทัพอากาศของออสเตรเลีย และเกิดขึ้นในขณะที่ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ใกล้ถึงขีดสุด ส่วนไฮไลต์ของการซ้อมรบคือการยิงจรวดที่มีความแม่นยำสูง การยิงปืนใหญ่ การโจมตีทางอากาศ และจมเรือศัตรูจำลองลำหนึ่ง ซึ่งตอกย้ำการกระทบกระทั่งกันระหว่างเรือจีนกับเรือของฟิลิปปินส์ ซึ่งสื่อญี่ปุ่นนิคเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า ฟิลิปปินส์ได้เสริมสร้างการป้องกันประเทศเพื่อรับมือภัยคุกคามในทะเลจีนใต้ ขณะที่จีนเพิ่มมาตรการป้องปรามด้วยปืนใหญ่ฉีดน้ำทรงพลังที่ทำให้เหล็กโค้งงอได้ 

ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ทำทะเลจีนใต้ระอุรอบใหม่

ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ทำทะเลจีนใต้ระอุรอบใหม่

ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ทำทะเลจีนใต้ระอุรอบใหม่

การซ้อมรบที่ใช้ชื่อรหัสว่า "บาลิกาตัน" (Balikatan) ซึ่งเป็นภาษาตากาล็อก แปลว่า "เคียงบ่าเคียงไหล่" ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 เมษายน ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่มีการจำลองเหตุการณ์ "ต่างชาติ" รุกรานหมู่เกาะของฟิลิปปินส์ แต่ที่ทวีความตึงเครียดมากที่สุดคือ การที่สหรัฐฯ ติดตั้งระบบขีปนาวุธพิสัยกลาง หรือ ระบบไทฟอน (Typhon Weapons System) บนเกาะลูซอน ทางเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ ระบบไทฟอนผลิตโดยบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) สามารถใช้ในการยิงขีปนาวุธ "โทมาฮอว์ก" (Tomahawk) กับขีปนาวุสกัดกั้น SM-6 ซึ่งจะกลายเป็นการประจำการครั้งแรกในอินโดนีแปซิฟิก ของอาวุธที่ทรงพลังของกองทัพสหรัฐฯ 

ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ทำทะเลจีนใต้ระอุรอบใหม่

ฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ทำทะเลจีนใต้ระอุรอบใหม่

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังถือเป็นการติดตั้งเครื่องยิงขีปนาวุธจากภาคพื้นดิน ในภูมิภาคนี้เป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งสหรัฐฯ ถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือ INF (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty) ที่ทำร่วมกับสหภาพโซเวียตในปี 2530 โดยมีเนื้อหาห้ามใช้ขีปนาวุธจากภาคพื้นดินทุกรูปแบบ ทั้งอาวุธทั่วไปและอาวุธนิวเคลียร์ ที่สามารถเดินทางได้ระหว่าง 500-5,500 กิโลเมตร