svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สรุปดราม่าข้อสอบ "วิชาสาระร่วมสมัย" มัธยมวัดธาตุทอง สร้างสรรค์-หมิ่นเหม่

13 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปมร้อนการศึกษาไทย กรณีข้อสอบพูดปากเปล่า "วิชาสาระร่วมสมัย" รร.มัธยมวัดธาตุทอง ดราม่าทำสังคมเสียงแตก ความคิดสร้างสรรค์หรือหมิ่นเหม่กระทบความมั่นคง เกิดอะไรขึ้นอย่างไร Nation STORY สรุปมาให้ได้ดูกัน

เป็นอีกดราม่าที่ผู้คนพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงสัปดาห์นี้ กรณีการออกข้อสอบปลายภาค โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ใน "วิชาสาระร่วมสมัย" ที่เป็นการสอบพูดปากเปล่า (Oral Test) ที่เปลี่ยนจากการสอบแบบกาคำตอบทั่วไป เป็นให้นักเรียนจับคีย์เวิร์ดต่าง ๆ ที่กำลังเป็นกระแสในยุคนี้ มาแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดกว้างเสรี

ภายหลังจากที่ โซเชียลมีการแชร์ข้อสอบดังกล่าวออกไป ก็นำไปสู่ความคิดเห็นของผู้คนในสังคมที่แตกออกเป็น 2 ฝั่งทันที

ฝั่งหนึ่งชื่นชมว่า เป็นวิธีการกระตุ้นให้นักเรียนคิดอย่างสร้างสรรค์ มากกว่าการอ่านหนังสือ หรือการท่องจำไปกาในห้องสอบ เหมือนที่เคยชิน อีกทั้งหัวข้อก็น่าสนใจ 

แต่อีกฝั่งก็มองว่า อาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เพราะบางคีย์เวิร์ดดูไม่เหมาะสม หมิ่นเหม่ สร้างความเกลียดชัง และแอบคล้ายนโยบายของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ถึงขนาดมีการเดินทางไปร้องเรียนถึงโรงเรียน และเตรียมดำเนินคดี  

Nation STORY จึงสรุปเรื่องดราม่าที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีความคืบหน้าอย่างไร และมีบทสรุปอย่างไรมาให้ได้ดูกัน....
สรุปดราม่าข้อสอบ \"วิชาสาระร่วมสมัย\" มัธยมวัดธาตุทอง สร้างสรรค์-หมิ่นเหม่
 

เรื่องราวดราม่า ข้อสอบพูดปากเปล่า (Oral Test) "วิชาสาระร่วมสมัย" ในการสอบปลายภาค ของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง เริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2567 เฟซบุ๊ค Kaokorn Suksa-ngiamkul หรือ ครูก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล หรือ "ครูบะหมี่" ครูโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ได้มีการโพสต์ข้อความระบุว่า....

“การศึกษา” คือ อาวุธที่ทรงพลังที่สุด
ที่เราจะนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลก 
- เนลสัน แมนเดลา - 
“ ห้องเรียนต้องสนุกเป็นพื้นที่ถกเถียงทางวิชาการ ”
“ ครู ต้องเป็นผู้สนับสนุนให้นักเรียน กล้าคิด พูด ทำ “ 
” อภิปราย โต้แย้ง ด้วยเหตุผล หลักฐาน และข้อเท็จจริง “
” ช่วยกันทำให้ ‘สังคมศึกษา’ ไม่เป็นวิชาที่น่าเบื่ออีกต่อไป “
“ ขอให้พี่ ม.6 โชคดี ” 💛🖤

สรุปดราม่าข้อสอบ \"วิชาสาระร่วมสมัย\" มัธยมวัดธาตุทอง สร้างสรรค์-หมิ่นเหม่

โดยได้โพสต์ภาพรายละเอียดข้อสอบ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566 วิชาสาระร่วมสมัย รหัสวิชา ส 33250 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คะแนนเต็ม 30 คะแนน

