svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ตร. เสนอ กมธ.กฎหมายฯ ถอดกฎหมายเกี่ยวกับจราจร 5 ฉบับ จากบัญชีท้าย พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย

06 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตร. เสนอความเห็นถึง กมธ.กฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร ถอดกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจราจร 5 ฉบับ ออกจากบัญชีท้าย พ.ร.บ.ปรับแบบพินัย ชี้ อุบัติเหตุทางท้องถนน ที่เกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจร ต้องใช้กฎหมายที่มีสภาพบังคับเด็ดขาด

ตามที่มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 โดยได้กำหนดให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว เป็นความผิดทางพินัย โดยความผิดทางพินัยไม่ถือเป็นโทษทางปกครองหรือทางอาญา มีวิธีการขั้นตอนในการแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน การแจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแก้ข้อกล่าวหา ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน

หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีคำสั่งปรับเป็นพินัย ให้ผู้ถูกกล่าวหาชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และไม่ให้บันทึกการกระทำความผิดทางพินัยไว้ในบันทึกประวัติอาชญากรรมฯ โดยมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติราชการแทน ผบ.ตร. ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด เรื่อง เสนอความเห็นการปฏิบัติงานตามกฎหมายปรับเป็นพินัย ถึงประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร

ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2565 มีผลการบังคับใช้กับกฎหมายตามบัญชี 1 ท้ายพระราชบัญญัติ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2566 มีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการจราจร จำนวน 5 ฉบับ ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบ และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 4 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2541 นั้น

ขอเรียนว่า นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ส่งผลทั้งในด้านของกระบวนการ ตั้งแต่พบผู้กระทำความผิด จนถึงการดำเนินคดีกับผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ประกอบกับหลักการและเหตุผลสำคัญในการปรับเปลี่ยนความผิดทางอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นความผิดทางพินัย คือ ใช้กับโทษที่มีความผิดเล็กน้อยไม่มีผลกระทบต่อสังคม แต่ปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนน มีสาเหตุเกิดจากการฝ่าผืนกฎจราจร สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน จำเป็นจะต้องใช้กฎหมายที่มีสภาพบังคับที่เด็ดขาด

จึงเห็นควรถอดพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ พระราชบัญญัติรถยนต์ฯ พระราชบัญญัติขนส่งทางบกฯ พระราชบัญญัติทางหลวงฯ และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ออกจากบัญชีท้ายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ตร. เสนอ กมธ.กฎหมายฯ ถอดกฎหมายเกี่ยวกับจราจร 5 ฉบับ จากบัญชีท้าย พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.สุริยา แป้นเกิด ผู้เขียนหนังสือ "ชีวิตพนักงานสอบสวน" แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.ปรับเป็นพินัย ไว้ในเพจ "Suriya pankerd police"

ว้าวุ่น..

พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พูดจาประสาชาวบ้าน ปรับเป็นพินัย ก็คือ การจ่ายตังค์ค่าปรับ นั้นแหละ แต่ไม่ใช่โทษทางอาญา (ม.5 ว.2) นั่นคือ เปลี่ยนโทษทางอาญาเป็นทางพินัย ในกฎหมายบางฉบับ เจ้าหน้าที่ฯจะจับกุมไม่ได้

ความผิดอาญาที่เปลี่ยนมาเป็นพินัย มีอะไรบ้าง

1.ความผิดอาญาข้อหาโทษปรับสถานเดียวไม่มีจำคุก ตามกฎหมายบัญชี 1 (ม.39) จำนวน 168  ฉบับที่แนบท้ายพรบ.นี้ เช่น พ.ร.บ.จราจรฯ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ร.บ.สถานบริการ ฯลฯ ข้อหาที่มีโทษจำคุก ยังเป็นความผิดอาญา

2.ความผิดอาญาข้อหาโทษปรับสถานเดียวไม่มีโทษจำคุก ตามกฎหมายบัญชี 2 จะเปลี่ยนเป็นพินัย ต้องตราเป็น พ.ร.ฎ.ก่อน มี 33 ฉบับ (ม.40) เช่น ป.ยาเสพติด พ.ร.บ.สรรพสามิต

3.โทษปรับทางปกครอง ตามกฎหมายบัญชี 3 จำนวน 3 ฉบับ เปลี่ยนเป็นทางพินัยคนที่มีอำนาจปรับเป็นพินัย 
ไม่เหมือนกับคนมีอำนาจปรับอาญา ต้องเป็นคนที่กฎหมายกำหนดให้ปรับเป็นพินัย หรือรมต.เจ้าของกฎหมายฉบับนั้นกำหนด

เช่น พ.ร.บ.จราจร กำหนดให้เจ้าพนักงานจราจรระดับสารวัตรขึ้นไปมีอำนาจปรับ หรือตามนิยามกฎหมาย พ.ร.บ.พินัยฯ เรียกว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ถึงจะปรับได้ ส่วนกฎหมายในอำนาจหน่วยงานอื่น ก็จะเป็นเจ้าพนักงานระดับชำนาญการขึ้นไป

เมื่อจับกุมไม่ได้ทำอย่างไร?

ถ้าตำรวจทั่วไปที่ต่ำกว่าสารวัตรพบการกระทำผิด จับกุมไม่ได้แต่แจ้งความได้ ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบได้ เช่น ดาบตำรวจ พบคนขับรถฝ่าไฟแดง ผิด พ.ร.บ.จราจรฯ ดาบจะออกใบสั่งไม่ได้ แต่แจ้งให้สารวัตรจราจร ออกใบสั่งตามแบบฟอร์มทางพินัยได้

แต่ถ้า สารวัตรจราจร พบการกระทำผิด ออกใบสั่งได้ (ม.24) แจ้งให้ไปจ่ายค่าปรับ ถ้าจ่ายก็จบ ถ้าไม่จ่าย เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวบรวมพยานหลักฐานทำเป็นหนังสือให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง ส่งไปทางไปรษณีย์ตอบรับ ให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไม่น้อยกว่า 30 วัน

ถ้าปฏิเสธหรือไม่จ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฏหมาย พยานหลักฐาน ส่งสำนวนไปพนักงานอัยการ (ไม่ต้องส่งตัว ไม่สามารถออกหมายจับได้)

ถ้าอัยการเห็นพ้องด้วย ส่งฟ้องศาล แม้ไม่มาพบอัยการ ก็ฟ้องต่อศาลได้ ศาลก็จะออกหมายเรียกให้มาศาล มาชี้แจงสู้คดี ถ้าไม่มาศาล ศาลพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ ถ้าศาลพิพากษาปรับทางพินัย แต่ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ศาลบังคับคดียึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สิน ไม่จ่ายค่าปรับห้าร้อยอาจโดนศาลยึดทรัพย์

logoline