ข้อสอบฉบับนี้ ระบุรายละเอียดว่า เป็นข้อสอบแบบพูดปากเปล่า (Oral Test) ในรูปแบบ Keyword มีจำนวนทั้งสิ้น 50 ข้อ นักเรียนจะเป็นผู้สุ่มเลือกข้อสอบเอง (โดยการจับฉลาก) นักเรียนมีเวลาอธิบาย Keyword ที่นักเรียนจับฉลากได้ 3 นาที และหลังจากพูดจบ จะมีคำถามจากครูผู้สอน 2 คำถาม และมีเวลาในการตอบคำถามอีก 2 นาที ซึ่ง Keyword จะมีความเกี่ยวข้องกับข่าวสาร ข้อมูล เหตุการณ์ที่เป็นประเด็นในประเทศไทย ในสังคมโลก ที่เกิดขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ.2565-2566 และจะเป็นเรื่องราวที่ครอบคลุมเกี่ยวกับทุกสาระการเรียนรู้ในวิชาสังคมศึกษา

โดยกำหนดคีย์เวิร์ด เช่น 112, ลี้ภัยทางการเมือง, เสรีทรงผม, เสรีเครื่องแบบนักเรียน, ทลายทุนผูกขาด, AI คือ ภัยคุกคาม, นิติสงคราม, การบังคับบุคคลสูญหาย, Stop Teen Mom, ไม่นับถือศาสนา, ค่าแรงขั้นต่ำ, คนเท่ากัน หรือ คนไม่เท่ากัน, ประชาธิปไตยแบบไทยไทย, อำนาจนิยมในโรงเรียน, Digital Wallet, สังคมไร้เงินสด, สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย, Content Creator, วิกฤติภูมิอากาศ, Digital Footprint, เสียงของประชาชน, การเมืองเป็นเรื่องของใคร, Digital Wallet, สถานศึกษาปลอดภัย, ขบวนเสด็จ,การสมรสเท่าเทียม, กัญชาเสรี ฯลฯ
สรุปดราม่าข้อสอบ \"วิชาสาระร่วมสมัย\" มัธยมวัดธาตุทอง สร้างสรรค์-หมิ่นเหม่

 

ภายหลังจากที่โพสต์ดังกล่าว มีการแชร์ออกไป ก็สร้างความฮือฮา ให้กับผู้คนบนโซเชียล มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย แต่แยกออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่ชื่นชมการออกข้อสอบแนวดังกล่าว ระบุว่า แต่ละหัวข้อน่าสนใจมาก วิธีการการสอบด้วยการพูด เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนคิดอย่างสร้างสรรค์ ในการแสดงความคิด ความเห็น นอกกรอบตำราเรียน และเป็นวิธีการวัดผลที่สร้างสรรค์จริง ๆ มากกว่าการอ่านหนังสือ หรือการท่องจำไปกาในห้องสอบ 

แต่อีกด้านฝั่งหนึ่งมองว่า ข้อสอบดังกล่าว อาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เพราะบางคีย์เวิร์ดดูไม่เหมาะสม หมิ่นเหม่ ดูสร้างความเกลียดชังในสังคม โดยหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทำให้ต่อมาทางผู้โพสต์ได้ลบโพสต์ดังกล่าวออกไป 
ตัวอย่างความคิดเห็นชาวเน็ต

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในวันที่ 11 มี.ค. 67 นายทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.) พร้อมทีมงานเดินทาง ไปยังโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับข้อสอบดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า บางคีย์เวิร์ด หรือ ข้อคำถามในข้อสอบมีเนื้อหาหมิ่นเหม่ อาจกระทบต่อความมั่นคงชาติ หรือไม่ 

โดยทรงชัย ยืนยันว่า ยังไม่แจ้งความดำเนินคดีกับใคร แต่หากพบว่าข้อสอบหมิ่นเหม่ จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป และส่วนตัวไม่มั่นใจว่า ครูผู้สอนจะป้อนข้อมูลชุดใดให้กับเด็ก หากเด็กพูดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อะไรจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยก็ไม่อาจทราบได้ ทั้งยังโยงไปถึงกลุ่มการเมือง ที่มีการเคลื่อนไหวในประเด็น ม.112 
นายทรงชัย เนียมหอม ประธานกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน (ปภส.)

ทำให้ นายจิรยุทธ์ ทวีพงษ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาวัดธาตุทอง ที่เป็นตัวแทนของโรงเรียน ออกมาเจรจาทำความเข้าใจว่า เบื้องต้นทางโรงเรียนได้สั่งระงับการสอบดังกล่าวแล้ว รวมถึงสัญญาว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

รวมทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 ได้เข้าตรวจสอบโรงเรียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และทางโรงเรียนได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีสิ่งใดที่เข้าข่ายความผิดจะดำเนินการตามวินัยต่อไป

ทั้งนี้มีรายงานว่า หลังปรับความเข้าใจต่อกัน ทางกลุ่ม ปภส. ได้เดินทางต่อไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 เข้าพบสำนักนิติการ เพื่อขอข้อมูลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ได้รับการยืนยันว่า ทางสำนักงานเขตได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล และให้แนวทางควรปฏิบัติแก้ไขและปรับปรุงแล้ว 

มีรายงานอีกว่า ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ ได้ขอให้โรงเรียนแก้รูปแบบข้อสอบ ไม่ให้เป็นข้อสอบปากเปล่า และให้ตัด "คีย์เวิร์ด" บางคำออก
สรุปดราม่าข้อสอบ \"วิชาสาระร่วมสมัย\" มัธยมวัดธาตุทอง สร้างสรรค์-หมิ่นเหม่

วันที่ 12 มี.ค. 67 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้ระบุว่า  กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นแล้ว และได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) กทม.เขต 2 ตรวจสอบข้อเท็จจริง และรายงานให้ทราบภายใน 7 วัน โดยระหว่างนี้ให้สั่งยกเลิกข้อสอบวิชาสาระร่วมสมัย ของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เด็ดขาด พร้อมให้ไปทำความเข้าใจกับครูที่ออกข้อสอบวิชานี้ด้วย
ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)

ดราม่า "วิชาสาระร่วมสมัย" รร.วัดธาตุทอง ไม่ใช้ครั้งแรก

สำหรับกรณีดราม่าเกี่ยวกับข้อสอบวิชา "สาระร่วมสมัย" ของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก โดยเมื่อปี 2564 ก็เคยเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยทางโรงเรียนได้ออกข้อสอบ "วิชาสาระร่วมสมัย" สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 เป็นข้อสอบแบบอัตนัย ถามเชิงทัศนคติและการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล ทั้งคำถามทางการชุมนุม ศาสนา และการทุจริตคอร์รัปชัน โดยครูผู้สอน เป็นผู้ออกข้อสอบเอง แต่ละคำถามค่อนข้างเป็นประเด็นร้อนแรงทางสังคม ในขณะนั้น จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลาย และแตกเป็นสองฝั่งเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นล่าสุด 
ข้อสอบวิชา "สาระร่วมสมัย" ของโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง ที่เคยมีดราม่าเมื่อปี 64

ซึ่งกรณีดังกล่าว "ครูก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล" หรือ ครูบะหมี่ ผู้สอนวิชาสาระร่วมสมัย เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า 

“ครู" ต้องให้ "พื้นที่" เด็กเขาได้พูด ได้เขียน ได้แสดงความคิด ของเขาออกมา จะขาว ดำ เทา ก็เรื่องของเขา มันไม่มี "ผิด" หรือ "ถูก" สำหรับคนที่ถามหา "เฉลย" หรือ "เกณฑ์คะแนน" 
เกณฑ์คะแนนมีฮะ - เด็กตอบคำถามที่ถาม ให้เหตุผล หรือ อภิปราย ได้ครบทุกประเด็น ก็ "50 คะแนน" ฮะ...

ส่วนเฉลย "ไม่มี" ฮะ เพราะไม่ได้ตั้งธงอะไรไว้ อยากอ่าน ในสิ่งที่เด็ก ม.6 คิด หรือ แสดงทัศนคติ ก็เท่านั้นเอง...

"นักเรียน" กับ "ครู" คิดไม่เหมือนกันได้ฮะ เราถกเถียง โต้แย้ง อภิปราย กันได้ ถ้าทำแบบนั้นไม่ได้เลย "ห้องเรียน" จะเป็น "ห้องเรียน" ได้ยังไง
สรุปดราม่าข้อสอบ \"วิชาสาระร่วมสมัย\" มัธยมวัดธาตุทอง สร้างสรรค์-หมิ่นเหม่

ขอบคุณข้อมูลและภาพ : 
เฟซบุ๊ก Kaokorn Suksa-ngiamkul
เฟซบุ๊ก
ประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน
เฟซบุ๊ก นักเรียนเลว

logoline